การค้นพบนี้ประกาศออกมาพร้อม ๆ กับการประชุม COP29 โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของมหาสมุทรที่กำลังถูกคุกคามจากรอบด้าน พร้อมเน้นย้ำว่าธรรมชาติกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้เราได้รับรู้ว่าความหวังยังคงมีเสมอ หากเราลงมือทำอย่างจริงจัง
เมื่อมองจากผิวน้ำแล้วมันก็ดูเหมือนซากเรืออับปางที่ถูกลืมเลือนไปนานแล้ว แต่เมื่อ มานู ซาน เฟลิกซ์ (Manu San Félix) ช่างภาพใต้น้ำชื่อดังชาวชิลีดำลงไปใกล้ ๆ เขาก็ต้องพบกับความมหัศจรรย์ของปะการังขนาดใหญ่ที่กำลังแผ่กว้างใต้ท้องทะเล
และนั่นเป็นช่วงเวลาที่ทีมพริสทีน ซีส์ (Pristine Seas) ของสมาคมเนชันเนล จีโอกราฟฟิก กล่าวว่าพวกเขาค้นพอาณานิคมปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างการสำรวจในเดือนตุลาคม 2024 ณ หมู่เกาะโซโลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้
มันมีขนาด 34 x 32 เมตรซึ่งยาวกว่าวาฬสีน้ำเงินที่เป็นสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก มันใหญ่โตมโหราฬจนมองเห็นได้จากอวกาศ แต่ทว่ากลับถูกซ่อนไม่ให้ใครเห็นมาเป็นเวลานาน จนนักวิจัยเองก็เกือบพลาดมันไปด้วยเช่นกัน
การค้นพบเรื่องนี้ “เป็นเรื่องบัญเอิญจริง ๆ” มอลลี่ ทิมเมอร์ส (Molly Timmers) นักวิทยาศาสตร์ในทีมสำรวจ กล่าว “เราพบมันในคืนก่อนที่เราจะย้ายไปยังส่วนอื่น ๆ”
ทีมงานระบุว่านี่คืออาณานิคมปะการังที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา ซึ่งประกอบด้วยโพลีป (coral polyps) ที่มีพันธุกรรมเหมือนกันเกือบพันล้านตัวที่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวในอาณานิคมแห่งนี้ราวกับว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน
แม้ว่าปะการังที่เพิ่งค้นพบนี้จะมีสุขภาพดีมาก แต่บรรดานักวิจัยก็ยังกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามมากมายที่ปะการังทุกชนิดต้องเผชิญ รวมถึงภาวะโลกร้อนและการประมงที่มากเกินไป พวกเขาหวังว่าการค้นพบนี้จะสร้างแรงบันดาลใจในการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ทะเลในหมู่เกาะโซโลมอนมากขึ้น
“การค้นพบปะการังขนาดใหญ่ชนิดนี้เปรียบเสมือนกับการค้นพบต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก” เอนริก ซาลา (Enric Sala) นักสำรวจของเนชันเนลจี โอกราฟฟิก และผู้ก่อตั้งทีมพริสทีน ซีส์ กล่าวผ่านอีเมลล์ “การค้นพบนี้ทำให้เรารู้สึกทึ่งและประหลาดใจเกี่ยวกับมหาสมุทรอีกครั้ง”
สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นปะการังแข็งชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Pavona clavus’ หรือปะการังกระดูกสะบัก (shoulder blade coral) เนื่งอจากมันมีเสาที่ “ดูคล้ายกับไหล่” ทิมเมอร์ส บอก โดยส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาล พร้อมกับมีจุดสีเหลือง แดง ชมพู และน้ำเงินแต้มอยู่บ้าง
แม้ว่าปะการังชนิดนี้อาจดูเหมือนก้อนหินขนาดยักษ์ แต่ปะการังก็เป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับแมงกะพรุนและดอกไม้ทะเลซะมากกว่า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่าโพลีปจะมารวมตัวกันเป็นฝูงนับพันตัวเพื่อก่อเป็นอาณานิคม และอาณานิคมต่าง ๆ มากมายก็จะประกอบกันเป็นแนวปะการัง
