เตรียมสิ้นยุคน้ำแข็ง พบอุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงทะลุสถิติ อาจเปลี่ยนโลกคล้ายดาวศุกร์ในอนาคต

22 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลายเป็นวันที่ ‘ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์’ ของโลก หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในศตวรรษหน้า โลกจะกลายเป็นสถานที่เกินขีดจำกัดที่เราจะทนต่อความร้อนได้ และเดินทางไปสู่สภาพแวดล้อมที่คล้ายดาวศุกร์

ขณะที่ประเทศไทยกำลังฝนตกอย่างชุ่มฉ่ำในหลายพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งของโลกกลับถูกปกคลุมด้วยคลื่นความร้อนซึ่งทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2024 มีรายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกขึ้นไปแตะระดับ 62.87°F หรือ 17.15°C (อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 60°F หรือราว 15.56°) ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ขณะเดียวกันวันที่ร้อนเป็นอันดับสองก็คือวัน 21 กรกฏาคมก่อนหน้าตามข้อมูลเบื้องต้นที่วัดโดย องค์กรวิจัยสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของยุโรป

องค์กรของสหประชาชาติได้เริ่มวัดอุณหภูมิของโลกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940 และการศึกษาวงปีของต้นไม้กับแกนน้ำแข็งก็ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิกำลังเพิ่งสูงขึ้นจนถึงระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหลายพันปี แม้โลกจะเคยพบกับวันที่อุ่นกว่านี้มาแล้ว และในอนาคตโลกก็จะมีวันที่ร้อนกว่านี้อีก

นี่เป็นปราฏการณ์ที่เรียกกันว่า ‘ช่วงเวลาแห่งเรือนกระจก’ เมื่อบรรยากาศถูกอัดแน่นไปด้วยก๊าซเรือนกระจกเช่นคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน โลกก็ร้อนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันพร้อมกับสร้างคลื่นความร้อนที่เลวร้ายไม่แพ้กัน และแม้ว่าการปล่อยคาร์บอนโดยมนุษย์จะยังไม่ทำเราเข้าสู่ช่วงเวลาดังกล่าว

แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตอนนี้ กำลังทำให้คลื่นความร้อนโจมตีบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ โลกจะร้อนระอุและไม่อาจอยู่อาศัยได้เหมือนดาวศุกร์อีกต่อไป ซึ่งอุณหภูมิที่นั่นร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้ และมันกำลังเดินทางไปสู่จุดนั้นพร้อมกับท้าทายขีดจำกัดความอดทนต่อความร้อนของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดศตวรรษนี้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าท้ายที่สุดแล้วโลกอาจกลายเป็นเหมือนดาวศุกร์จริง ๆ

อดีตอันร้อนระอุ

ปัจจุบันโลกอยู่ในสภาพอากาศที่นักธรณีเรียกกันว่า ‘ยุคน้ำแข็ง’ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกเหมือนแบบนั้นก็ตาม มันเป็นช่วงเวลาที่ ‘เย็นพอ’ ที่จะรองรับวัฏจักรของยุคน้ำแข็ง โดยแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่บนทวีปจะขึ้น ๆ ลง ๆ บริเวณใกล้ขั้วโลก (ขณะนี้แผ่นน้ำแข็งในซีกโลกเหนือได้ถอยร่นไปที่กรีนแลนด์แล้ว)

หากต้องการดูว่าโลกที่อบอุ่นกว่านี้มากจะเป็นอย่างไร เราอาจต้องย้อนกลับไปอย่างน้อย 50 ล้านปีซึ่งอยู่ในช่วงยุคอีโอซีนตอนต้น (Eocene)

“นั่นเป็นสภาพอากาศอบอุ่นครั้งสุดท้ายที่โลกเคยพบเจอ” เจสสิกา เทียร์นีย์ (Jessica Tierney) นักภูมิอากาศวิทยาโบราณแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าว

ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 60°F หรือราว 15.56°C แต่ในยุคอีโอซีนตอนต้นนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70°F หรือ 21.11°C ซึ่งทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบันมาก ขั้วโลกไม่มีน้ำแข็ง มหาสมุทรในเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงราวกับน้ำพุร้อนที่ 35°C โดยมีต้นปาล์มริมชายหาดของเราและจระเข้จะอาศัยอยู่ตามแถบอาร์กติกปัจจุบัน 

และหากย้อนกลับไปไกลยิ่งกว่านั้นอีกหลายล้านปี ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงสุดในสมัยพาลีโอซีน-อีโอซีน (Paleocene-Eocene) สิ่งต่าง ๆ ยิ่งอบอุ่นกว่านี้ โดยช่วงอุณหภูมิร้อนจัดรุนแรงที่มากขึ้นเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ในช่วงเวลาทางธรณีวิทยา ในยุคครีเทเชียสเมื่อ 92 ล้านปีก่อน อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นถึง 29.44°C และเป็นอยู่อย่างนั้นหลายล้านปี

มันทำให้ป่าฝนเขตร้อนเติบโตใกล้ขั้วโลกใต้ได้อย่างสบาย ๆ และเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อนนั้นที่อยู่ในช่วงเส้นแบ่งยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก (Permian and Triassic) ก็ถูกแบ่งโดยเหตุการณ์โลกร้อนรุนแรง ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 32.22°C ตามข้อมูลจากสถาบันสมิธโซเนียน

“ยิ่งสภาพอากาศโดยเฉลี่ยอุ่นขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งพบเห็นเหตุการณ์ความร้อนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น” เทียร์นีย์ กล่าว พร้อมเสริมว่าในวันที่อากาศร้อนที่สุดในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด “สถานที่อย่างทะเลทรายก็จะร้อนอย่างไม่น่าเชื่อ”

