“ตูวาลู” กับการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ของประเทศที่กำลังจมหายจากมหาสมุทร

ตูวาลู กำลังจมหายไปท่ามกลางคลื่นมหาสมุทรที่กำลังสูงขึ้น ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ตั้งอยู่แนวหน้าของผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งกำลังพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรักษาดินแดนและอัตลักษณ์ของตนไว้ ไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

เมื่อ ทัวคิอิ คิทาระ (Taukiei Kitara) เกิดมา พ่อแม่ของเขาได้ตัดสายสะดือออกเป็น 2 ชิ้นตามธรรมเนียมของประเทศตูวาลูเป็นบ้านของเกิดของเขา โดยชิ้นหนึ่งอยู่ที่ต้นมะพร้าวซึ่งห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 เมตร และอีกชิ้นหนึ่งปล่อยลงทะเล

ตลอดช่วงวัยเด็กของคิทาระ เขาได้กลับมาที่ต้นไม้เพื่อตรวจสอบสภาพของมันและคอยปัดเศษใบที่ร่วงหล่นออกไป แต่ถึงแม้จะเป็นเด็ก เขาก็ตระหนักได้ว่าแนวชายฝั่งนั้นเข้าใกล้สายสะดือของเขามามากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับทะเลกำลังหิวโหย

ตูวาลู เป็นประเทศเกาะที่มีประชากรน้อยกว่า 12,000 คน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮาวายและออสเตรเลีย โดยมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่น้อยกว่า 3 เมตร ซึ่งทำให้มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นพิเศษ

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 นี้กว่าร้อยละ 50 ของฟูนะฟุตี ซึ่งเป้นเมืองหลวงของประเทศที่มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่จะถูกกระแสน้ำกลืนกิน ทำให้หลายคนมองว่าตูวาลูเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ จะต้องเผชิญในปีต่อ ๆ ไป

นักวิจัยคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ผู้คนกว่า 216 ล้านคนอาจต้องถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านของพวกเขาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่นเดียวกันนี้ ตำแหน่งที่ไม่มั่นคงของตูวาลูอาจบังคับให้ต้องระลึกถึงคำถามที่มีอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ หากไม่มีที่ดินอีกต่อไป?

คำว่าที่ดินในภาษาตูวาลูนั้นเรียกว่า ‘เฟนัว’ (fenua) ซึ่งหมายถึงทั้งที่ดินที่เป็นกายภาพ และความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ฝังรากอยู่ในอัตลักษณ์ของตน ในตูวาลู ที่ดินเป็นของชุมชนและถูกส่งต่อผ่านสายตระกูล ชาวตูวาลูฝังศพบรรพบุรุษของตนไว้ในสุสานข้างประตูหน้าบ้าน ดินแดนแห่งนี้จึงถือเป็นญาติ เป็นประวัติศาสตร์ และประเพณี ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการยากหรือไม่ที่อาจจะต้องปล่อยวาง

“เราไม่สามารถถือมุมมองที่ว่าการอพยพย้ายถิ่นนั้น (เป็นสิ่งที่ต้องทำ)” มาอินา ทาเลีย (Maina Talia) รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของตูวาลูบอกกับ เนชั่นนอล จีโอกราฟฟิก “ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราตื่นขึ้นมาในตอนเช้าและประชากรครึ่งหนึ่งถูกมหาสมุทรกวาดล้างไป เราควรจะโทษใครดีล่ะ?”

ภายใต้เงาของภัยคุกคามอันใหญ่หลวงนี้ มีคำถามส่วนตัวสำหรับชาวตูวาลูเกิดขึ้น: ‘ฉันควรอยู่? หรือฉันควรไป?’ ชาวตูวาลูบางคนกำลังพิจารณาที่จะออกไปเพื่อมองหาความปลอดภัยเพิ่มเติม แต่คนสวนใหญ่ที่ได้พูดคุยด้วย วางแผนที่อยู่ต่อไป

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แท้จริงกำลังส่งผลกระทบต่อเรา แต่เราต้องการที่จะอยู่ต่อ” เฟนูอาตาโป เมซาโก (Fenuatapo Mesako) เจ้าหน้าที่โครงการของสมาคมสุขภาพครอบครัวตูวาลู กล่าว “เราไม่อยากเป็นชาวตูวาลูในประเทศอื่น เราอยากเป็นชาวตูวาลูในตูวาลู”

คู่รักบนรถมอเตอร์ไซค์แล่นผ่านจุดที่แคบที่สุดของเกาะฟองกาฟาเลในอะทอลล์ฟูนะฟูตี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเกาะตูวาลู มหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ทางซ้าย และทะเลสาบอยู่ทางขวา ประเทศเกาะปะการังแห่งนี้ได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในเกาะที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก PHOTOGRAPH BY SEAN GALLAGHER
มุมมองทางอากาศทางตอนใต้สุดของเกาะฟูนะฟูตีในตูวาลู ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นกำลังรุกล้ำบริเวณชายฝั่งทั่วโลก ประเทศหมู่เกาะอย่างตูวาลูมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศอาจจมอยู่ใต้น้ำได้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ PHOTOGRAPH BY KALOLAINE FAINU
เด็กๆ ขี่จักรยานบนลานบินนานาชาติ เมื่อไม่ได้ใช้งาน ลานบินก็เป็นที่ตั้งของกิจกรรมของชุมชน PHOTOGRAPH BY KALOLAINE FAINU

แนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน อะทอลล์ฟูนะฟูตี จะดูเหมือนพระจันทร์เสี้ยวสีเขียวบนท้องฟ้าสีครามอันกว้างใหญ่

โดยรวมแล้วเกาะทั้ง 9 เป็นเกาะที่ประกอบกันเป็นตูวาลูซึ่งมีเนื้อที่เพียงประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 60 ส่วนของกรุงเทพมหานครเท่านั้น นอกเหนือจากการเป็นแนวหน้าของวิกฤตสภาพอากาศแล้ว ตูวาลูยังมีชื่อเสียงจากอีกสองสิ่งคือ หนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีรายได้ใหญ่เป็นอันดับสองจากการขายสิทธิ์ในดินแดนประมงของตน

ไม่กี่นาทีก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดที่สนามบินนานาชาติฟูนะฟูตี เสียงไซเรนในเมืองก็ดังขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเคลียร์รันเวย์ ด้วยดินแดนที่มีความพิเศษและมีเพียง 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ลานบินดังกล่าวจึงมีขนาดเป็น 2 เท่าของทางหลวงหลายเลน อีกทั้งยังเป็นสนามวอลเลย์บอล และจุดหมายปลายทางสำหรับการปิกนิก ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฝังแน่นอยู่ในเกือบทุกด้านของชีวิตประจำวัน น้ำทะเลแทรกซึมเข้าไปในดินของเกาะ และทำให้ยากต่อการปลูกอาหารหลักที่ชาวตูวาลูรับประทานอย่างเช่น เผือก สาเก หรือมะพร้าว กระแสน้ำได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันพัดจากมหาสมุทรทั่วเกาะเดือนละครั้ง ท่วมสนามบินและบ้านเรือนของผู้คน

“ตอนที่ฉันยังเด็ก ชีวิตแตกต่างออกไปมากกว่านี้” เมนิเมย เมลตัน (Menimei Melton) ชาวตูวาลูวัย 25 ปีบอก “ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อที่ยังเป็นเด็กเล็ก แต่ฉันก็ไม่เห็นจริง ๆ ว่ามันส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรจนกระทั่งโตขึ้น”

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะช่วยยกระดับชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก แต่คนในพื้นที่ต้องการแน่ใจว่าชะตากรรมของตูวาลูจะไม่ได้ถูกกำหนดโดยเชื่อมโยงกับวิกฤตที่พวกเขาก่อขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามรายงานของ ‘Climate Watch’ ตูวาลู เป็นหนึ่งใน 25 ประเทศที่มีรอยเท้าคาร์บอนต่อหัวเล็กที่สุดในโลก

“สำหรับผม ผมรู้สึกว่าข่าวนี้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น” อาเฟล ฟาเลมา ปิตา (Afelle Falema Pita) อดีตเอกอัครราชทูตตูวาลูประจำสหประชาชาติ ซึ่งย้ายจากชีวิตในนิวยอร์กมาเพื่อเปิดรีสอร์ทเชิงนิเวศแบบเรียบง่ายกับภรรยาของเขา กล่าว “เราสามารถจัดการเวิร์กช็อปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ถ้าเราใช้เวลา 365 วันต่อปีเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เราก็จะไม่ได้ดูแลชีวิตของเราที่นี่”

มันเป็นความสมดุลที่ซับซ้อน ในด้านหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่อยู่ห่างไกลจากตูวาลู มันกำลังเรียกร้องความสนใจในตอนนี้ และตูวาลูก็ยังมีอะไรที่ต้องจัดการมากกว่ากระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

หากมีโอกาสได้เดินผ่านถนนของฟูนะฟูตี ท่วงทำนองของเพลงสวดในโบสถ์ได้ผสมผสานเข้ากับเสียงของครอบครัวที่กำลังร้องคาราโอเกะอยู่ คุณอาจสะดุดกับผู้เฒ่า 40 คนที่กำลังเล่นบิงโกใต้หลังคามุงจากในห้องประชุมของชุมชน หรือกลุ่ม 20 คนที่กำลังฝึกซ้อมการเต้นรำแบบดดั้งเดิมของตูวาลู โดยนักเต้นจะเต้นตามจังหวะที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าพวกเขาจะเอาชนะเสียงหัวเราได้

