เกรตแบริเออร์รีฟ – “ข้างนอกนั่นมีแต่สุสาน!” ศาสตราจารย์ เทอร์รี ฮิวจ์ (Terry Hughes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟอกขาวของปะการัง จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ประเทศออสเตรเลีย กล่าว “นี่มันแย่มาก”
เกรตแบริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ทอดยาวตามแนวตั้งแต่แหลมยอร์ก (Cape York) ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาถึงบันดะเบิร์ก (Bundaberk) ทางตอนใต้ โดยรวมแล้วแนวปะการังนี้ครอบคลุมพื้นที่ดูแลกว่า 345,000 ตารางกิโลเมตร
แม้จะยิ่งใหญ่และดูแข็งแกร่ง แต่ทว่าเกรตแบริเออร์รีฟนั้นมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก ตามรายงานการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์ใน 1,080 แห่งจากแนวปะการังทั้งหมด 3,000 จุด พวกเขาพบว่ามีการฟอกขาวตลอดความยาวของแนวปะการังอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกับพื้นที่ส่วนกลางและส่วนใต้ซึ่งรุนแรงเป็นพิเศษ
“เราไม่เคยเห็นความเครียดจากความร้อนที่ระดับนี้ในทั้ง 3 ภูมิภาคของแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ เลย” ลิสซา ซินด์เลอร์ (Lissa Schindler) นักชีวิวทยาทางทะเล จากสมาคมอนุรักษ์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย กล่าว
นี่นับเป็นเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่ครั้งที่ 5 ของแนวปะการังแห่งนี้แล้วในรอบ 8 ปี ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ระบุว่าเป็นเพราะอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้เกรตแบริเออร์รีฟเผชิญกับความเครียดซ้ำ ๆ จนทำให้พวกมันฟื้นตัวเองได้ยากขึ้น และครั้งนี้ก็รุนแรงยิ่งกว่า จนมีความกังวลกันว่า เราอาจจะต้องสูญเสียแนวปะการังไปจริง ๆ
“ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เราได้พบกับการฟอกขาวแทบทุกปี โดยในปี 2020 กับ 2022 และปัจจุบันคือ 2024 ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่เพียงพอที่จะให้เกิดการฟื้นตัวอย่างเหมาะสม” ศาสตราจรย์ ฮิวจ์ บอก แม้เขาจะเคยเห็นปะการังฟอกขาวมาแล้วหลายที่และหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ได้สร้างความกังวลให้เขาอย่างมาก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลีย และหน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบริเออร์รีฟ ได้ออกรายงานด่วนเพื่อแจ้งเตือนถึงปรากฏการณ์ฟอกขาวที่แนวปะการังกำลังเผชิญ ซึ่งเกิดจาก ‘ความเครียดจากความร้อนในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์’
เกรตแบริเออร์รีฟ เกิดการฟอกขาวสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ไปตรวจสอบปลายเดือนมีนาคม พวกเขาก็ไม่อาจยับยั้งความเสียใจไว้ได้
“มันแย่มาก เป็นเหตุการณ์ฟอกขาวที่แย่ที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา” ดร. เซลินา วอร์ด (Selina Ward) ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถานีวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าว เธอบอกว่าปีนี้ร้อนเป็น “ปีแห่งนรก” และเสริมว่า “ทุกแห่งมีการฟอกขาวอย่างรุนแรง และปะการังบางส่วนก็เริ่มตายไปแล้ว”
เมื่อปะการังสัมผัสกับน้ำที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง จำทำให้เกิดกระบวนการขับสาหร่ายสังเคราะห์แสงที่สร้างสีออกมา จนกลายเป็นสีขาวซีด ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘ฟอกขาว’ แต่โดยทั่วไปแล้วปะการังจะสามารถฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้เมื่อเข้าสู่ช่วงที่อุณหภูมิน้ำกลับมาเป็นปกติ
แต่น่าเศร้าที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังทำให้ ‘มหาสมุทรเดือด’ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้พวกมันไม่มีเวลาพักและฟื้นตัว ปะการังจึงถูกกดดันให้เครียดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากเหตุการณ์ยังไม่จบลง มันก็จะตายในที่สุด และพาทุกชีวิตที่พึ่งพาแนวปะการังตายตกไปตามกัน ราวกับเป็น ‘สุสาน’ ของสิ่งมีชีวิต