อนาคตที่อบอุ่น

ดูเหมือนว่ายุคแห่งเรือนกระจกของโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดนี้จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ยุคนั้นมีก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก่อน ซึ่งอาจจะเกิดจากภูเขาไฟปะทุที่พ่นคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทนจากใต้พื้นผิว

ขณะเดียวกันมนุษย์ก็กำลังทำเรื่องที่คล้ายกันกับดาวเคราะห์ในยุคปัจจุบันด้วยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล การกระทำของเราทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีกมาก

“โดยปกติแล้ว เมื่อเราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ(ในอดีต) มันมักเกิดจากกลไกที่คล้ายกับที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน” คริสติน เบิร์กมันน์ (Kristin Bergmann) นักวิทยาศาสตร์ด้านโลก จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) กล่าว “ก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกของเราอบอุ่นขึ้นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

เช่นเดียวกับในอดีต อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง และวันที่มีอากาศร้อนจัดก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการศึกษาหลายชิ้นได้สรุปให้เห็นว่าอุณหภูมิที่ทำลายสถิติในช่วงที่ผ่านมานี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากอิทธิพลของเรา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การคาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นแค่ไหนเมื่อเราปล่อยคาร์บอนเข้าไปในชั้นบรรยากาศนั้นคงทำได้ยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ที่คาดเดาไม่ได้ “การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจากคลื่นความร้อนในอนาคต ขึ้นอยู่กับว่าเราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปมากเพียงใดในอนาคต” ไมเคิล เวห์เนอร์ (Michael Wehner) นักวิจัยสภาพอากาศสุดขั้วจากห้องปฏิบัติการณ์แห่งชาติ ลอว์เรนซ์เบิร์กเลย์ กล่าว

งานวิจัยล่าสุดของเวห์เนอร์และเพื่อนร่วมงานของเขาได้สร้างสถานการณ์ที่พอจะทำให้เราคาดเดาได้ว่าคลื่นความร้อนในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากเรายังไม่ลดการปล่อยคาร์บอนภายในสิ้นศตวรรษนี้ มันแสดงให้เห็นว่าคลื่นความร้อนอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 1°C จากอุณหภูมิในปัจจุบัน

ชะตากรรมที่คล้ายกับดาวศุกร์ 

หากคุณเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งใด ๆ คุณอาจจะชี้ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับสิ่งที่โลกจะประสบในอนาคตอันไกลโพ้น นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ได้ทำนายไว้นานแล้วว่า เมื่อดวงอาทิตย์อายุมากขึ้น และสว่างขึ้น พื้นผิวโลกจะร้อนขึ้นถึงจุดที่มหาสมุทรของเราจะกลายเป็นน้ำเดือด

ไอน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์รุนแรงจะพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้วก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่รุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า โลกของเราก็จะอาจกลายเป็นโลกที่คล้ายกับเพื่อนบ้านของเราอย่างดาวศุกร์ได้ ซึ่งมีชั้นบรรยากาศที่หนาทึบ เป็นพิษ และมีกำมะถัน โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ประมาณ 482.22°C

“มีการสันนิษฐานว่าเมื่อดวงอาทิตย์ยังคงสว่างขึ้น สิ่งเดียวกันนี้ก็จะเกิดขึ้นบนโลก” พอล ไบรน์ (Paul Byrne) นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าว และเสริมว่าหลายพันล้านปีก่อน เพื่อนบ้านของเราเองก็อาจมีสภาพอากาศและมหาสมุทรที่ดีเหมือนกัน

สถานการณ์บนดาวศุกร์อาจไม่เกี่ยวข้องกับแสงแดดเลยก็ได้ ผลลัพธ์จากแบบจำลองล่าสุดชี้ให้เห็นว่าอาจมีสาเหตุมาจากการปะทุของภูเขาไฟหลายครั้ง “ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” ไบรน์ กล่าว

แต่สถานการณ์ทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ทำให้โลกดับลง หรือภูเขาไฟระเบิด ต่างเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราในการสรางผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก

“ผมไม่รู้ว่าอุณหภูมิจะไปอยู่ที่475 องศาเซลเซียสหรือไม่” ไบรน์ กล่าวโดยอ้างถึงอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวของดาวศุกร์ แต่หากโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบดาวศุกร์ “โลกก็จะร้อนจัดมาก”

และถึงแม้ว่าดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราจะไม่รอดพ้นชะตากรรมแบบดาวศุกร์ และก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกไฟเผาในอีกประมาณ 5 พันล้านปีข้างหน้าได้ซึ่งในเวลานั้นดวงอาทิตย์จะขายตัวเป็นดาวยักษ์แดง แล้วทำให้โลกถูกเผาไหม้ด้วยเปลวเพลิง แต่ก็มีบางสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบันนั่นคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“คนส่วนใหญ่มองว่าดวงอาทิตย์จะกลืนโลก” ไบรน์ กล่าว

กรีนแลนด์ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งจำนวนมหาศาล แต่น้ำแข็งกำลังละลายเร็วกว่าที่คิดถึงสี่เท่า บ่งชี้ว่ากรีนแลนด์อาจกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่เป็นอันตราย โดยมีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : กรีนแลนด์ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งจำนวนมหาศาล แต่น้ำแข็งกำลังละลายเร็วกว่าที่คิดถึงสี่เท่า บ่งชี้ว่ากรีนแลนด์อาจกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่เป็นอันตราย โดยมีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก PHOTOGRAPH BY MICHAEL MELFORD, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : ปารีสทุ่มงบมหาศาลบำบัดแม่น้ำแซน ไม่เพียงเพื่อโอลิมปิก 2024 แต่คืนชีวิตและลมหายใจแก่แม่น้ำอันเป็นที่รัก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.