BETTER LIVING ปรับวิถีชีวิตใหม่ ให้อยู่อย่างยั่งยืน ในงาน Sustainability Expo 2024  

“ยื้อเวลาปรับวิถี” เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในโซน BETTER LIVING 

งาน Sustainability Expo 2024

 

“4YRS 289DAYS 10:50:59” ตัวเลขขึ้นจอ LED ขนาดใหญ่ ค่อย ๆ นับถอยหลังลงทีละวินาที ตามเวลาของ ‘นาฬิกาสภาพอากาศ’  หรือ Climate Clock ที่แสดงให้เห็นว่า เราเหลือเวลาอีกแค่ 4 ปีกับอีก 289 วัน ก่อนที่อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นจุดวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและเป็นสัญญาณหายนะโลกร้อนที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที

การจัดแสดงนาฬิกานับถอยหลังสู่วิกฤตโลกร้อน เป็นจุดศูนย์กลางของไฮไลท์กิจกรรม Climate Deadline ในโซน BETTER LIVING งาน Sustainability Expo 2024 ที่ชวนทุกคนมาร่วมเรียนรู้วิธีปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภายใต้คอนเซปต์ “ยื้อเวลาปรับวิถี” พร้อมจัดแสดงนวัตกรรมและไอเดียดี ๆ ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราให้สอดคล้องกับความยั่งยืน

นอกจาก อัพเดทสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน ยังมีกิจกรรมไฮไลท์อย่าง Global Warming & Climate Change พาทุกคนย้อนกลับไปดูต้นตอของของภาวะโลกร้อน จากเบื้องหลังการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 สาเหตุ ซึ่งใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้ปุ๋ยเคมี การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยเราสามารถเข้ามาพลิกป้ายทายสาเหตุ วัดความรู้กันได้แบบไม่น่าเบื่อ

โซน BETTER LIVING ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในกิจกรรม Impact of Climate Change ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ จนทำให้มนุษย์เจ็บป่วยจากโรคระบาด น้ำท่วมฉับพลันและภัยธรรมชาติ ระบบนิเวศถูกทำลายและเกิดวิกฤติอาหารโลก

เมื่อผู้ชมในงานได้ตระหนักถึงสาเหตุหลักและผลกระทบของโลกร้อนแล้ว โซน BETTER LIVING ยังเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญภายใต้คอนเซปต์ “ยื้อเวลาปรับวิถี” โดยมีองค์กรชั้นนำทั่วประเทศไทย ต่างนำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตเพื่อความยั่งยืนได้ง่าย ๆ และสนุกกว่าที่คิด โดยเฉพาะกิจกรรม Carbon & Us: How to live low carbon life ใช้ชีวิตแบบ “Low Carbon” ง่าย ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งมีการจัดแสดงนวัตกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

“บราเก่า = พลังงานสะอาด” เป็นแคมเปญภายใต้ชื่อ “Bra-Cycle” เกิดจากความร่วมมือระหว่างแบรนด์ชุดชั้นใน SABINA และ INSEE Ecocycle เชิญชวนสาว ๆ โละบราเก่า เพื่อนำไปทำเป็นพลังงานสะอาด ผ่านการเสื่อมสภาพอย่างถูกวิธี ช่วยลดปริมาณขยะ โดยมีการตั้งจุดรับทิ้งบราเก่าภายในงาน และข้าง ๆ กัน ยังมีกล่องรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ จาก AIS E-Waste ด้วย เป็นการสร้างความรับรู้ในเรื่องการแยกขยะ-ทิ้งขยะประเภทต่าง ๆ ภายใต้สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE (Thailand Institute of Packaging and Recycling Management for Sustainable Environment)

นอกจากเส้นทางการกำจัดขยะใกล้ตัวในครัวเรือนแล้ว โซน BETTER LIVING ให้ความสำคัญกับการจัดการ Food waste เช่นกัน โดยมีการนำเครื่องย่อยเศษอาหารอัตโนมัติ พัฒนาโดยกลุ่มคนไทยภายใต้แบรนด์ SHOOSHOKE (ชูชก) ที่ชูจุดเด่นเรื่องระยะเวลาการย่อยอาหารที่รวดเร็วกว่าเครื่องย่อยเศษอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาด และได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงาน มีการโชว์แบบบ้านจำลองให้เห็นว่า เราสามารถปรับปรุงบ้านให้ยั่งยืนได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ติดตั้งระบบพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ติดตั้งฝักบัวแบบประหยัดน้ำ และเลือกใช้วัสดุระบายอากาศ รวมถึงใช้วัสดุลดการทำลายธรรมชาติอย่าง GREEN ROCK หรือ เม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ทดแทนหินจริง มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือมีน้ำหนักเบาและคงความแข็งแรง โดยสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของบล็อกคอนกรีต กระเบื้องมุงหลังคา แผ่นพื้นทางเท้า เป็นต้น

หากใครยังไม่มีแผนรีโนเวทบ้านเร็ว ๆ นี้ ก็สามารถปรับเปลี่ยนของใช้ภายในบ้านง่าย ๆ เริ่มต้นได้ที่ห้องนอน เช่น ใช้เครื่องนอนและผ้าปูที่นอนที่รีไซเคิลได้ ปลูกต้นไม้หรือแขวนต้นไม้ อย่างพลูด่างหรือกล้วยไม้ไว้ที่มุมห้อง ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไอระเหยจากสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ

เรื่องของอาหารการกินเราก็สามารถเลือก Low Carbon Food หรือวัตถุดิบอาหารแบบคาร์บอนต่ำได้ โดยวัตถุดิบที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง พืชตระกูลส้ม พืชใต้ดินหรือพืชหัว แอปเปิ้ลและกล้วย ส่วนอาหารคาร์บอนต่ำในรูปแบบเนื้อสัตว์ ทาง CPF นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาโชว์ ทั้งเนื้อหมูดำซีพี-คุโรบุตะ สะโพกหมูชีวาหั่นชิ้น ไข่ไก่ที่เลี้ยงปล่อยธรรมชาติ

BETTER LIVING ยังนำเสนอนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม อย่างการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Store Technology) เป็นกระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยโรงงานดักจับอากาศขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีชื่อว่า “แมมมอธ” (Mammoth) สามารถดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ 36,000 ตันต่อปี

ปิดท้ายสำหรับคนรักรถในกิจกรรม Green Mobility: นวัตกรรมยานยนต์สีเขียวแห่งอนาคต ที่จัดเป็นมินิโชว์รูม นำรถยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมระบบชาร์จที่เร็วกว่าและรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กที่ช่วยลดลดการปล่อยก๊าซเรือนจากภาคการขนส่ง ส่วนคันที่สะดุดตาที่สุด ต้องยกให้รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ HAUP รุ่น TURING ที่ผ่านการทดลองการสื่อสารระบบ 5G ซึ่งเราอาจจะได้เห็นรถไร้คนขับสุดล้ำคันนี้ถูกนำมาใช้งานจริงในเร็ว ๆ นี้

สำหรับใครที่อยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศความสนุกสนาน และพร้อมที่จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืนไปด้วยกัน สามารถเข้าชมงานได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่งาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เวลา 10:00 – 20:00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึง 6 ตุลาคม 2567 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sustainabilityexpo.com

เรื่อง

ปิยมาส วงส์พลาดิสัย


อ่านเพิ่มเติม : One Bangkok Experiential Pavilion โมเดลสร้างคุณภาพชีวิต

เพื่อเมืองที่ยั่งยืน ในงาน SX 2024

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.