เชื่อหรือไม่ว่าสถานที่ที่พลุกพล่านที่สุดในปักกิ่งในเช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ใช่ตลาดซานหยวนหลี่หรือย่านการค้าซานหลี่ตุน แต่เป็นสวนสาธารณะที่ถูกขนาดนามว่า “ปอดแห่งปักกิ่ง”
สวนป่าโอลิมปิก (Olympic Forest Park) เป็นสวนสาธารณะขนาด 4,250 ไร่ เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของของสนามกีฬาโอลิมปิกกรีน ใกล้กับพระราชวังต้องห้าม
สวนป่าแห่งนี้ประกอบสวน 2 ส่วน ซึ่งเป็นผลจากการพาดผ่านของถนนวงแหวนที่ 5 สวนทางใต้มีรูปร่างเป็นวงรีและมีทะเลสาบเอ๋อไห่ (Aohai) อยู่ตรงกลาง สวนทางเหนือมีภูเขา ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของเมือง เชื่อมต่อกันด้วยสะพานนิเวศ ที่ทอดยาวเหนือทางถนนวงแหวน ภายในสวนทั้งสองส่วนนี้ก็จำลองลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ ไว้มากมาย เช่น ภูเขา ทะเลสาบ ทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่ รวมไปถึงพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของนักดูนกและคนรักธรรมชาติ ที่มองหาความสงบกลางเมืองใหญ่
สวนป่าโอลิมปิกเคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเมื่อ 16 ปีที่แล้ว และถูกสร้างขึ้นก่อนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปักกิ่งในปี 2008 เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับนักกีฬาและผู้ฝึกสอน ให้ได้พักจากการแข่งขันอันเข้มข้นที่สนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามรังนก (Beijing National Stadium)
หลังการแข่งขันโอลิมปิกสิ้นสุดลง สวนป่าโอลิมปิค ก็กลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่างรวดเร็ว หูเจี๋ย (Hu Jie) หัวหน้าผู้ออกแบบสวนสาธารณะและรองประธานสถาบันวางแผนและการออกแบบเมืองปักกิ่งชิงหัวทงเฮิง กล่าวว่า เขาได้ใช้ผลงานของเหล่าจื่อ นักปรัชญาในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเขียนผลงานชิ้นเอกเต้าเต๋อจิง ในการร่างแบบสวนสาธารณะแห่งนี้ ผ่านแนวคิดที่ว่ามนุษย์เดินตามโลกและโลกเดินตามสวรรค์ ผสมผสานกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของสวนสาธารณะได้อย่างลงตัว “ผมคิดว่าเพื่อให้บรรลุถึงความยั่งยืนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม การออกแบบสวนป่านี้ควรหาวิธีที่จะรวมเอาทั้งกิจกรรมของมนุษย์และพฤติกรรมของสัตว์เข้าไว้ด้วยกัน”
สวนป่าโอลิมปิกถือเป็นบ้านของนกกว่า 300 ชนิด ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของนกทั้งหมดที่พบในปักกิ่ง รวมไปถึงนกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Yellow-breasted Bunting) ซึ่งเป็นนกใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองสำคัญระดับหนึ่งของประเทศ
นอกจากนกแล้ว สวนป่าโอลิมปิค ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันยอดเยี่ยมสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พังพอน เม่นแคระ วีเซิล รวมไปถึงกวางซิก้า ที่อาศัยซ่อนตัวอยู่ตามพุ่มไม่และแนวไม้ (Dead Heage) ที่สร้างขึ้นจากเศษไม้ที่เหลือจากการตัดแต่งสวนป่าแห่งนี้
นอกจากจะเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ นานาพันธุ์ สวนป่าแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของต้นไม้ใหญ่มากกว่า 100,000 ต้น ที่ไม่เพียงแต่สวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชาวปักกิ่งหายใจได้โล่งขึ้นอีกด้วย ในหนึ่งปี ต้นไม้ที่โตเต็มที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 20 กิโลกรัม โดยแปลงเป็นออกซิเจนผ่านการะบวนการสังเคราะห์แสง นั่นหมายถึง มีจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3,960 ตัน ที่ต้นไม้ในสวนป่าโอลิมปิกดูดซับออกจากอากาศในเมืองได้ทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับการกำจัดรถยนต์ 777 คันออกจากท้องถนนที่พลุกพล่านในมหานครปักกิ่ง