ในดูวาลู ค่านิยมไม่ได้เป็นเพียงแค่การพูดถึงเท่านั้น แต่ยังมีชีวิตอยู่อีกด้วย แนวคิดเรื่อง ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ หรือ ฟาเลพพิลี (Falepili) ได้แสดงออกมาให้เห็นในหลายวิธี ตั้งแต่การไม่มีอาชญากรรม การไม่มีคนไร้บ้าน ไปจนถึงการไม่ขาดแคลนอาหาร และบ่อยครั้งก็ไปถึงยนโยบายต่างประเทศที่ตูวาลูไม่สามารถขนส่งสิ่งต่าง ๆ ไปยังทวีปอื่นได้โดยง่าย

ทำตัวเหมือนเกาะ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตูวาลูและออสเตรเลียได้ลงนามในสนธิสัญญาทวิภาคีด้านสภาพอากาศและการอพยพย้ายถิ่นชื่อ ‘สนธิสัญญาฟาเลพิลี’ ซึ่งเสนอเงิน 11 ล้านดอลลาร์ (ราว 400 ล้านบาท)ให้แก่ตูวาลู เพื่อใช้สำหรับโครงการฟื้นฟูชายฝั่งและวีซ่าสำหรับชาวตูวาลู 280 คนให้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียแต่ละปี

ชาวเมืองฟูนะฟูตีมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับข้อตกลงนี้บางคนรู้สึกว่านี่เป็นหนทางที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่อาจต้องการย้ายไป ทว่าคนอื่น ๆ กังวลว่าสิ่งนี้อาจกำลังรุกล้ำอธิปไตยของตูวาลู

“สิ่งที่ดีที่สุดที่ออสเตรเลียสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนประเทศอย่างตูวาลู คือการหยุดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล” ริชาร์ด กอร์กรุน (Richard Gorkun) กรรมการบริหารของ ‘Tuvalu Climate Action Network’ กล่าว

รัฐบาลกำลังพยายามทำให้แน่ใจว่าตูวาลูสามารถรักษาอำนาจอธิปไตยและสิทธิในดินแดนประมงของตนได้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้หมู่เกาะนี้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ก็ตาม เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐสภาพของตูวาลูมีมติเป็นเอกฉันท์ในการผ่านการแก้ไขเพื่อคงสถานะรัฐของตนเองไว้ตลอดไป ซึ่งขณะนี้กำลังของให้ประเทศอื่น ๆ ยอมรับอย่างเป็นทางการ

ประเทศนี้ยังอยู่ระหว่างการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการ อย่างแรกคือการถมที่ดิน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน ‘Green Climate Fund’ ของสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขนส่งทรายจากกลางมหาสมุทรเพื่อสร้างพื้นที่คุ้มครองขนาด 5 ตารางกิโลเมตรบนฟูนะฟูตี

โครงการที่สองคือ โครงการ ‘Future Now’ หรือการ ‘โยกย้ายทางดิจิทัล’ ของบริการภาครัฐและสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ไปยัง ‘เมต้าเวิร์ส’ ซึ่งจะช่วยให้ตูวาลูสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรทของตนเองต่อไปได้แม้ว่าที่ดินจะสิ้นสุดลงก็ตาม

ตูวาลูพยายามอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ค่านิยมซึ่งมุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนออกจากความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น เมื่อเหตุการณ์ไฟป่าลุกลามไปทั่วออสเตรเลียในปี 2020 รัฐบาลตูวาลูได้บริจาคเงินราว 10 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนความพยายามในการบรรเทาทุกข์

แม้ว่าเวลานั้นจะเป็นเงินที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของ GDP ซึ่งมากกว่าที่ออสเตรเลียเคยมอบให้กับตูวาลูก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบางส่วนคัดค้า พวกเขาคิดว่าเงิน 10 ล้านบาทนี้เพียงหยดน้ำเล็ก ๆ หยดหนึ่งในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ของประเทศอย่างออสเตรเลีย แล้วมันจะสร้างความแตกต่างอะไรได้?

แต่จำนวนเงินนั้นไม่ใช่ความตั้งใจแรก “หากเราไม่สามารถเชื่อมโยงวิธีการปฏิบัติของเราในรัฐบาล กับวิธีการใช้ชีวิตในระดับชุมชนได้” ไซมอน โคเฟ (Simon Kofe) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของตูวาลู กล่าว “ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ทำตัวเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น”

ดังนั้นในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศอาจมองตูวาลูด้วยความเห็นใจ เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น บางทีอาจเป็นชาวตูวาลูเองที่สงสารประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วซึ่งยังคงแสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุและการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้สูญเสียการมองเห็นความสามัคคีที่จะทำร่วมกันได้ เพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ

“แต่ละประเทศที่คิดถึงผลประโยชน์ของตนเอง คือสิ่งที่ทำให้เราตกอยู่ในความยุ่งเหยิงนี้” โคเฟ กล่าว “เราต้องหยุดทำตัวราวกับว่าเราทุกคนเป็นเกาะ”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : PHOTOGRAPH BY SEAN GALLAGHER on National Geographic 

ที่มา : National Geographic


อ่านเพิ่มเติม : หรือสกอตแลนด์ จะเป็นชาติแรกในโลก ที่ ฟื้นคืนป่า -ธรรมชาติสำเร็จ?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.