เราเห็นหลักฐานการสังหารแต่แรก นั่นคือรอยเปื้อนสีแดงสดแผ่กว้างดูน่ากลัวบนผืนน้ำแข็งทะเล (sea ice) ปกคลุมด้วยหิมะ ซึ่งน่าจะเป็นเลือดของแมวน้ำวงแหวน จากนั้นเจ้าหมีขั้วโลกก็ปรากฏกายขึ้น เป็นแม่หมีตัวใหญ่ขนาด 225 กิโลกรัมเห็นจะได้ และมีลูกน้อยอีกตัวเดินตามหลัง สองแม่ลูกเพิ่งกระโดดลงไปในร่องน้ำซึ่งเป็นรอยแยกทางยาวของน่านน้ำเปิดในทะเลเยือกแข็ง ไม่กี่วินาทีต่อมา พวกมันก็กลับขึ้นมาจากน้ำ แล้วพากันวิ่งเตลิดไปบนผืนน้ำแข็งเพราะตกใจเสียงเฮลิคอปเตอร์ของพวกเราที่บินเข้าใกล้ การวิ่งต่อเนื่องนานๆ อาจเป็นอันตรายต่อหมีขั้วโลกได้ เพราะไขมันและขนทำหน้าที่เป็นฉนวนให้พวกมันดีเสียจนร่างกายอาจเกิดภาวะร้อนเกินได้ ฟรองซัวส์ เลตูร์โน-กลูตีเยร์ คนขับเฮลิคอปเตอร์ของเราซึ่งเป็นชาวควิเบกวัย 33 ปี บังคับเครื่องให้บินสูงขึ้น แม่หมีกับลูกน้อยค่อยชะลอฝีเท้าลงเป็นเดินเหยาะๆ
หลังจากติดตามหมีสองแม่ลูกอยู่นานหลายนาที เลตูร์โน-กลูตีเยร์ ก็นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดบนผืนน้ำแข็งอย่างนุ่มนวลห่างออกมาราว 100 เมตร แล้วดับเครื่องยนต์ แม่หมีผงาดยืนขึ้นบนสองขาหลัง หยั่งประเมินจักรกลบินได้พวกเราด้วยสายตาจับจ้องนิ่งสงบของนักล่าอันดับหนึ่งแห่งอาร์กติก ส่วนเจ้าลูกหมียังคงยืนสี่ขาอยู่ข้างหลังแม่ในชั่วขณะอันตราตรึงเหนือกาลเวลา เราดื่มด่ำกับฉากตรงหน้า หมีสองแม่ลูกตัดกับความไพศาลของหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งจะร้างไร้ว่างเปล่าหากปราศจากพวกมันอยู่ตรงนั้น แอ่งน้ำละลายแอ่งตื้นๆ นับไม่ถ้วนสะท้อนแสงอาทิตย์กลางฤดูร้อน จากนั้นใบพัดหมุนติ้วของเฮลิคอปเตอร์ก็สลายมนตร์ขลังตรงหน้าด้วยเสียงหอนรัวคลุ้มคลั่ง แล้วเราก็บินขึ้นจากพื้นน้ำแข็ง เบนทิศไปทางตะวันตกเฉียงใต้มุ่งหน้าสู่ค่ายพักแรมบนปลายจะงอยด้านเหนือสุดของเกาะแบฟฟิน ประเทศแคนาดา ห่างจากอ่าวฮัดสันขึ้นไปทางเหนือราว 1,100 กิโลเมตร
ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ในฤดูร้อนทิวทัศน์งดงามเยี่ยงนี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตรงนี้เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งทะเลในฤดูร้อนและสรรพชีวิตทั้งมวลที่ปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่หมี แมวน้ำ วอลรัส วาฬ ปลาค็อดอาร์กติก เรื่อยไปจนถึงเหล่าครัสเตเชียน และสาหร่ายน้ำแข็ง อาจอันตรธานไปจากรอบเกาะแบฟฟินระหว่างที่เราบินอยู่เหนือแดนน้ำแข็งกว้างไกลสุดสายตานี้ เป็นเรื่องแทบไม่น่าเชื่อเมื่อคิดไปว่า เรากำลังเป็นพยานรู้เห็นจุดจบของมัน ซึ่งเราและมนุษยชาติที่เหลือช่วยกันก่อขึ้น ข้อมูลดาวเทียมจากทศวรรษ 1980 เผยให้เห็นว่า น้ำแข็งทะเลอาร์กติกแผ่ปกคลุมโดยเฉลี่ยเป็นพื้นที่ 7.5 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงปลายฤดูร้อน นับแต่นั้นมา น้ำแข็งทะเลหดหายไปมากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร
แบบจำลองภูมิอากาศบ่งชี้ว่า เมื่อถึงทศวรรษ 2050 น้ำแข็งทะเลที่คงอยู่ตลอดปีจะเหลือไม่ถึง 520,000 ตารางกิโลเมตร กระนั้นข่าวดีก็ยังมีอยู่ว่า น้ำแข็งถาวรที่ยังเหลืออยู่นี้จะเคลื่อนไปรวมกันในพื้นที่ขนาดกะทัดรัด ซึ่งไม่ใช่ตรงนี้ แต่ไกลขึ้นไปทางเหนือ เลยกรีนแลนด์และเกาะเอลสเมียร์ของแคนาดาขึ้นไป ฐานที่มั่นซึ่งหดเล็กลงดังกล่าวจะเป็นถิ่นอาศัยแห่งสุดท้ายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติหลายชนิดของอาร์กติก
“พวกสัตว์ที่ต้องพึ่งพาชายฝั่งน้ำแข็งทะเลเพื่ออยู่รอดจะไปชุมนุมกันที่นั่นในฤดูร้อน” เอนริก ซาลา นักนิเวศวิทยาทางทะเล หัวหน้าโครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas) ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อธิบาย “มันจะเป็นเหมือนแอ่งน้ำในแอฟริกาที่ส่ำสัตว์มารวมตัวกันเลยครับ”
ซาลามาที่เกาะแบฟฟินพร้อมทีมนักดำน้ำและนักสร้างภาพยนตร์เพื่อบันทึกเรื่องราวของโลกน้ำแข็งที่นี่ก่อนจะมลายหายไปเพราะภาวะโลกร้อน และเพื่อใช้เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อเรียกร้องให้คุ้มครอง “น้ำแข็งผืนสุดท้าย” ทางเหนือขึ้นไป ตั้งแต่เขาเริ่มโครงการทะเลพิสุทธิ์เมื่อสิบปีก่อน จนถึงวันนี้โครงการได้ช่วยปกป้องน่านน้ำในมหาสมุทรไว้ได้แล้วราวแปดล้านตารางกิโลเมตร แต่การจะอนุรักษ์ผืนน้ำแข็งอาร์กติกที่ยังเหลืออยู่เอาไว้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งกรีนแลนด์และแคนาดา จะเป็นภารกิจที่ท้าทายมากที่สุด
นอกจากนี้ยังเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดด้วย “ภูมิภาคอาร์กติกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากกว่าที่อื่นใด” ซาลากล่าว และภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายหายไป การขนส่งทางเรือ การประมง การพัฒนาก๊าซและน้ำมันก็อาจรุกล้ำเข้าไป ถ้าจะให้น้ำแข็งทะเลและประชากรของมันได้รับการปกป้อง สิ่งนี้ก็ต้องเกิดขึ้นก่อนที่การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในอาร์กติกจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจหยุดยั้งได้
เรื่อง ทิม โฟลเกอร์
อ่านเพิ่มเติม