เคยมีงานวิจัยสรุปไว้ว่า การที่อากาศผ่านเรือนยอดไม้ จะสามารถลดฝุ่นได้ 10 – 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นไม้จะดูดซึมมลพิษผ่านใบ เปลือก และลำต้น เมื่อมีฝนตก ฝุ่นที่เกาะอยู่ที่ผิวใบและเปลือกไม้ จะไหลลงสู่ดิน
ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ไอน้ำที่พืชคายออกมา ก็ทำหน้าที่เหมือน “เครื่องปรับอากาศตามธรรมชาติ” ช่วยบรรเทาอากาศร้อน ๆ ให้เย็นสบาย ในช่วงที่มีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ” เกาะความร้อนในเมือง ” (Urban heat island : UHI) จึงไม่น่าแปลกใจที่สวนป่าแห่งนี้ จะกลายเป็น “โอเอซิส” ของเมืองตลอดทุกฤดูร้อน โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ที่ปักกิ่งถูกคลื่นความร้อนปกคลุมจนอุณหภูมิทะลุ 41 องศาเซลเซียส
เพื่อลดแรงกดดันทางระบบนิเวศน์และแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในปักกิ่ง การออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อย่างสวนป่าโอลิมปิคนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำที่สามารถเข้าถึงและดูแลด้วยตัวเองได้
สวนป่าโอลิมปิกใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัด เป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับงานภูมิทัศน์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สวนสาธารณะในประเทศจีนทำสำเร็จ โดยการวางระบบบำบัดน้ำ กรองน้ำเสีย น้ำผิวดิน น้ำฝน และน้ำท่วมขังให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่า สวนป่าแห่งนี้ ช่วยลดการใช้น้ำประปาได้ 250 ล้านแกลลอนต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำมาตราฐานโอลิมปิก 380 สระเลยทีเดียว
นอกจากนี้ แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้บนโครงระแนงที่ประตูทางทิศใต้ของสวนสาธารณะ ยังผลิตไฟฟ้าได้ 83,000 กิโลวัตต์ ชั่วโมง ต่อปี การทำเช่นนี้ทำให้พลังงานที่สร้างขึ้นจากแผงโซลาร์เซลล์ เพียงพอต่อความต้องการพลังงานของชาวจีน 227 คนเป็นเวลา 1 ปี สามารถลดการใช้ถ่านหินที่เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟ้าในประเทศลงได้ 30 เมตริกตัน ซึ่งการลดลงของการใช้ถ่านหินนี้ ยังส่งผลดีต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 8 เมตริกตัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลง 720 กิโลกรัม ไนตริกออกไซด์ลง 210 กิโลกรัม ควันลง 81 กิโลกรัม และฝุ่นลง 45 กิโลกรัม ต่อปี
ไม่เพียงเท่านั้น อาคารทั้ง 90 หลัง ยังได้รับการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน โดยใช้แนวคิด เทคโนโลยี และวัสดุต่าง ๆ ที่ประหยัดพลังงานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ อาคารทุกหลังมีผนังภายนอกที่ใช้ระบบปั๊มความร้อนใต้พิภพ มีวัสดุฉนวนกันความร้อน และระบบระบายอากาศแบบควบคุมอุณหภูมิ ยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบยังให้ความสำคัญตลอดจนวัสดุเล็ก ๆ อย่าง หลังคาของซุ้มไม้เลื้อย พื้นระเบียง ราวบันได ก็ใช้ไม้พลาสติกคอมโพสิตที่นำมารีไซเคิลใหม่ ปุ๋ยหมักที่ใช้ ก็ได้จากเศษพืชและขยะภายในสวน เรียกได้ว่า ไม่มีปัจจัยไหน ที่เราจะไม่ยกให้ “สวนป่าโอลิมปิก เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่ออากาศสะอาดและท้องฟ้าที่สดใส” เลยจริง ๆ
สืบค้นและเรียบเรียง
อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ที่มา