โลมาสีชมพู สัญลักษณ์แห่งลุ่มน้ำแอมะซอน

ไม่ว่าจะมองเป็นวิญญาณแปลงร่างได้ หรือตัวป่วนของชาวประมง โลมาสีชมพูคือผู้ครองลำน้ำและปากแม่น้ำแอมะซอน แต่ขณะที่ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป อนาคตของโลมาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ตกอยู่ในความไม่แน่นอน

ตลอดแนวแม่น้ำน้อยใหญ่ในลุ่มน้ำแอมะซอน ชนพื้นเมืองเผ่าติกูนาเล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับโลมา สัตว์น้ำจืดเหล่านี้คือผู้พิทักษ์จอมซนแห่งอาณาจักรท้องน้ำ พวกมันแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ ปิดบังรูหายใจที่หัวด้วยหมวกทรงสูง แล้วใช้เสน่ห์ล่อลวงอิสตรีไปยังเมืองบาดาลของตน นอกจากนี้ยังชอบไปเยือนน่านน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง เพื่อขโมยปลาจากอวนของชาวประมง

จากโลมาน้ำจืดทั้งหมดหกชนิด มีเพียงสองชนิดที่พบนอกภูมิภาคเอเชีย และทั้งสองชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นอเมริกาใต้ ในลุ่มน้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำโอรีโนโก ซึ่งได้แก่ โลมาแม่น้ำแอมะซอน (Inia geoffrensis) หรือที่เรียกว่า โลมาแม่น้ำสีชมพู (pink river dolphin)ในภาษาอังกฤษ และ โบโต หรือ บูเฟโอ ในภาษาสเปน อีกชนิดคือ ตูกูชี (Sotalia fluviatilis) ซึ่งเป็นญาติตัวสีเทาและขนาดเล็กกว่า ทั้งสองชนิดมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยเผชิญกับภาวะประชากรลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการทำประมง การก่อสร้างเขื่อน และภัยแล้ง

โบโตนับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากกว่า อาจเป็นเพราะรูปลักษณ์ที่แปลกตา กล่าวคือ ตัวเป็นสีชมพู หัวทรงลูกแตง และจะงอยปากประดับยิ้มเห็นฟัน มันดำผุดดำว่ายคล่องแคล่วไปทั่วเขาวงกตต้นไม้จมน้ำในช่วงฤดูฝนของแอมะซอน เมื่อระดับน้ำอาจขึ้นสูงถึง 12 เมตร มันยังเป็นโลมาน้ำจืดชนิดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย โดยเพศผู้บางตัวอาจโตถึง 2.7 เมตร และหนักถึง 180 กิโลกรัม มันอาศัยสายตาร่วมกับการระบุตำแหน่งจากเสียงสะท้อนเพื่อนำทางในการเสาะหาเหยื่อ

นักชีววิทยาทางทะเล เฟร์นันโด ตรูฆิโย ผู้ได้รับรางวัลนักสำรวจแห่งปีของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประจำปี 2024 ได้อุทิศงานทั้งชีวิตของเขาเพื่อศึกษาและปกป้องโลมาแม่น้ำในอเมริกาใต้ ตรูฆิโยเป็นผู้นำการออกสำรวจร่วมกับเพื่อนนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้แก่ มารีอานา ปัสกัวลีนี ฟรีอัส นักวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์ และมาริอา ฆิเมนา วัลเดร์รามา ผู้เป็นสัตวแพทย์ เพื่อประเมินสุขภาพและติดตามสถานภาพประชากรโลมาในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยให้ทราบสุขภาวะของระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่อีกทอดหนึ่ง กล่าวคือที่ใดประชากรโลมาอยู่ดีมีสุข ก็หมายความว่า ที่นั่น  มีประชากรปลาที่แข็งแรงค้ำจุนพวกมันอยู่ ที่ใดพวกมันเผชิญเคราะห์กรรม ย่อมหมายความว่า มีบางสิ่งเป็นปัญหาอยู่

