จากจุดเล็ก ๆ สู่ป่าใหญ่ เชื่อมทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 19 “Urban Rewilding: ป่า – เมือง – ชีวิต”

เรียนรู้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำกลางเมืองกับค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชน

[BRANDED CONTENT FOR BANPU]

เช้าวันศุกร์กับการออกจากบ้านฝ่าฟันการจราจรที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน วันนี้มีนัดกับน้อง ๆ เยาวชนที่สวนเบญจกิติ สวนป่ากลางกรุงขนาดใหญ่ จริง ๆ ช่วงนี้ฉันแทบไม่อยากออกจากบ้านไปเผชิญกับอากาศร้อนขนาดนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เราต้องพร่ำร้องขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และหวังให้ลมเย็น ๆ ของฤดูหนาวทำงานอย่างเต็มที่ หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสภาวะโลกเดือดและสภาพอากาศที่แปรปรวน ต่างลุกขึ้นมาออกมาตรการป้องกันและรณรงค์ให้นำมาใช้อย่างเคร่งครัด

หลายภาคส่วนในไทยตื่นตัวและพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” มาสู่ปีที่ 19 ที่สนับสนุนเครือข่ายเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญและมีส่วนร่วมในการปกป้องฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อม

ฉันกึ่งเดินกึ่งวิ่งลัดเลาะอาคารของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อไปยังบริเวณสวนเบญจกิติ เมื่อไปถึงน้อง ๆ ทั้ง 50 คนจากค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19” กำลังเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กันอยู่

Urban Rewilding: ป่า – เมือง – ชีวิต

ปกติแล้วโครงการนี้จะจัดในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี แต่ในปี 2567 ได้เปลี่ยนเวลามาจัดในช่วงปลายเมษายนซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ เพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้เข้าร่วมมากขึ้น ในปีนี้มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 537 คนจาก 277 โรงเรียน 65 จังหวัด   เนื้อหาของค่ายนำเสนอเรื่องราวของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ “ป่าในเมือง” พื้นที่ที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป

คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“นอกจากเราเปลี่ยนเวลาจากช่วงเวลาเดิมแล้ว เรามองว่ากิจกรรมก็ต้องเข้มข้นขึ้นไปอีก เพราะเราเป็นค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างยาวนาน เนื้อหาสมัยก่อนที่เราเคยเรียนอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เราได้ปรึกษากับทางมหิดลว่าในแต่ละปีจะออกแบบหัวข้อการเรียนรู้และรูปแบบกิจกรรมเรื่องอะไรเพื่อให้น้อง ๆ ได้ประโยชน์จากค่ายเพาเวอร์กรีนของเรามากที่สุด ในขณะเดียวกันประชาชน คนในชุมชนก็ได้ประโยชน์ด้วย

“อย่างปัญหาเรื่อง pm 2.5 ปัญหาการเผาป่า ปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง อากาศที่ร้อนจัด ล้วนเป็นเหตุผลให้เรานำ ‘ป่าในเมือง’ มาเป็นประเด็นเรียนรู้หลักแก่น้อง ๆ เยาวชนในปีนี้ครับ เราต้องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี เชื่อมโยงป่ามาสู่เมือง เชื่อมโยงทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะถ้าเราไม่เริ่ม ณ วันนี้ อนาคตผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าอากาศจะร้อนมากกว่านี้อีกเท่าไหร่ เราจึงอยากชวนน้อง ๆ เยาวชนมาร่วมกันศึกษาแนวคิด เรียนรู้วิธีที่จะช่วยปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนสู่พื้นที่ในเขตเมืองให้มากที่สุด ซึ่งไม่ได้จํากัดเฉพาะแค่กรุงเทพมหานครเท่านั้นครับ ” คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดของค่ายเยาวชนในปีนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครซึ่งรวมจำนวนประชากรแฝงไปแล้ว ก็ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน 9 ตารางเมตรต่อคน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเอาไว้

“เราอยากให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสําคัญที่ไม่ใช่มีเพียงแค่ป่าอนุรักษ์เท่านั้น แต่พื้นที่ป่าในเมืองนั้นเราสามารถสร้างได้จากองค์ความรู้ทางวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ในพื้นที่ธรรมชาติจริง ๆ ได้เรียนรู้พื้นที่ป่าในเมืองที่เกิดจากการออกแบบขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครจริง ๆ เมื่อน้อง ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของป่าในเมืองนั้นมีมากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะกลับคืนมาครับ”    

ห้องเรียนธรรมชาติกับการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “3Rs”