ซึ่งหมู่เกาะโซโลมอนเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคที่เรียกว่าสามเหลี่ยมปะการัง เนื่องจากมีปะการังหลากหลายชนิดอย่างน่าอัศจรรย์
นักวิจัยเชื่อว่าอาจมีปะการังโพลีปอยู่ถึงเกือบ 1 พันล้านตัวในอาณานิคมยักษ์แห่งนี้ซึ่งล้อมรอบไปด้วยทราย
“มันน่าทึ่งมากที่พวกเขาเพิ่งพบสิ่งนี้ และไม่มีใครสังเกตเห็นมาก่อน” เฮเลน ฟินด์เลย์ (Helen Findlay) นักสมุทรศาสตร์ชีววิทยาจากห้องปฏิบัติการณ์ทางทะเลพลีมัธในสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสำรวจ กล่าว
เนื่องจากหากไม่มีอุปกรณ์ดำน้ำที่ช่วยให้ดำลึกลงไป 13 เมตร ผู้คนชุมชนในพื้นที่ก็อาจคิดได้ว่านี่เป็นเพียงก้อนหินขนาดใหญ่ “ชาวตะวันตกเชื่อกันว่าเราได้สำรวจทะเลชายฝั่งมาหมดแล้ว” ทิมเมอร์ส กล่าว “แต่แท้จริงแล้ว หลายคนเหล่านั้นไม่มีหน้ากากและสนอร์เกิ้ลที่จะลงไปใต้น้ำเพื่อมองเห็นสิ่งเหล่านี้”
โดยปกติแล้วนักวิทยาศาสตร์มักจะใช้ความสูงของปะการังเพื่อประมาณอายุ ซึ่งปะการังกลุ่มนี้สูงเกือบ 5 เมตร มันจึงหมายความว่าน่าจะมีอายุอย่างน้อย ๆ ประมาณ 300 ปีแล้ว แต่ก็อาจเก่าแก่กว่านั้นได้มาก
และสิ่งที่น่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งก็คือโดยปกติแล้ว ปะการังชนิดนี้มักจะมีรูปร่างเป็นโดมเหมือนไอศกรีม แต่ตามที่ทิมเมอร์สอธิบาย “ปะการังชนิดนี้มีลักษณะแบนและลอยไปลอยมา” ราวกับว่าไอศกรีมกำลังละลายอยู่
อย่างไรก็ตามการที่อาณานิคมปะการังแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ขนาดนี้มันจึงมีความหมายอีกนัยว่า สิ่งนี้ผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมามากมาย ทั้งน่าจะเป็นการที่กลุ่มมิชชันนารีคริสเตียนกลุ่มแรกได้มาเยี่ยมเยือนหมู่เกาะโซโลมอนในช่วงศตวรรษที่ 19
เช่นเดียวกันมันก็ยังดำรงอยู่ได้ในช่วงที่มีการลงนามคำประกาศอิสรภาพ สงครามโลกครั้งที่สอง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบัน
“มันทำให้คุณรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ชีวิตสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาจริง ๆ และหล่อเลี้ยงอาณานิคมขนาดใหญ่แห่งนี้” ทิมเมอร์ส กล่าว “มันเหมือนกับว่าบรรพบุรุษของเรายังคงอยู่ที่นั่นในน้ำ”
ตลอดช่วงชีวิต 300 ปี สิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์นี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งในมหาสมุทรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การประมงที่มากเกินไป มลพิษ การพัฒนาเมือง และภาวะกรดในมหาสมุทร ซึ่งเมื่อไปเยี่ยมชมปะการังที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ทีมงานก็พบว่าพวกมันตายไปเป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าอาณานิคมใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้จะอดทนได้มากเพียงใดเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามระดับโลกเหล่านี้ เนื่องจากปะการังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก
“สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนหมีขั้วโลกในเขตร้อน” ฟินด์เลย์ กล่าว
“วิกฤตสภาพอากาศทำให้สมุทรอุ่นขึ้นและมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปะการังทั่วโลก รวมถึงปะการังขนาดใหญ่ด้วย” ซาลา กล่าว เมื่อมหาสมุทรผลิตและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น โมเลกุลเหล่านั้นก็จะไปเปลี่ยนสมดุลค่า pH ของน้ำ ซึ่งอาจทำให้ปะการังเกิดความเครียดได้