แต่ถึงแม้จะมีช่วงเวลาให้ฟื้นตัวได้ งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า การฟอกขาวทำให้แนวปะการังอ่อนแอลง พวกมันมีเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้น และมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การฟอกขาวไม่ได้ส่งผลดีกับแนวปะการังเลยไม่ว่าจะในด้านไหน
ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ ประเมินไว้ว่า 90% ของแนวปะการังที่เพิ่งจะแตกกิ่งก้านออกใหม่ของ เกรตแบริเออร์รีฟ นั้นตายแล้วหรือไม่ก็กำลังจะตาย ปรากฏการณ์นี้เปรียบเทียบได้กับภาพป่าที่ถูกไฟล้างผลาญ และเหมือนเมืองที่ถูกถล่มด้วยขีปนาวุธ
“ดูเหมือนถูกปูพรมด้วยระเบิด” ปีเตอร์ วิช-วิลสัน วุฒิสมาชิกกรีนส์ ซึ่งเดินทางร่วมกับฮิวจ์ในการสำรวจแนวปะการัง “เหมือนมีแขนขาที่เกลื่อนกลาดไปทุกที่”
องค์การบริหารมหาสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาว่า โลกเข้าสู่การฟอกขาวครั้งใหญ่ของแนวปะการังครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์แล้ว โดยมีการฟอกขาวที่ซีกโลกเหนือก่อน จากนั้นก็แพร่กระจายมายังซีกโลกใต้ซึ่งเป็นสถานที่ที่ เกรตแบริเออร์รีฟ ตั้งอยู่
สาเหตุนั้นมาจากอุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้นทำลายสถิติโลกอีกครั้งในช่วงปี 2023 ซึ่งในครึ่งหลังของปีนั้นน้ำมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3°C เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
“อุณหภูมิที่สูงมาก ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก และมีการฟอกขาวของปะการังในหลายประเทศ” โรเจอร์ บีเดน (Roger Beeden) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของอุทยานเกรตแบริเออร์รีฟ กล่าว
รายงานระบุว่า สามารถตรวจพบการฟอกขาวไปทั่วตั้งแต่ประเทศในแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ชายฝั่ตะวันออกของอินโดนีเซีย ไปจนถึงแนวปะการังนอกแอฟริกาตะวันออก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในเหตุการณ์ล่าสุดด้วยเช่นกัน
แนวปะการังเหล่านี้เป็นระบบนิเวศที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตทั่วโลก พวกมันเป็นแหล่งระบบนิเวศที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับมหาสมุทร จนนักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า ‘ป่าฝนแห่งท้องทะเล’ แนวปะการังที่มีความหลากหลายหล่อเลี้ยงผู้คนหลายพันล้านคนในทุกส่วนของโลกที่บริโภคปลาทะเลกว่า 100 ประเทศ
ขณะเดียวกัน สิ่งมีชีวิตในทะเลกว่าร้อยละ 25 ของมหาสมุทรทั้งหมดก็พึ่งพาแนวปะการังในการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงนึกได้ไม่ยากว่าหากแนวปะการังเกิดการฟอกขาวซ้ำ ๆ จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อโลก ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ ระบุว่าโลกจำเป็นจะต้องจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2°C ให้ได้โดยเร็ว เขาเชื่อว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูแนวปะการัง แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการดำเนินการทันที
“สัตว์จำพวกปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หรืออื่น ๆ ที่เป็นความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของแนวปะการัง ต่างล้วนขึ้นอยู่กับโครงสร้างและสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยในปะการัง” ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ กล่าว “เมื่อคุณสูญเสียปะการังไปจำนวนมาก มันจะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งที่พึ่งพาแนวปะการัง”
วิธีแก้ปัญหาปะการังฟอกขาวนั้นชัดเจน “หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในทันที” ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ กล่าวทิ้งท้าย
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nature.com/articles/d41586-024-01151-z
https://www.theguardian.com/environment/2024/may/01/great-barrier-reef-coral-bleaching-crisis
https://www.washingtonpost.com/world/2024/04/18/great-barrier-reef-coral-bleaching-australia/