ตรูฆิโยพูดเสมอว่า ในแง่นี้ เหล่าโลมาแม่น้ำก็คือ “ทูตแห่งแอมะซอน” เขาทำงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เพื่อจุดประกายให้เกิดสำนึกรับผิดชอบร่วมกันต่อสุขภาวะของสัตว์เหล่านี้และสภาพแวดล้อมของพวกมัน ในชุมชนประมงเล็กๆ นี่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมองด้วย “เมื่อเราให้ชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมในการจับโลมาเพื่อประเมินสุขภาพมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยครับ เพราะพวกเขาจะได้เห็นว่า เราจับพวกมันอย่างทะนุถนอมมาก” ตรูฆิโยบอก “คุณสร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างชาวประมงกับโลมาครับ”

โลมาแม่น้ำสีชมพูท่องน่านน้ำตื้นของป่าน้ำท่วมถึงในแม่น้ำอารีเอาของบราซิล กายวิภาคที่เป็นเอกลักษณ์ช่วยให้มัน แหวกว่ายไปทั่วท้องน้ำแบบนี้ได้อย่างง่ายดาย ครีบหลังแคบๆ จะงอยปากยาวๆ ครีบใบพายคู่ใหญ่และยืดหยุ่น ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้มุดลอดเข้าออกระหว่างกิ่งก้านต้นไม้จมน้ำได้ “จะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกมันบินลอดต้นไม้ระหว่าง ไล่ตามปลาเลยครับ” เฟร์นันโด ตรูฆิโย กล่าว
ทางตอนใต้ของโคลอมเบีย ช่างฝีมือชนเผ่าติกูนาใช้เปลือกต้น ยันชามา ประดิษฐ์หน้ากากโลมาสีชมพู และร่ายรำรอบกองไฟ พร้อมกับร้องเพลงที่ปลุกให้รำลึกถึงบทบาทของสัตว์ชนิดนี้ในจักรวาลวิทยาของพวกเขา โลมาครองตำแหน่งศูนย์กลางอย่างหนึ่งอยู่หลายชั่วคนในตำนานปรัมปราของประชาคมชนพื้นเมืองทั่วภูมิภาคแอมะซอน
ด้วยความคล่องแคล่วอย่างสูง โลมาแม่น้ำสีชมพูดึงปลาดุกออกจากอวนติดตา การขโมยปลาแบบนี้มักทำให้อวนเสียหายและนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนประมงทั่วภูมิภาคแอมะซอน “เรากำลังทดสอบอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกันโลมาให้อยู่ห่างจากอวนดักปลาค่ะ” มารีอานา ปัสกัวลีนี ฟรีอัส นักวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์ กล่าว
ตรูฆิโยยืนข้างต้นไม้ซึ่งตามกิ่งก้านมีกะโหลกโลมาจำนวนหนึ่งจาก 67 กะโหลกที่เขาพบในช่วงเวลาทำงานภาคสนาม เมื่อป่าถูกน้ำหลากท่วมในแต่ละปี พวกโลมาจะแหวกว่ายที่ระดับกิ่งก้านเหล่านี้ ตรูฆิโยบริจาคตัวอย่างที่เขาพบส่วนใหญ่ให้คลังสะสมแห่งชาติของโคลอมเบีย เพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ร่างสีชมพูที่เป็นสัญลักษณ์ของโลมาเหล่านี้อาจดูเป็นสีส้มสดใต้ท้องน้ำสีน้ำตาลอมส้มของป่าน้ำท่วมถึง “ผมแปลกใจ ที่บางคนยังคิดว่าโลมาเป็นปลา” ตรูฆิโยกล่าว “ฟองอากาศบอกให้รู้ว่า นี่คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายใจด้วยปอดตามน่านน้ำของแอมะซอน”
โลมาแม่น้ำสีชมพูท่องผืนป่าน้ำหลากท่วมในท้องน้ำเจือแทนนินจากเปลือกไม้ของแม่น้ำฮิวเนกรู ในฐานะผู้ล่าอันดับสูงสุด โลมาเหล่านี้กินปลากว่า 50 ชนิด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ขนแข็งๆ บนจะงอยปากช่วยให้พวกมันรับรู้การสัมผัสเมื่อหากินเต่า ปู และกุ้ง ตามดินโคลน

 

เรื่อง จอร์แดน ซาลามา

ภาพถ่าย ทอมัส เพสแชก

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


สารคดีเรื่องนี้นำเสนอโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ร่วมกับโรเล็กซ์ ภายใต้โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก


อ่านเพิ่มเติม พวยน้ำกลางสมุทร ปากแม่น้ำแอมะซอน จุดเริ่มต้นของโลกใต้น้ำอันน่าทึ่ง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.