ผู้ปกป้องแนวปะการัง การอนุรักษ์แนวทางใหม่ของชาวฮาโตโฮเป

การอนุรักษ์แนวทางใหม่ของชาวฮาโตโฮเป มุ่งสร้างหลักประกันว่า ความอุดมสมบูรณ์ของ อะทอลล์แห่งหนึ่งจะคงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

อากาศสดใสตอนเช้าวันหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020  ณ ชายขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มเกาะปาเลา  เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลในโครงการจัดการทรัพยากรแนวปะการังเฮเลนกำลังเริ่มงานประจำวัน ดูแลความเรียบร้อยรอบสถานีและตรวจสอบปืนฉมวกสำหรับใช้จับปลาตอนบ่าย  พวกเขาได้ยินเสียงเครื่องยนต์  และไม่นานก็สังเกตเห็นเรือไม่ทราบฝ่าย ลำหนึ่ง  นี่ต้องเป็นปัญหาแน่ๆ   พวกเขาน่าจะต้องได้รับการแจ้งล่วงหน้าแล้ว หากมีเรือถูกกฎหมายเข้ามายังโฮต์ซารีฮีซึ่งเป็นชื่อที่ชาวฮาโตโฮเป ผู้พิทักษ์ดั้งเดิมของพื้นที่แห่งนี้ เรียกแนวปะการังเฮเลน

“เรือลำนั้นขนของเข้ามาเพียบเลยค่ะ” เพตรา เท็กเกิล เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ หรือที่ทีมงานโครงการเรียกตนเองว่า “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเล” เท้าความหลังแม่ของเธอมาจากเกาะฮาโตโฮเปที่อยู่ห่างจากแนวปะการังแห่งนี้ไปทางตะวันตก 65 กิโลเมตร  เรือลำนี้เป็นหนึ่งในกองเรือยนต์ขนาดเล็กหกลำจากเรือใหญ่สัญชาติจีนที่ลักลอบเข้ามาจับปลิงทะเล  ซึ่งอาจมีสนนราคาถึงกิโลกรัมละ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐในฮ่องกง

เมื่อเรือลำหนึ่งแล่นเข้ามายังสถานีผู้พิทักษ์ทะเลบนเกาะเฮเลน ซึ่งเป็นสันดอนทรายทางเหนือสุดของแนวปะการัง ทีมเจ้าหน้าที่สื่อสารด้วยสัญญาณมือให้ชาวประมงผิดกฎหมายกลับไปยังเรือใหญ่ของพวกเขาและรอคำสั่งต่อไป  “ฉันกลัวค่ะ” เท็กเกิลบอก  “นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันเผชิญหน้ากับพวกประมงเถื่อน”  เธอถอยฉากออกมา แล้วโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมหาผู้จัดการโครงการในโครอร์ เมืองใหญ่ที่สุดของปาเลา  ความช่วยเหลือกำลังมา แต่การส่งเรือตำรวจน้ำข้ามน่านน้ำเปิดของมหาสมุทรเป็นระยะทาง 580 กิโลเมตรต้องใช้เวลาสองสามวัน  เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเรือต่างชาติเพื่อความปลอดภัยของตนเองต้องหาวิธีถ่วงเวลาพวกประมงเถื่อนไว้

ต่อมา ชาวประมงพวกนั้นกลับมาพร้อมข้าว เบียร์ และเงินสด 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาว่าจะโอนมาเพิ่มอีก 30,000 ดอลลาร์ หากแบ่งให้คนในทีมคนละเท่าๆ กัน เงินสินบนทั้งหมดนี้เทียบได้กับเงินเดือนทั้งปีของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลคนหนึ่งเลยทีเดียว พวกประมงเถื่อนทึกทักว่าเงินของพวกเขาจะได้ผล แต่สำหรับ เฮอร์คูลิส เอมิลิโอ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์อาวุโสของทีม การปฎิเสธเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดเลย “เราเข้าใจว่า ถึงที่สุดแล้ว เราทำเพื่อคนของเรา เพื่อคนรุ่นต่อไปครับ” เอมิลิโอผู้เติบโตในฮาโตโฮเบ ซึ่งตอนเขายังเล็กเรียกกันว่า เกาะโตบี กล่าว