ก่อนหน้าที่น้อง ๆ เยาวชนจะได้มาทำกิจกรรมที่สวนเบญจกิติ พวกเขาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งการเรียนรู้ภาคทฤษฏีที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ การเรียนรู้ในสวนสมุนไพรและห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงการเรียนรู้ป่าธรรมชาติ ในฐานะต้นกำเนิดป่าเมืองที่จังหวัดสระบุรี กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดทำให้เยาวชนเข้าใจภาพรวมของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอย่างเป็นระบบ ภายใต้การเรียนรู้แบบ 3Rs ได้แก่ Reconnect เชื่อมโยงชีวิตของคนเมืองให้ใกล้ชิดป่ามากขึ้น Restore เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และ Redesign การศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย ได้เล่าถึงแนวทางการออกแบบกิจกรรมค่ายเพาเวอร์กรีนว่า “ทางโครงการฯ ต้องการให้เยาวชนสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง ป่า – เมือง – ชีวิต ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด 3Rs เริ่มจาก

Reconnect การเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติรอบตัว อย่างกิจกรรม ‘การถอดรหัสพยากรณ์จากต้นไม้’ เราให้เด็กๆ ได้ฝึกสังเกต และเก็บข้อมูลพฤติกรรมของต้นไม้  เพื่อเข้าใจศาสตร์การพยากรณ์ฤดูกาลจากต้นไม้ในเบื้องต้น หรือกิจกรรมการ “อาบป่า (Forest Bathing)” ที่เราต้องการให้พวกเขาได้ผ่อนคลายร่างกาย และเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

Restore การเรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง ผ่านการเรียนรู้หัวข้อ “การกักเก็บคาร์บอนและประโยชน์ของป่าในเมือง (Urban Forest)” ศึกษาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในเขตเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียนรู้ “บทบาทหน้าที่ของรุกขกร (Arborist) นักศัลยกรรมต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ ที่ช่วยปกป้องความหลากหลายชีวภาพป่าในเมือง และกิจกรรม “ฟื้นคืนไม้พื้นถิ่น” แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลาย

Redesign ศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบจากสถาปนิกนักออกแบบสวนเบญจกิติที่มาให้ความรู้ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ในหัวข้อ “Benchakitti Forest Park สวนเบญจกิติ ป่าในเมืองสู่สถาปัตยกรรมระดับโลก” รวมถึงกิจกรรม “คบเด็กสร้างเมือง” ที่น้อง ๆ ได้ฝึกกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับพี่ๆ อาสมัครพนักงานบ้านปู”

เมื่อถามถึงระบบการจัดการของทรัพยากรป่าในสวนเบญจกิติ สวนป่ากลางใจเมืองที่ในวันนี้เป็นหนึ่งในสถานที่การเรียนรู้ภาคสนามที่สำคัญว่า “พื้นที่ป่าในเมือง” ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมืองได้อย่างไร

คุณสุธานีย์ แสนกล้า นักวิชาการเกษตรปฎิบัติการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

คุณสุธานีย์ แสนกล้า นักวิชาการเกษตรปฎิบัติการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้เล่าถึงความสำคัญไว้ว่า “สวนเบญจกิติพื้นที่ป่าในเมืองแห่งนี้ มีนิเวศบริการครบทั้ง 4 ด้าน คือ 1) บริการด้านการจัดหา (Provisioning Services) เช่น การจัดหาอากาศบริสุทธิ์ เป็นพื้นที่สวนป่าที่ช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ 2) บริการด้านการควบคุม (Regulating Services) ช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำ อย่างบึงขนาด 130 ไร่ในบริเวณสวนทั้งหมดมีส่วนช่วยกักเก็บน้ำไม่ให้ท่วมถนนสายสำคัญในกรุงเทพฯ และยังช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้ด้วย 3) บริการด้านการสนับสนุน (Supporting Services) เช่น การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะนกหลายร้อยสายพันธุ์ที่มาอยู่อาศัยในสวนเบญจกิติ และ 4) บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural Services) คือ การเป็นที่อยู่ของความหลากหลายชีวภาพที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ และยังเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่เชื่อมโยงคนเมืองให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน”

ในช่วงบ่ายฉันได้ร่วมลงพื้นที่กับน้อง ๆ ในกิจกรรมฐาน 2 ฐาน ฉันเดินตามน้อง ๆ กลุ่มแรกไปดู “กิจกรรมนักตรวจสอบประเมินคุณภาพแหล่งน้ำ” ซึ่งพื้นที่ในสวนเบญจกิติเอื้อต่อการเรียนรู้ในหัวข้อนี้มาก เพราะสวนถูกออกแบบระบบนิเวศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มีระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ จึงมีบทบาทในการช่วยบำบัดน้ำเสียจากคลองไผ่สิงโต ซึ่งเป็นคลองที่สกปรกติด 1 ใน 3 ของกรุงเทพฯ ผันมาเข้ากระบวนการบำบัดภายในสวน

