นับตั้งแต่ จอห์น แวสลีย์ ไฮแอตต์ (John Wesley Hyatt) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันสามารถคิดค้น เซลลูลอยด์ (Celluloids) ได้ด้วยความบังเอิญ เพื่อทดแทนงาช้างที่ใช้ทำลูกบิลเลียด ในปีพ.ศ. 2406 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มนุษย์ก็ไม่ห่างจาก ‘พลาสติก’ อีกเลย
ความสะดวกสบายตั้งแต่วันนั้น ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทิ้งขว้าง จนเดินทางมาจนถึงจุดที่เรียกว่า ‘วิกฤตพลาสติกล้นโลก’ เมื่อองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้ประเมินว่าเราสร้างขยะพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 9% เท่านั้น ที่ได้รับการรีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะถูกเผา ฝังกลบ และที่แย่ที่สุด ก็คือถูกนำไปทิ้งตามหลุมขยะที่ไม่ได้มตราฐาน จนมีพลาสติกมากกว่า 52 ล้านตัน รั่วไหลลงสู่ธรรมชาติในทุก ๆ ปี
นับตั้งแต่ยุค 70s อัตราการผลิตพลาสติกก็เติบโตเร็วกว่าการผลิตวัสดุอื่น ๆ UNEP คาดการณ์ว่า หากแนวโน้มการผลิตยังคงเติบโตในอัตรานี้ต่อไป การผลิตพลาสติกทั่วโลก อาจจะสูงถึง 1,100 ล้านตันต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2593 ซึ่ง 40% ของพลาสติกที่ถูกผลิต จะเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นตัวการหลักของวิกฤตขยะทะเลที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้
เมื่อเราทิ้งขยะพลาสติกอย่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะไม่ถูกที่ หรือการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตราฐาน ขยะเหล่านี้จะถูกพัดพาโดยกระแสน้ำและลม จนในที่สุดก็ไหลไปกองรวมกันที่มหาสมุทร ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับสุดท้ายของโลก
จากงานวิจัยที่ติพิมพ์ในวารสาร Science Advances ในปีพ.ศ.2564 พบว่ามีแม่น้ำกว่า 1,000 สายทั่วโลก มีส่วนในการพัดพาขยะลงสู่ทะเล โดยคิดเป็น 80% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่พบทะเล โดยการปล่อยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ มาจากประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งมีการใช้พลาสติกมากและขาดการจัดการขยะที่เหมาะสม และในช่วงที่มีพายุหรือฝนตกหนัก ปริมาณขยะพลาสติกก็อาจเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่ถูกชะล้างลงสู่เมื่อน้ำในช่วงเวลาปกติ
เมื่อขยะพลาสติกลงสู่ทะเล มันไม่ได้หายไปไหน พลาสติกส่วนใหญ่จะจมลงสู่ก้นทะเลภายในหนึ่งเดือน และเริ่มกระบวนการย่อยสลายที่ใช้เวลานานนับร้อยปี ระหว่างนั้นพลาสติกจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนขยะพลาสติกที่ไม่จมน้ำ ก็จะเกยตื้นบนชายฝั่ง และอาจถูกพัดออกสู่ทะเลอีกครั้ง ซ้ำไปมาอยู่แบบนี้ และถ้ามันมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ณ ตอนนั้นมากพอ ขยะเหล่านี้สามารถเดินทางไปกับคลื่นน้ำและกระแสลมในมหาสมุทร จนรวมตัวกันเป็นแพขยะ (Garbage Patch) กลางทะเลได้
การเกิดแพขยะพลาสติกไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากการสะสมของขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลมาเป็นเวลานาน เมื่อขยะพลาสติกลอยอยู่ในมหาสมุทร มันจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำวน หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘ไจร์’ (Gyre) ซึ่งเป็นระบบกระแสน้ำหมุนวนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในมหาสมุทร กระแสน้ำวนเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเครื่องปั่นยักษ์ที่ค่อย ๆ ดึงดูดขยะจากทั่วทุกมุมโลกให้มารวมตัวกันตรงกลาง ซึ่งแพขยะที่ใหญ่และคุ้นหูเรามากที่สุดก็คือ ‘แพขยะแปซิฟิก’ (Great Pacific Garbage Patch) ที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดราว 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศส
แม้จะเป็นเรื่องที่ยากจะทราบอย่างแน่ชัดว่ามีสัตว์ทะเลจำนวนเท่าไหร่เสียชีวิตจากมลพิษของพลาสติก แต่ก็มีการประเมินอย่างคร่าว ๆ จากมหาวิทยาลัยพลีมัท (University of Plymouth) ประเทศอังกฤษว่า มลพิษจากพลาสติกส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลอย่างน้อย 700 สายพันธุ์ และมีสัตว์ทะเลตายจากพลาสติกปีละประมาณ 100 ล้านตัว
จากจำนวนที่น่าตกใจนี้พบว่านกทะเลเป็นสัตว์ที่กินพลาสติกมากกว่าสัตว์ทะเลทุกชนิดบนโลก โดยมีนกทะเลถึง 90% กินพลาสติกเป็นอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขไม่ได้มานานหลายทศวรรศ ถึงขั้นมีการบัญญัติโรคใหม่ในกลุ่มนกทะเลขึ้นมาเลยทีเดียว
‘พลาสติโคซิส’ (Plasticosis) คือ โรคเกิดจากการกินขยะพลาสติกเข้าไปของนกทะเล ทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร จนเกิดแผลเป็นหรือรอยพังผืด โรคนี้สามารถนำไปสู่การสลายตัวของต่อมท่อในกระเพาะอาหารอย่างช้า ๆ การสูญเสียต่อมท่อเหล่านี้ ส่งผลให้นกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปรสิตมากขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารและการดูดซึมวิตามินบางชนิด จนทำให้นกขาดสารอาหารและป่วยตายได้ในที่สุด
“จะว่าชอบก็ไม่ใช่ จะว่าเข้าใจผิดก็ไม่เชิง” เพราะว่า นักวิทยาศาสตร์เคยอธิบายพฤติกรรมการกินพลาสติกของนกทะเลเอาไว้ว่า พลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลเป็นเวลานานประมาณหนึ่ง จะมีแพลงก์ตอนสาหร่ายมาเกาะ ทำให้มีกลิ่นของสาร Dimethyl Sulfide (DMS) ซึ่งเป็นกลิ่นที่แพลงก์ตอนพืชปล่อยออกมาเมื่อถูกแพลงก์ตอนสัตว์กิน กลิ่นนี้จะดึงดูดให้กุ้งจิ๋ว ปลาจิ๋ว มาล้อมวงกินอาหาร รวมไปถึงนกทะเลที่มารอกินปลาใหญ่ ที่มากินสัตว์ทะเลจิ๋วในบริเวณนี้อีกที ประกอบกับนกทะเลหลายชนิด มีนิสัยย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารด้วยการดมกลิ่น พวกมันจึงบินเข้าหาพลาติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใต้มหาสมุทรที่ลึกลงจนแสงส่องไม่ถึง นักล่าที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกวาฬหัวทุย หรือ วาฬสเปิร์ม (sperm whale) จะต้องพึ่งพาการล่าเหยื่อด้วยเสียงสะท้อนเพียงอย่างเดียวซึ่งทำให้พวกมันล่าเหยื่อในความมืดมิดได้ แต่ปัญหาก็คือสถานที่แห่งนั้นกลับมีสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่นั่นคือขยะพลาสติก
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Marine Pollution Bulletin โดยนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการสัตว์ทะเลแห่งมหาวิทยาลัยดู๊ก (Duke University) ระบุว่าการใช้เสียงสะท้อนเพื่อรับรู้สะภาพแวดล้อมหรือที่รู้จักกันชื่อ เอคโคโลเคชั่น (Echolocation) ทำให้วาฬหัวทุยอาจเข้าใจผิดคิดว่าขยะพลาสติกคืออาหารและกินเข้าไปได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปพลาสติกที่ลอยน้ำ จะมีสาหร่ายและแพลงก์ตอนมาเกาะทำให้มันมีน้ำหนักมากขึ้นและค่อย ๆ จมลง ประกอบกับเสียงที่สะท้อนกลับมากจากพลาสติกดังกล่าวก็เหมือนกับเสียงที่สะท้อนจากเหยื่อตามธรรมชาติของวาฬหัวทุยอย่างเซฟาโลพอด (Cephalopod) มากจนพวกมันสับสน
ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลชนิดอื่นถูกรายงานอย่างต่อเนื่องว่าตายเพราะเผลอกินพลาสติกเข้าไป แต่แมวน้ำและสิงโตทะเลกลับมีแนวโน้มที่จะตายเพราะติดกับขยะพลาสติกมากกว่า ในปีพ.ศ. 2555 เคยมีรายงานว่า จำนวนประชากรของสิงโตทะเลสเตลลาร์ (Steller sea lion) ที่อาศัยอยู่อลาสก้าตะวันออกเฉียงใต้และบริติชโคลัมเบีย ลดลงกว่า 40% จากสี่ทศวรรษที่แล้ว และมีสิงโตทะเล 388 ตัว ตัวติดอยู่ในขยะทะเลหรือเผลอกินอุปกรณ์ตกปลาเข้าไป ละครึ่งหนึ่งของพวกมันก็มีพลาสติกหรืออุปกรณ์ตกปลา ที่ถูกทิ้งจากเรือประมงหรือชายฝั่งรัดคอ
