‘เมืองฟองน้ำ’ (Sponge City) แนวคิดรับมืออุทกภัยของเมืองใหญ่ทั่วโลก

“ภาวะโลกเดือด กำลังทำให้วัฏจักรน้ำทั่วโลกแปรปรวน” 

คำพูดนี้ คือส่วนหนึ่งของบทความจากวารสารเนเจอร์ (Nature) ที่เคยตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสรุปใจความได้ว่า ทุก ๆ  1 องศาเซลเชียสที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น จะทำให้ฝนตกหนักขึ้น 15% และตกในบริเวณที่แคบลง 

ยิ่งไปกว่านั้นบทความเดียวกันยังบอกว่า ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราเพิ่มขึ้นไปแล้ว 1.5 องศาเซลเซียส ตัวเลขนี้อาจจะดูเล็กน้อย ทว่าผลกระทบของมันยิ่งใหญ่นัก 

หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลคือ ‘ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง’ ที่เจอถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีการคาดการณ์ว่าความเสียหายจากน้ำท่วมเมืองอาจสูงถึง 59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2050 และแม้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศจะทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม แต่วิธีการแบบดั้งเดิมที่เน้นสร้างเขื่อน กันแพงกั้นน้ำ และท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ กลับถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่า เพราะนอกจากสิ่งเหล่านี้จะมีต้นทุนสูงแล้ว โครงสร้างถาวรเหล่านี้ยังส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศ และที่แย่ไปกว่านั้นคือพวกมันไม่ยั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤตที่ดูเหมือนจะไร้ทางออกนี้ แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ในฐานะทางเลือกใหม่ในการจัดการน้ำในเมือง นักพัฒนาเชื่อว่าแนวคิดนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ ตอบโจทย์ทั้งด้านการจัดการน้ำ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเมือง และคุณภาพชีวิตของประชากรในระยะยาว

เมืองฟองน้ำคืออะไร ทำไมถึงนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว?

เมืองฟองน้ำ (Sponge City) เป็นแนวคิดการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เมืองสามารถปรับตัว รับมือ และอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ซึมน้ำให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น สวนหลังคา ถนนฟองน้ำ หรือสวนฝน เพื่อช่วยในการดูดซับ กักเก็บ และระบายน้ำส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันได้ดี นอกจากนี้ น้ำที่ถูกดูดซับและกักเก็บไว้ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ ใช้ในการทำความสะอาด หรือเป็นแหล่งน้ำสำรองในยามขาดแคลน ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาแหล่งน้ำภายนอกและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเมือง

แต่ความนิยมของเมืองฟองน้ำ ไม่ได้มาจากการแก้ปัญหาน้ำเพียงเดียว เพราะเมืองฟองน้ำคือการตอบโจทย์ความต้องการของสังคมสมัยใหม่ในหลายมิติ ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญการคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวในมืองฟองน้ำช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้นและเย็นลง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงดีต่อสุขภาพกาย แต่ยังช่วยบำรุงจิตใจให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง

ในแง่ของเศรษฐกิจ แม้ว่าการลงทุนเริ่มต้นอาจสูง แต่ในระยะยาว เมืองฟองน้ำ เป็นเมืองที่ลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ทั้งจากความเสียหายจากน้ำท่วม การประหยัดพลังงานในการทำความเย็นให้กับเมือง การลดต้นทุนในการบำบัดน้ำเสีย รวมไปถึงช่วยเพิ่มมูลค่าอสังการิมทรัพย์ในพื้นที่ ให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนด้วย ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่เมืองฟองน้ำสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก การเป็นผู้นำในการพัฒนาเมืองฟองน้ำสามารถยกระดับสถานะและการลงทุนของประเทศบนเวทีโลก 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เมืองฟองน้ำ จึงไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่กำลังกลายเป็นความจำเป็นสำหรับเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่า เป็นคำตอบสำหรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และความความหวังใหม่ในการสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนในศตวรรษที่ 21 

อู่ฮั่น จากแม่น้ำร้อยสาย กลายเป็นเมืองฟองน้ำ

อู่ฮั่น เมืองใหญ่ริมแม่น้ำแยงซีเกียงในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เคยมีชื่อเสียงในฐานะ “เมืองแม่น้ำร้อยสาย” ด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำนับร้อยที่กระจายอยู่ทั่วเมือง แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้ส่งผลให้พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติเหล่านี้ลดลงอย่างมาก (เหลือแม่น้ำแค่ 30 สาย จาก 100 สาย) นำมาสู่ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูมรสุม

ในปีค.ศ. 2015 รัฐบาลจีนได้เลือกอู่ฮั่นเป็นหนึ่งใน 16 เมืองนำร่องโครงการ “เมืองฟองน้ำ” ของประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อู่ฮั่นได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มุ่งสู่การเป็นเมืองที่สามารถดูดซับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนฟองน้ำยักษ์ 

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการฟื้นฟูทะเลสาบและพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหลืออยู่ ทะเลสาบ Qingshan ซึ่งเคยถูกถมเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการฟื้นฟูให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาด 46,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สวนพฤกษศาสตร์ และทางเดินยกระดับที่สวยงาม สวนแห่งนี้สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 400,000 ลูกบาศก์เมตร และยังช่วยฟอกอากาศ ลดอุณหภูมิในเมือง และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชนานาชนิด

นอกจากนี้ อู่ฮั่นยังเปลี่ยนถนนทั่วเมือง ให้กลายเป็น “ถนนฟองน้ำ” โดยใช้วัสดุพิเศษที่น้ำซึมผ่านได้ในการสร้างถนนและทางเท้า ซึ่งสามารถดูดซับน้ำฝนได้ถึง 30% ช่วยลดน้ำท่วมขังบนถนนและยังช่วยเติมน้ำใต้ดินอีกด้วย ตามแนวถนนและในสวนสาธารณะ มีการสร้าง “สวนฝน” หรือ Rain Gardens นับพันแห่ง ทำหน้าที่กรองมลพิษจากน้ำฝนและชะลอการไหลของน้ำ

ถนนฟองน้ำในเมืองอู่ฮั่น ที่สร้างจากวัสดุที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ดี

ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะ ในปีค.ศ. 2020 ที่เกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 20 ปี อู่ฮั่นก็สามารถรับมือได้โดยไม่เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของเมืองยังดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคุณภาพน้ำในทะเลสาบหลักของเมืองได้รับการปรับปรุงจากระดับ 5 (แย่ที่สุด) เป็นระดับ 3 ภายในเวลาเพียง 3 ปี

ไทเป เมืองฟองน้ำในดินแดนมรสุม

ด้วยนโยบาย Sponge City Taipei ที่เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 2015 เทศบาลไทเปไม่ได้มองน้ำเป็นศัตรูที่ต้องต่อสู้ แต่เป็นเพื่อนที่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เพราะฤดูฝนของไทเปกินระยะเวลานานกว่า 5 เดือน บวกกับพายุไต้ฝุ่นที่มักจะพัดเข้ามาทักทายเกาะไต้หวันไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ลูก พวกเขาจึงเน้นการ ‘ปรับตัว’ มากกว่าการ ‘ป้องกัน’ โดยมีโจทย์ใหญ่คือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้เมืองไทเปมีศักยภาพในการต้านทานน้ำท่วมในฤดูฝนหรือฤดูมรสุม โดยไม่ต้องสร้างโครงสร้างกั้นน้ำ หรือปล่อยให้พื้นที่ใจกลางเมืองกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำฉุกเฉิน

หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นคือการปรับปรุงสวนสาธารณะ Daan Forest Park ให้กลายเป็นสวนฟองน้ำ ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่กว่า 260,000 ตารางเมตร  สวนแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นปอดของเมือง แต่ยังทำหน้าที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ที่สามารถกักเก็บน้ำฝนได้มากถึง 5,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในสวนมีการสร้างแอ่งน้ำ บึงน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก ที่ไม่เพียงแต่ช่วยจัดการน้ำ แต่ยังสร้างระบบนิเวศที่หลากหลายให้กับเมือง

สวนสาธารณะ Daan Forest Park

นอกจากนี้ เทศบาลไทเปยังเปลี่ยนพื้นถนนคอนกรีตและทางเท้าให้กลายเป็นถนนซึมน้ำ ด้วยการใช้วัสดุพิเศษอย่าง PAC (Porous Asphalt Concrete) ที่สามารถดูดซับน้ำฝนลงสู่ชั้นใต้ดินได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เราจึงไม่เคยเห็นน้ำท่วมถนน ในวันที่ฝนตกหนักในไทเปเลย 

และเพื่อรับมือกับมวลน้ำมหาศาลในหน้ามรสุม เทศบาลไทเปได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นผิวถนน ทางเท้า เลนจักรยาน สนามกีฬาโรงเรียน และลานจอดรถสาธารณะทั่วทั้งเมือง ให้กลายเป็นพื้นผิวที่สามารถดูดซับน้ำ โดยดำเนินการไปแล้วกว่า 173,819 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดของสนามบาสเกตบอลถึง 417 สนาม ซึ่งพื้นผิวเหล่านี้มีคุณสมบัติในการลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลล้นออกสู่ท้องถนนในวันที่ฝนตกได้ถึง 7.3-17.85% 

น้ำฝนที่ถูกดูดซับเอาไว้โดยพื้นผิวในบริเวณสวนสาธารณะ ยังสามารถนำไปใช้หมุนเวียนต่อในระบบน้ำภายในสวนเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ น้ำบางส่วนยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่งทั่วเมืองไทเปอีกด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิอาจพุ่งสูงขึ้นเกินกว่า 36 องศาเซลเซียส พื้นผิวที่ทำจากวัสดุดูดซับน้ำเหล่านี้ก็ช่วยลดอุณหภูมิที่พื้นผิวถนนลงได้ถึง 2.05-3.53 องศาเซลเซียส