ประมงเถื่อนชาวจีนเดินเรือใหญ่ผ่านร่องน้ำเข้ามายังเขตกำบังคลื่นลมในลากูนของแนวปะการัง และส่งนักดำน้ำลงไปเก็บปลิงทะเล  พวกเขาเสนอสินบนทั้งเงินและข้าวของต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลยังคงยืนกรานปฏิเสธ

ในที่สุด ด้วยการสนับสนุนทางอากาศและทางทะเลจากกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ เรือตำรวจน้ำจากโครอร์มาถึงในวันที่สามและปิดกั้นทางน้ำเดินเรือ ทำให้เรือสัญชาติจีนถูกกักอยู่ในลากูน  เจ้าหน้าที่ขึ้นเรือและควบคุมตัวลูกเรือ 28 คนยึดเงินสด เรือยนต์ อุปกรณ์ประมง และปลิงทะเลที่จับมาอย่างผิดกฎหมายรวม 225 กิโลกรัม

“ฉันภูมิใจในเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลของเราค่ะ” โรซานยา วิกตัวร์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในวิดีโอ  “สำหรับการเสียสละของพวกเขาที่มาประจำการในสถานีไกลปืนเที่ยง  ห่างจากครอบครัว สำหรับความกล้าหาญที่ พวกเขาสกัดกั้นเรือประมงผิดกฎหมายด้วยประสบการณ์และชั้นเชิงจากการฝึก และสำหรับความซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่ยอมรับสินบน”

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อกว่า 20 ปีก่อน โครงการจัดการทรัพยากรแนวปะการังเฮเลนนำภูมิปัญญาด้านการดูแลธรรมชาติของฮาโตโฮเปมาใช้เป็นแนวทางปกป้องแนวปะการัง นี่คือประจักษ์พยานของความพยายามในการอนุรักษ์ทั่วปาเลาหนึ่งในสถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและได้รับความคุ้มครองมากที่สุดในมหาสมุทรต่างๆ ของโลก

เรือแคนูแบบมีแขนค้ำด้านข้างในน่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่บ้านเอชางของปาเลา สะท้อนวิถีการทำประมงและการท่องทะเลของชาวฮาโตโฮเป
ฉลามหูดำแหวกว่ายในร็อกไอแลนด์สเซาเทิร์นลากูน ปาเลาซึ่งเป็นกลุ่มเกาะเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งเขตสงวนให้ฉลามเมื่อปี 2009 และต่อมายังจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเลแห่งชาติปาเลา ซึ่งห้ามทำประมงและการทำเหมืองในน่านน้ำ ส่วนใหญ่ของประเทศ
เมื่อปี 2020 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเล โทนี ชายาม (ทางซ้าย) เปตรา เท็กเกิล (กลาง) และเฮอร์คูลิส เอมิลิโอ ปฏิเสธเงินสินบน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และช่วยจับกุมชาวประมงผิดกฎหมายจากจีนในโฮต์ซารีฮี ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ได้รับความคุ้มครองทางตะวันตกเฉียงใต้ของปาเลา

โฮต์ซารีฮี แปลว่า “แนวปะการังของหอยมือเสือ” ชื่อนี้ตั้งตามหอยมือเสือสกุล ไทรแดกนา ที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุม และตามที่เล่าขานกันมานั้น  มันอาจเติบใหญ่ถึงขนาดที่นักดำน้ำเข้าไปนอนขดอยู่ข้างในได้  ลากูน ร่องน้ำ และโซนพื้นราบ (reef flat) ขนาดใหญ่ของแนวปะการังในอะทอลล์แห่งนี้  เป็นแหล่งรวมของชนิดพันธุ์ปะการังแข็งและอ่อนมากมายซึ่งให้ถิ่นอาศัยใต้น้ำ แก่ทากทะเล ปลิงทะเล และปลาขนาดใหญ่ตามแนวปะการัง เช่น ปลานกขุนทองหัวโหนก ส่วนบนเกาะนั้น เต่าตนุและนกทะเลหลายพันตัวใช้เป็นแหล่งสร้างรัง