‘อวนผี’ (Ghost fishing net) เป็นเครื่องมือสังหารสัตว์ทะเลที่มีอนุภาคร้ายแรงกว่าพลาสติกหลายเท่า World Animal Protection องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ตีพิมพ์รายงานระบุว่า จำนวนปลาที่ลดลง 5 – 30% มาจากสาเหตุของซากอวนที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเล เพราะแม้ว่าอวนเหล่านี้จะไม่ได้ถูกใช้งานโดยมนุษย์แล้ว แต่มันก็ยังคงสามารถทำหน้าสังหารสัตว์ทะเลต่อไป แม้มันจะเป็น ‘ขยะ’ ได้อีกหลายร้อยปี(ตราบใดที่ไม่มีคนเก็บมันขึ้นมา) อวนผีจะลอยไปดักจับสัตว์ทะเลที่ไม่ระวังตัว เมื่อซากอวนดักสัตว์จนมีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะจมลงสู่ก้นทะเล บางครั้งอาจจะไปปกคลุมปะการัง ส่งผลให้ปะการังตาย เพราะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ และเมื่อซากสัตว์ย่อยสลายจนหมด อวนผีก็จะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ เผื่อดักจับสัตว์ทะเลผู้โชคร้ายต่อไป
ในขณะที่ขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลทั่วโลก คำถามสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ขยะพลาสติกดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่ และก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลของสำนักข่าว Mongabay สำนักข่าวด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหากำไร ระบุว่าปัจจุบันมีไมโครพลาสติก หรือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่บนผิวน้ำในมหาสมุทรมากกว่า 358 ล้านล้านอนุภาค ละยังมีอีกหลายล้านล้านอนุภาคในบริเวณที่ลึกลงไป สถานการณ์การแพร่หลายของอนุภาคไมโครพลาสติกนี้น่าเป็นห่วงเป็นมาก เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในทะเลมักเข้าใจผิดว่าอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้เป็นอาหาร หากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกินเข้าไป ก็จะทำให้เกิดไมโครพลาสติกสะสมในห่วงโซ่อาหาร(Food Chain) ซึ่งในที่สุดแล้วพลาสติกจะมาจบลงบนจานอาหารของเราเอง
เมื่อปีพ.ศ. 2563 มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล หรือ WWF ร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคลาเซิลในออสเตรเลีย ได้ศึกษาหาปริมาณพลาสติกที่มาจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรการบริโภคของมนุษย์ พบว่ามนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากกว่า 5,000 ชิ้น หรือ 5 กรัม ต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับขนาดของบัตรเครดิต 1 ใบ! ซึ่งสารปนเปื้อนที่พบในไมโครพลาสติกมักเป็นสารจำพวกโพลีไซคิลกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน
แม้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า ไมโครพลาสติกจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการรับประทาน และองค์การอนามัยโลก (WHO) เองจะเคยประกาศว่าไมโครพลาสติกที่มนุษย์รับเข้าสู่ร่างกายโดยการกินจะสามารถถูกขับออกมาจากร่างกายผ่านการขับถ่ายได้ แต่ก็มีความกังวลเล็ก ๆ ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า หากไมโครพลาสติกถูกขับออกมาไม่หมด ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น ไปรบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าลง กระตุ้นตัวก่อมะเร็ง เป็นตัวกลางนำสารพิษ และขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด
ซึ่งการขัดขวางการทำงานของเส้นเลือดนี้เอง ที่นักวิทยาศาตร์กำลังจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจากข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567 พบว่าการสะสมของอนุภาคไมโครพลาสติก มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการพบอนุภาคของไมโครพลาสติกฝังอยู่ในคราบพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดงที่คอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง (คราบพลัคทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง) และจากการติดตาม พบว่าผู้ป่วยที่มีคราบพลัคที่ประกอบด้วยอนุภาคของไมโครพลาสติกมีโอกาสเกิดอาการหัวใจวาย เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ ก็ตามมากกว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทั่วไป 4 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
มีการคาดการณ์ว่าในอีก 26 ปีข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ. 2593 มหาสมุทรของเราจะมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา ท่ามกลางภาพอันน่าหดหู่ของวิกฤตขยะพลาสติก ก็ยังพอมีแสงแห่งความหวังที่เริ่มส่องสว่างขึ้นทีละน้อย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความตื่นตัวของผู้คนทั่วโลกที่เริ่มหันมาสนใจปัญหานี้มากขึ้น ภาพของเต่าทะเลที่ติดอยู่ในอวน หรือท้องของนกทะเลที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ได้ปลุกจิตสำนึกสำนึกของผู้คนให้ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้พลาสติกอย่างไม่รู้คุณค่า
ในหลายประเทศ เริ่มมีการออกกฏหมายและนโยบายเพื่อควบคุมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง บางประเทศก็ห้ามใช้ถุงพลาสติก บางประเทศเก็บค่าธรรมเนียม ในขณะที่บางประเทศก็เริ่มบังคับใช้มาตราการให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกที่พวกเขาผลิตขึ้น ภาคธุรกิจเองก็เริ่มปรับตัว มีการคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้
ในชุมชนชายฝั่ง หลายครั้งเราได้เห็นการรวมตัวของชาวประมงพื้นบ้านที่ออกเรือไม่เพียงเพื่อจับปลา แต่ยังช่วยกันเก็บขยะในทะเลด้วย เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่าหากปล่อยให้ขยะเต็มทะเล อาชีพประมงที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ชุมชนเหล่านี้จึงกลายเป็นแนวหน้าในการปกป้องท้องทะเล พวกเขาไม่เพียงเก็บขยะ แต่ยังช่วยสอนเยาวชนและนักท่องเที่ยว ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของทะเล
การจัดการปัญหาขยะพลาสติกนั้นไม่ยากและไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราทุกคนสามารถเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ จากการให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้พลาสติก และแยกขยะทิ้งให้ถูกประเภท เพื่อลดความยุ่งยากในการรีไซเคิล
นอกจากการจัดการขยะพลาสติกที่ใช้แล้ว การเลือกของใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่นหลอดโลหะ ถุงผ้า และกระติกน้ำแบบรีฟิล ก็สามารถลดการใช้พลาสติกได้อย่างมาก และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการจัดการพล่าติกอีกด้วย
อนาคตของทะเลขึ้นอยู่กับการกระทำของเราทุกคน เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นเล็กน้อยเกินกว่าที่จะสรา้งความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อทุกคนร่วมมือกัน พลังเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะรวมกันเป็นพลังมหาศาล เช่นเดียวกับเศษพลาสติกเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันเป็นแพขยะขนาดยักษ์ การกระทำเล็ก ๆ ของเราเมื่อรวมกัน ก็เป็นพลังในการปกป้องท้องทะเลได้เช่นกัน
สืบค้นและเรียบเรียง
อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com
https://www.nationalgeographic.com