เนื่องจากปะการังใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำเพื่อสร้างโครงของมัน ดังนั้น เมื่อน้ำมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงได้ยากขึ้น
“เช่นเดียวกับมนุษย์ ถ้าคุณมีแคลเซียมหรือคาร์บอเนตไม่เพียงพอ กระดูกของคุณก็จะพรุนและเปราะบางได้” ฟินด์เลย์ เสริม “สิ่งเดียวกันนี้ก็อาจเกิดขึ้นกับปะการังได้เช่นกัน หากปะการังไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม”
เนื่องจากปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว โดยมีแนวปะการังกว่า 77 เปอร์เซ็นที่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงจนทำให้เกิดการฟอกขาวในระหว่างปี 2023 ถึง 2024 การพบกลุ่มปะการังขนาดใหญ่ที่ยังมีสุขภาพดี จึงทำให้เกิดความหวังว่าปะการังจะฟื้นตัวได้มากพอที่จะอยู่รอดจากวิกฤตสภาพอากาศ
“เสาหลักแห่งชีวิตยังคงอยู่” ทิมเมอร์ส กล่าว “มันทำให้คุณรู้สึกทึ่งและมีความหวัง เพียงแค่คุณเห็นได้ว่ามันใหญ่แค่ไหน และมันก็อยู่รอดในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีสุขภาพดีเท่าไหร่”
ทิมเมอรส์เชื่อว่าตำแหน่งของปะการัง ซึ่งอยู่ในน้ำที่ลึกและเย็นกว่า พร้อมกับได้รับการปกป้องด้วยความลาดชัดและชั้นหิน ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของปะการังนี้ “มันอยู่ในจุดที่เหมาะสมจริง ๆ” เธอกล่าว
ชุมชนท้องถิ่นหวังว่าการค้นพบนี้จะช่วยให้พวกเขาพยายามปกป้องแหล่งน้ำอย่างเป็นทางการได้ สำหรับหมู่เกาะโซโลมอนแล้ว แหล่งน้ำต่าง ๆ ถือเป็นธรรมเนียนปฏิบัติที่ยึดถือกันมา ซึ่ง “หมายความว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ” ทิมเมอร์ส อธิบาย
หมู่เกาะโซโลมอนได้ปกป้องแหล่งน้ำเหล่านี้โดยไม่เป็นทางการมาประมาณ 14 ปีแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากทั่วประเทศด้วยเช่นกัน
สำหรับซาลาแล้ว การค้นพบปะการังขนาดยักษ์นี้ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเร่งด่วนในการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติของโลก หากโลกร้อนพุ่งสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็อาจส่งผลร้ายต่อแนวปะการังได้ การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการปกป้องมหาสมุทร 30% ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ทว่าปัจจุบันมีเพียง 8.4 เปอร์เซ็นของมหาสมุทรเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องโดยกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ การค้นพบนี้ได้รับการประกาศในขณะที่ผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อเข้าร่วมการประชุม COP29 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็พบหลักฐานที่ว่า ‘สามเหลี่ยมปะการัง’ หรือก็คือพื้นที่มหาสมุทรเขตร้อนที่รวมถึงหมู่เกาะโซโลมอน รวมถึงบางส่วนของประเทศเช่นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อาจมีความทนทานต่อการฟอกขาวมากกว่าที่คิด
ดังนั้นหลังจากการได้เห็นสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่โดนทำลาย การค้นพบสิ่งที่น่าทึ่งเช่นนี้ทำให้ทิมเมอร์สรู้สึกเหมือนปะการังกำลังร้องตะโกนว่า “เรายังอยู่ที่นี่ อย่าเพิ่งลีมเรา”
แปล
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com