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ชาวฮาโตโฮเปมีต่อผืนดินและท้องทะเล บ่มเพาะองค์ความรู้ที่คงอยู่มาช้านาน ทั้งภูมิปัญญา     วิถีปฏิบัติ และประเพณีที่เรียกว่า มูมู  องค์ความรู้เหล่านี้ยังรวมถึงวิธีทำเกษตร เทคนิคการจับปลา และธรรมเนียมการท่องทะเลฮาโตโฮเป แปลว่า “ทำให้มนตร์ขลังและการค้นพบใหม่ๆ เปี่ยมคุณค่าความหมายมากขึ้น” อันเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงวิถีที่บรรพบุรุษลงหลักปักฐานบนเกาะฮาโตโฮเป หลังจากรอนแรมในทะเลเป็นระยะทางราว 1,300 กิโลเมตร

ชาวฮาโตโฮเปรุ่นแรกๆ ปลูกกลี [พืชกินหัวคล้ายเผือก] แปลงใหญ่โตมโหฬารตรงกลางเกาะ เพื่อรับประกันว่าจะมีแหล่งอาหารที่มั่นคง ซึ่งพวกเขายังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้  พวกเขาพัฒนาการจับปลาด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการส่องไฟจับปลาด้วยสวิงขนาดใหญ่ การทำบ่วงดักฉลาม การจับปลาใต้ขอนไม้ลอยน้ำ การใช้ว่าวตกปลา และการลากสายเบ็ดในน้ำ  แม้เทคนิคหลายอย่างเหล่านี้จะไม่ได้ใช้อีกแล้ว แต่ภูมิปัญญายังคงตกทอดอยู่ในชุมชนฮาโตโฮเปตลอดสองศตวรรษที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อยู่บ่อยครั้ง

เริ่มจากปลายศตวรรษที่สิบเก้า เกาะเล็กเกาะน้อยและอะทอลล์หรือเกาะปะการังวงแหวนกว่า 340 แห่งของปาเลา    ถูกสเปน เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อ้างกรรมสิทธิ์ ใช้ประโยชน์และปกครองต่อเนื่องตามลำดับ ปาเลาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐฯ นานเกือบครึ่งศตวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับเอกราชในปี 1994 ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างสองประเทศ ปาเลาได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนบริการทั้งด้านไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา และการบินจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ  อีกทั้งพลเมืองปาเลาสามารถอยู่อาศัย ทำงาน และศึกษาในสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า  ส่วนสหรัฐฯ ยังคงไว้ซึ่งอำนาจทางการทหารเป็นการแลกเปลี่ยน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การถูกต่างชาติยึดครอง โรคระบาด พายุและการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ บีบให้ชาวฮาโตโฮเปส่วนใหญ่ละทิ้งเกาะบ้านเกิดไปยังโครอร์และไกลออกไป จากผู้สืบเชื้อสายชาวฮาโตโฮเปราว 200 คนในปาเลา มีเพียงประมาณ 30 คนที่ยังคงอาศัยอยู่บนเกาะนี้ตลอดทั้งปี  ส่วนใหญ่พำนักอยู่ในชุมชนเอชางซึ่งก่อตั้งขึ้นระหว่างการยึดครองของเยอรมนีตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ในรัฐโครอร์ที่ห่างไกล  ปัจจุบัน ฮาโตโฮเปและโฮต์ซารีฮียังคงเป็นรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนที่ยังคงดูแลรักษาเกาะและแนวปะการังต่อไป

ในช่วงทศวรรษ 1990 เรือประมงจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลอบทำประมงในแนวปะการังด้วยความละโมบ โดยใช้ทั้งระเบิดไดนาไมต์ สารไซยาไนด์ และอวนขนาดใหญ่เพื่อจับปลิงทะเล ทากทะเล หอยมือเสือ ฉลาม ปลาเก๋า และเต่าทะเล

ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันสองคน ชุมชนชาวฮาโตโฮเปจึงสอบถามไปยังชาวหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ เพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับการทำประมงเกินขนาด  แต่ในขั้นแรก คนในชุมชนต้องตอบคำถามข้อหนึ่งเสียก่อน นั่นคือ ใครเป็นเจ้าของแนวปะการัง  คำถามนี้จุดประกายให้เกิดการไต่สวนสาธารณะหลายครั้งในปี 1999 โดยมีสมาชิกของทุกครอบครัวในฮาโตโฮเปเข้าร่วม  หลังจากพิจารณาและทบทวนคำบอกเล่าเก่าแก่ของครอบครัวและคนในสายตระกูลแล้ว ชุมชนก็ได้ฉันทามติว่า แนวปะการังมีชาวฮาโตโฮเปเป็นเจ้าของร่วมกัน “ผู้อาวุโสในห้องถามหัวหน้าครอบครัวแต่ละคนว่า ‘ท่านมีความเห็นอย่างไร’ และทุกคนล้วนเห็นพ้องด้วย” เวย์น แอนดรูว์ ซึ่งเป็นชาวฮาโตโฮเปและผู้อำนวยการอาวุโสของโครงการไมโครนีเซียที่องค์กรอนุรักษ์ไม่แสวงกำไรชื่อ วันรีฟ (OneReef) อธิบาย  “เราต้องการให้แนวปะการังเฮเลนได้รับความคุ้มครองครับ”

เมื่อปี 2000 ชาวฮาโตโฮเปกลุ่มหนึ่ง ชาวปาเลากลุ่มอื่นๆ และกลุ่มนานาชาติได้รับเงินทุนจากรัฐบาลและภาคเอกชน   ให้เริ่มดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรแนวปะการังเฮเลน และในปีถัดมา สภานิติบัญญัติรัฐฮาโตโฮเปผ่านกฎหมายกำหนดให้แนวปะการังเป็นพื้นที่คุ้มครอง ในช่วงสี่ปีแรก แนวปะการังได้รับการประกาศให้เป็นเขตปลอดกิจกรรมประมงทั้งหมดเมื่อแนวปะการังฟื้นตัว พื้นที่ประมาณร้อยละ 30 ของอะทอลล์ก็เปิดให้ทำประมงอย่างยั่งยืน “เมื่อเรามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่ล้นเกินก็หล่อเลี้ยงชุมชนได้ครับ” ทอมัส แพทริส อดีตผู้ว่าการรัฐฮาโตโฮเปซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองแห่งนี้ อธิบาย

ในที่สุด โครงการฯ ก็สร้างสถานีพิทักษ์ทะเลขึ้นเป็นการถาวร ฝึกหัดและจ้างชาวฮาโตโฮเปและชาวปาเลาอื่นๆ เป็นเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ และพัฒนาแผนจัดการเบ็ดเสร็จที่อิงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาดั้งเดิม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลไม่เพียงยับยั้งกิจกรรมประมงผิดกฎหมาย แต่ยังคอยเฝ้าระวังเต่าทะเลและสัตว์ทะเลอื่นๆ เพื่อรักษาการฟื้นตัวและสุขภาวะของอะทอลล์

แพทริสยังจำการไปเที่ยวแนวปะการังนี้ตอนเด็กได้  “เย็นวันหนึ่ง พอน้ำลง นกกลับมาจากการล่าเหยื่อ และจะบินต่ำมากจนหอยมือเสือยักษ์ตื่นตัวและงับฝาเข้าหากันจนน้ำพุ่งออกมาเลยครับ”  หลายปีต่อมา เขาพาลูกๆ ไปชมปรากฏการณ์นี้แต่ไม่มีให้เห็นอีก แต่ตอนนี้ “ทรัพยากรกำลังฟื้นตัวครับ” เขาบอก “และเราอยากให้เป็นเช่นนั้นต่อไป”