ในระหว่างที่น้อง ๆ กำลังรับบทนักทดลองกันอยู่นั้น คุณสุธานีย์ แสนกล้า ก็ชี้ให้พวกเราดูพืชน้ำชนิดหนึ่งที่เติบโตอยู่ตรงหน้า “อย่างต้นที่เห็นอยู่ในบ่อด้านหน้า คือ ธูปฤาษี ซึ่งเป็นต้นที่ถูกจัดอยู่ในหมวดวัชพืช แต่เมื่อมาเติบโตในสวนเบญจกิติก็กลายเป็นพืชที่มีศักยภาพในการบัดน้ำเสีย ช่วยดูดของเสียทั้งวันทั้งคืน”

หลังจากที่ได้สนุกกับน้อง ๆ กับกิจกรรมฐานแรกไปสักพักหนึ่ง ฉันก็ลองแวะไปดูการเรียนรู้ของน้อง ๆ อีกฐาน นั่นคือ “ฐานฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย” น้อง ๆ ชวนฉันไปเดินสำรวจตัวเงินตัวทอง เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต และพฤติกรรมของตัวเงินตัวทองในฐานะดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ แต่ด้วยอากาศที่ค่อนข้างร้อน เจ้าวายร้ายเลยไม่ค่อยออกมาปรากฏตัวให้เห็น แต่วิทยากรก็สามารถอธิบายให้พวกเราเข้าใจถึงบทบาทของตัวเงินตัวทองที่มีต่อระบบนิเวศ และช่วยทำให้หลาย ๆ คนปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสัตว์ชนิดนี้ได้

ระหว่างที่เดินแวะทักทายสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดรอบ ๆ สวนกันอยู่ น้องเยาวชนที่เดินมาด้วยกันชี้มือเรียกให้หยุดดูว่าเขาได้เจอนกตัวหนึ่งยืนเกาะบนต้นไม้สูง น้องคนหนึ่งพยายามส่องนกผ่านกล้อง และอธิบายลักษณะของนกให้เพื่อน ๆ ฟัง เพื่อช่วยกันหาคำตอบว่านกที่เจอเป็นนกสายพันธุ์อะไร น่าทึ่งที่พวกเขาสามารถจดจำชนิดพันธุ์ของนกได้มากมาย ซึ่งทำให้การเดินสำรวจเพลิดเพลินขึ้น ไม่ว่าจะพบเห็นอะไร ก็นำมาเป็นโจทย์ให้เพื่อน ๆ ได้ร่วมทายกันตลอดเส้นทาง

ถึงเวลาของกิจกรรมที่ฉันอยากเข้าร่วมมานานแล้ว เรียกว่าเป็นไฮไลท์สำหรับฉันเลย ก็คือ “กิจกรรมการอาบป่า (Forest Bathing)” คุณเจนนี่ พีชญา กองจำปา ไกด์อาบป่าผู้ทำหน้าที่เปิดประตูพาให้เราได้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ เธอเล่าให้ฟังว่า “การอาบป่า เป็น Forest Therapy คือการพาตัวเองเข้าไปอยู่กับธรรมชาติ ที่ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย แต่อยู่กับธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือผัสสะทั้ง 5  ตา การมองเห็น หู การได้ยิน จมูก การได้กลิ่น ลิ้น การลิ้มรส และกาย การสัมผัส”

ขั้นตอนของการนำอาบป่าของคุณเจนนี่ คล้ายดั่งพิธีกรรมทางจิตวิญญาณในความคิดแรกของฉัน แต่เมื่อได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ประโยชน์ของการอาบป่า Forest Therapy มีผลลัพธ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติบำบัดทำให้เราปลดเปลื้องความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ ลดความฉุนเฉียวและความเครียด คุณเจนนี่ยังบอกอีกว่า ประสบการณ์การอาบป่าของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน แต่หากได้ลองอาบป่าดูสักครั้ง เงี่ยหูฟังเสียงของธรรมชาติดูสักหน เราอาจลืมชีวิตอันยุ่งเหยิง และกลับมาใกล้ชิดธรรมชาติได้อีกครั้ง

จากเยาวชน 1 คน จุดเล็ก ๆ เชื่อมทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ

เพราะคุ้นหน้าสตาฟบางคน ฉันจึงตัดสินใจสอบถามว่า เขาคือคนที่ฉันเคยสัมภาษณ์ในค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 เมื่อปีที่แล้วหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็ทำให้ใจฟู สต๊าฟส่วนหนึ่งของค่ายฯ คือน้อง ๆ เยาวชนศิษย์เก่าค่ายเพาเวอร์กรีนที่เคยมาร่วมกิจกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงหลายปีก่อนหน้า พวกเขาชวนกันมาเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงคอยดูแลน้อง ๆ รุ่นที่ 19  มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ช่วยสานสัมพันธ์ให้น้อง ๆ ภายในค่ายฯ เป็นผู้ดูแล ตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยดูแลน้อง ๆ อย่างใกล้ชิดตลอดทั้ง 7 วัน สิ่งนี้ทำให้ฉันเห็นถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีนที่พวกเขาพยายามส่งต่อความรู้และความผูกพันระหว่างกันจากรุ่นสู่รุ่น

หนูแหวน – พณณกร ออมสิน จากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี น้องคนที่ส่องนกอย่างสนุกสนานเล่าให้ฟังว่า เธออยากเข้าร่วมค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีนตั้งแต่ครั้งที่ผ่านมาแล้ว

“รู้จักโครงการเพาเวอร์กรีนจากคุณครูตั้งแต่ครั้งที่ 18 แต่ตอนนั้นไม่ได้รับคัดเลือก พอครั้งนี้โจทย์คือ ‘คุณคิดว่าป่าในเมืองมีความหลากหลายต่อระบบนิเวศอย่างไร และในฐานะแกนนำเยาวชนจะมีแนวคิดหรือวิธีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร’ หนูก็แบ่งคำถามและหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ทำเป็นวิดีโอส่งเข้าคัดเลือกค่ะ พอถึงวันประกาศผล มีชื่อถูกคัดเลือกเข้าร่วมค่ายเป็นคนที่ 50 พอดีก็ดีใจมาก เก็บกระเป๋ารอเลยค่ะ การมาค่ายเพาเวอร์กรีนครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าที่เราปลูกป่ามาทั้งหมด เราปลูกป่าแบบผิดวิธีมาตลอด ซึ่งข้อมูลเรื่องต่าง ๆ ที่เราเคยรู้แบบผิด ๆ ตอนนี้ได้รู้อย่างถูกต้องแล้ว และสิ่งที่หนูจะทำอย่างแรกหลังจบค่ายฯ คือถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับให้เพื่อนในห้อง ในโรงเรียนได้ทำความเข้าใจและชวนกันมาลงมือทําเพื่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนค่ะ” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

โชกุน – ชนพล สร้อยประเสริฐ จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักธรรมชาติ ถ่ายทอดให้ฟังอย่างกระตือรือร้นถึงสิ่งที่เขาคิดอยู่ในใจ

“ย้อนกลับไปช่วง ม. 1 คุณครูที่ปรึกษาซึ่งตอนนี้เกษียณแล้วนะครับ เป็นครูที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและชอบดูนก ครูชวนผมและเพื่อน ๆ ไปกัน ตอนนั้นผมได้เจอนกตัวหนึ่ง นกตัวนี้สวย แต่ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรครับ แต่หลังจากนั้นเวลาเรานั่งรถพอเห็นนกแล้วรู้จักมันก็สนุก ซึมซับมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นความชอบนกครับ หลังจากนั้นก็ขยายต่อไปเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมมีความคิดว่าจะทำยังไงให้นกอยู่คู่กับบ้านเมืองเรา เราก็ต้องช่วยกันรักษาที่อยู่ของเขาสิ ผมไม่หวังอะไรมากครับ ผมแค่คิดว่าเราอยากให้ป่ายังอยู่ อยากให้สิ่งมีชีวิตไม่สูญพันธุ์” โชกุนยังเล่าต่ออีกว่าแม้เขาจะศึกษาและทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมกับกลุ่มในชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อได้มาร่วมทำกิจกรรมในค่ายเพาเวอร์กรีนทำให้เขาได้รับสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยรู้อีกมากด้วยเช่นกัน

กิจกรรมค่ายเพาเวอร์กรีนที่ฉันได้เข้าร่วมมีเนื้อหาการเรียนรู้ที่เข้มข้นเสมอ เมื่อมองเห็นรอยยิ้มของน้อง ๆ ที่ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ความรู้ใหม่ ๆ ฉันก็เชื่อว่ากิจกรรมในวันนี้ได้สร้างประสบการณ์ชีวิตที่มากไปด้วยคุณค่า มอบความสุข ความสนุก เชื่อมโยงให้น้อง ๆ เยาวชนทุกคน จาก 1 คน เชื่อมโยงทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ และส่งต่อความสำคัญของป่าในเมืองต่อไปได้

เรื่อง วนิดา แก่นจันทร์

ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส และภาพจาก BANPU


อ่านเพิ่มเติม Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.