แต่การเปลี่ยนแปลงของไทเปไม่ได้จำกัดอยู่แค่โครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น เมืองนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในโรงเรียนและชุมชน และส่งเสริมให้ประชาชนสร้าง “สวนฝน” ขนาดเล็กในบ้านของตนเอง

ไทเปในวันนี้จึงไม่ใช่แค่เมืองที่กำลังแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นตัวอย่างของการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของเมืองนี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เมืองที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิอากาศอย่างหนัก ก็สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ไทเปกำลังก้าวเข้าสู่บทใหม่ของการพัฒนาเมือง ที่ไม่เพียงแต่อยู่รอด แต่ยังเติบโตและเฟื่องฟูท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่น ๆ ในเอเชียที่กำลังเผชิญกับความท้าทายคล้ายคลึงกัน

ความท้าทายด้านการจัดการน้ำของกรุงเทพ

ความท้าทายแรกที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญคือภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม มีระดับความสูงเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แถมบางพื้นที่แทบจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเสียด้วยซ้ำ สภาพภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมที่มีฝนตกหนัก น้ำจากทางเหนือไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงจากอ่าวไทยทางใต้ กรุงเทพฯ จึงเปรียบเสมือนแก้วน้ำที่ถูกเติมจากทั้งด้านบนและด้านล่างพร้อมกัน

ปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือการทรุดตัวของแผ่นดิน อันเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้อย่างหนักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันจะมีการควบคุมการสูบน้ำบาดาลแล้ว แต่ผลกระทบก็ยังคงปรากฏให้เห็น บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทรุดตัวลงปีละ 2 เซนติเมตร ทำให้เมืองยิ่งเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากขึ้นทุกปี นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับคาดการณ์ว่าหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง กรุงเทพฯ อาจจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลภายในปีค.ศ. 2050

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายการจัดการน้ำ การขยายตัวของพื้นที่เมืองทำให้พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติลดลงอย่างมาก ทุ่งนาและคลองเก่าแก่ถูกถมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและถนนหนทาง ทำให้น้ำไม่มีที่ไป เมื่อฝนตกหนัก น้ำจึงท่วมขังบนถนนและในชุมชนอย่างรวดเร็ว ระบบระบายน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำมหาศาลที่ไหลมาในคราวเดียวได้

โอกาสที่กรุงเทพจะกลายเป็นเมืองฟองน้ำ 

ในขณะที่แนวคิด Sponge City หรือ เมืองฟองน้ำ เป็นแนวคิดที่จะช่วยเข้ามาจัดการปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในกรุงเทพฯได้ ทว่าการเปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองฟองน้ำ ก็ดูเป็นเรื่องที่ยาก เพราะผลการศึกษาของสถาบันวิจัย Haifeng Jia จากประเทศจีน ในปีค.ศ. 2017 ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนสร้างเมืองฟองน้ำนั้นต้องใช้งบประมาณมหาศาล ราว 15-22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 467-700 ล้านบาทต่อตารางกิโลเมตร ดังนั้น หากจะทำให้ฝันเป็นจริง จึงต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และรัฐบาล ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดัน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจดีหรือในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต เพื่อให้การลงทุนเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น

แม้การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำในพริบตานั้นอาจฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อมองไปยังเมืองไทเปและอู่ฮั่นที่มีลักษณะภูมิประเทศและปัญหาคล้ายคลึงกันแล้ว ความหวังก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เพราะเมืองทั้งสองเองก็เคยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว 

ดังนั้น หากกรุงเทพฯต้องการก้าวสู่การเป็นเมืองฟองน้ำในอนาคต จึงต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ การวางแผนระยะยาว การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไม่ลืมคำนึงถึงความคุ้มค่าของการลงทุนไปพร้อม ๆ กัน ใช่ว่าเราจะเดินตามรอยไปเปและอู่ฮั่นได้ทุกฝีก้าว หากแต่เราสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้แนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างเมืองฟองน้ำในแบบฉบับของเราเอง ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เพื่อให้วันหนึ่ง ฝันของเมืองที่ยั่งยืนและพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วม จะไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป​​​​​​​​​​​​​​​​

สืบค้นและเรียบเรียง

อรณิชา เปลี่ยนภักดี

ที่มา

https://www.theguardian.com

https://www.weforum.org

https://he02.tci-thaijo.org

https://www.xinhuathai.com

https://sdg.gov.taipei

https://urbantransitions.global


อ่านเพิ่มเติม : การเมืองเรื่องน้ำ: ปัญหาการจัดการน้ำในเมืองไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.