มนุษย์กลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่บนเกาะเฮเลน ซึ่งเป็นสันดอนทรายแคบๆ ทางเหนือสุดของอะทอลล์ คือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลที่ประจำการอยู่เพื่อปกป้องสัตว์ทะเล โฮต์ซารีฮีมีชาวเกาะฮาโตโฮเปที่อยู่ใกล้เคียงเป็นเจ้าของร่วมกัน
ปัจจุบัน พื้นที่หนึ่งในสามทางเหนือของแนวปะการังเปิดให้ทำประมงเพื่อการยังชีพแก่สมาชิกในชุมชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ อย่าง ไบรอัน ฟิดีอี ผู้แทงปลาเลี้ยงปากท้องตนเองและเพื่อนร่วมงาน น่านน้ำที่เหลือรอบแนวปะการังปิดไม่ให้ทำประมง
ภายในกล่องสมบัติความหลากหลายทางธรรมชาติของปาเลา โฮต์ซารีฮีคืออัญมณีล้ำค่า ลากูน ร่องน้ำและเขตพื้นราบของแนวปะการังรอบอะทอลล์แห่งนี้ เกื้อหนุนปะการังแข็ง ปะการังอ่อน เต่าทะเล ทากทะเล หอยมือเสือ ฉลาม ปลาและนกทะเลนานาชนิด

ปาเลาขยายมาตรการอนุรักษ์ออกไปด้วยการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเลแห่งชาติซึ่งมีผลบังคับเมื่อปี 2020         เขตรักษาพันธุ์แห่งนี้ซึ่งถือเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (marine protected area: MPA) ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปกป้องน่านน้ำร้อยละ 80 ของปาเลาและน่านน้ำทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 474,000 ตารางกิโลเมตรจากกิจกรรม หาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการทำเหมืองและการประมง ปาเลามีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคไมโครนีเซียทั้งหมด โดยมีทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน และฟองน้ำหลายร้อยชนิด ปลาใน แนวปะการังกว่า 1,300 ชนิด และปลาทูน่า ปลากระโทง ปลาฉลาม และปลากระเบนจำนวนมาก กองทุนและเขตรักษาพันธุ์มีพื้นฐานความเชื่อร่วมกันที่หยั่งรากลึกในธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกว่า บุล หรือการจำกัดการจับปลาในแนวปะการังหนึ่งๆ และช่วงใดช่วงหนึ่งของปีเพื่อให้ปลาขยายพันธุ์

ปัจจุบัน ประธานาธิบดีปาเลาเริ่มมองหาวิธีเปลี่ยนแปลงแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเลเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประมงเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19  แอนดรูว์อธิบายว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การประมงเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นในปาเลาจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเลแห่งชาติแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะพื้นที่คุ้มครองของโฮต์ซารีฮี และแอนดรูว์รับรองว่าชาวฮาโตโฮเปจะดูแลมันต่อไป

ไม่กี่ปีหลังเหตุการณ์เผชิญหน้ากับประมงเถื่อนชาวจีน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเลยังคงปักหลักอยู่ในสถานีบนสันทรายอันห่างไกลของพวกเขา และยังไม่ได้เผชิญกับการล่วงล้ำจากต่างชาติอีก แต่พวกเขาก็พร้อมรับมือกับสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ฉันรักงานนี้เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังช่วยชุมชนค่ะ” เจ้าหน้าที่เท็กเกิลกล่าว  “ต่อให้มีโอกาสงานอื่นเข้ามา ฉันก็เลือกอยู่กับเกาะของฉันต่อไป”

เรื่อง  เกล็บ เรย์กอรอเด็ตสกี 

ภาพถ่าย  คิลอิ ยู่หยาน


อ่านเพิ่มเติม : “ที่นี่คือแผ่นดินโคฟาน ของเรา ไม่ใช่ของคุณ” สะท้อนวิธีการที่สหายร่วมชาติพันธุ์ โคฟาน เมื่อเห็นภัยคุกคามต่อชีวิตและผืนแผ่นดินของพวกเขา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.