ในปีที่แล้ว 2023 ข้อมูลตัวเลขด้านอุณหภูมิได้แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะที่น่าตกใจ โดยพุ่งสูงขึ้นกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก ซึ่งคอยย้ำเตือนว่าสิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนมากเพียงใดในการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ให้สูงเกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส
แต่ดูเหมือนหลายประเทศจะยังไม่ตระหนักถึงอันตรายนี้ การประเมินใหม่โดยหน่วยงานของสหภาพยุโรป ‘โคเปอร์นิคัส ไคลเมท เชนจ์ เซอร์วิส’ (Copernicus Climate Change Service) ซึ่งคอยติดตามสภาพอากาศบนโลกมาอย่างยาวนานระบุว่าในปี 2024 จะเป็นปีแรกตามปฏิทินโลกที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 1.5°C แบบต่อเนื่องเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
“ในตอนนี้ เว้นแต่จะเกิดดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนหรือภูเขาไฟปะทุอย่างรุนแรง… ผมคิดว่าคงพูดได้อย่างเต็มปากนี่จะเป็นปีแรกที่อุณหภูมิสูงกว่า 1.5°C” ซีค ฮาวส์เฟเธอร์ (Zeke Hausfather) จากองค์กรไม่แสวงหากำไรเบิร์กเลย์เอิร์ธ ในสหรัฐฯ กล่าว
ก่อนหน้านี้ตามบันทึกรายงานชี้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวทั่วโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.45°C เมื่อเทียบกับช่วง ค.ศ. 1850-1900 ซึ่งใช้เป็นค่าพื้นฐานของช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ทว่าตัวเลขดังกล่าวนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ใส่ความคลาดเคลื่อนเอาไว้ที่ 0.12°C เนื่องจากใช้ค่าเฉลี่ยของชุดข้อมูลหลัก 5 ชุดในการคำนวณตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก
ขณะเดียวกันในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2024 อุณหภูมิโลกก็พุ่งขึ้นสูงกว่าอุณหภูมิในเดือนเดียวกันของปี 2023 ก่อนหน้า ทำให้ตัวเลขขึ้นไปเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ 1.54°C ทำในักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าปี 2024 นี้จะเป็นปีแรกที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 1.5°C และจะต่อเนื่องต่อไปหากไม่มีการดำเนินอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้สิ่งที่จำเป็นต้องทราบคือ การที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในปีนี้ไม่ได้หมายความว่าเราได้ละเมิดข้อตกลงปารีสทั้งหมด สนธิสัญญานี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วง 30 ปีเกิน 1.5°C ก็จะถือว่าโลกร้อนเกิน 1.5 องศาอย่างถาวร
กล่าวอีกอย่าง ในแต่ละปีจะมีความแปรปรวนตามธรรมชาติเกิดขึ้นเช่นเอลนีโญและลานีญา ซึ่งจะทำให้ปีดังกล่าวอากาศอุ่นขึ้นหรือเย็นลงได้ จึงไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากับแนวโน้มต่อเนื่อง 30 ปีของโลก กระนั้นตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณที่น่ากลัวเนื่องจากแต่ละปีนั้นต่างก็ร้อนเป็นประวัติการณ์
“นี่ไม่ใช่ข่าวดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราผิดข้อตกลง” ดร. ซาแมนธา เบอร์เกส (Samantha Burgess) รองผู้อำนวยการขององค์กรโคเปอร์นิตัส กล่าว แต่มันก็ทำให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายจำนวนมากขึ้นแล้วไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือไฟป่า “เหตุการณ์ประเภทนี้จะเลวร้ายลงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น”
หลายคนยังถกเถียงถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดแนวโน้มความร้อนนี้ ทว่าก็มีคำอธิบายที่ขัดแย้งกันมากมาย บางคนเชื่อว่าดวงอาทิตย์ที่เข้าสู่ช่วงกิจกรรมสูงสุดในปีนี้ทำให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับมลพิษการเดินเรือในปี 2020 ที่ทำให้มลพิษทางอากาศเหนือมหาสมุทรโลกลดลง ซึ่งอาจทำให้โลกดูดซับความร้อนดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่ามลพิษทางอากาศบางชนิดมีผลทำให้เย็นลง
แต่การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ว่ายังคงไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน แต่สาเหตุที่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับกันทั่วไปคือปริมาณก๊าซเรือนจะในชั้นบรรยากาศนั้นมีมากเกินไป
“ปัจจัยหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนี้คือก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ” คาร์โล บูออนเทมโป (Carlo Buontempo) จากโคเปอร์นิตัส กล่าวและเสริมว่า “ปัจจัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยกะทันหัน”
ซึ่งหมายความว่าแม้โลกจะหยุดเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในวันพรุ่งนี้ แต่อุณหภูมิโลกก็จะยังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมหาสมุทรและแผ่นดินโลกจะต้องใช้เวลาสักพักในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศออกไป
แต่สิ่งสำคัญก็คือเรายังคงจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปแม้ว่ามันจะเห็นผลในอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อรักษาอนาคตที่ดีให้กับลูกหลาน
“ความจริงก็คือ ทุกเศษเสี้ยวขององศามีความสำคัญ” ดร. เบอร์เกส กล่าว “ยิ่งเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้เร็วเท่าไหร่ สภาพอากาศของเราก็จะยิ่งคงที่เร็วขึ้นเท่านั้น”
รายงานใหม่นี้ออกมาในช่วงเดียวกับการประชุม COP29 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหประชาชาติซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยประเทศต่าง ๆ จะมาร่วมกันเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปีนี้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าทั่วโลกจะตระหนักถึงวิธีการที่สำคัญที่สุด
“วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศคือความมุ่งมั่นร่วมกันระดับโลกในการลดมลพิษ” บูออนเทมโป ทิ้งท้าย
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา