น้ำท่วมภาคใต้ถึง COP29 ผลกระทบจากโลกร้อนและความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม

จากน้ำท่วมภาคใต้ ถึงการประชุมCOP29 โจทย์ใหญ่ของไทยและโลกสำหรับการรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

3 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 4 ยืนยันว่าในช่วงวันที่ 3-5 ธันวาคมนี้ หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกา ซึ่งเมื่อประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลางแล้ว จะทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือนว่าให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.–10 ธ.ค. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งคาดว่าจะเกิดการล้นตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ

จนถึงวันนี้หลายจังหวัดในภาคใต้โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทย กำลังเผชิญกับฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมครั้งรุนแรงในรอบหลายปี และเหตุการณ์ฝนตกหนักจนน้ำท่วมครั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยในปี 2554 โดยเฉพาะสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และเกิดฝนตกหนักมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 วัน

ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาตลอด อธิบายว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาวะ “เอลนีโญ” สู่ภาวะปกติ และกำลังจะเข้าสู่ “ลานีญา” ซึ่งเห็นได้จากเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่พัดเข้ามาจากทะเลจีนใต้ โดยที่อิทธิพลของพายุทำให้เกิดอุทกภัยในช่วงต้นปีและกลางปีจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่จากภาคเหนือ

“ปริมาณฝนไม่ได้มากกว่าปกติ แต่สังเกตว่าฝนรอบนี้มาช้า และตกต่อเนื่องนานหลายวัน ทำให้ปริมาณฝนในช่วงสั้นๆนี้มีจำนวนมาก เปรียบได้กับว่าหากตกเฉลี่ยทั้งฤดูปริมาณฝนต่อวันจะไม่ได้มากขนาดนี้และสามารถจัดการได้ แต่เมื่อมาตกในช่วงพฤศจิกายนจึงทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่มากเป็นพิเศษ” ผศ.ดร.สมพร ให้สัมภาษณ์ National Geographic ฉบับภาษาไทย

ภาพสถานการณ์น้ำคลองภูมี อ.ควนเนียง จ.สงขลา เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 (ภาพจากเฟสบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ จังหวัดสงขลา)

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งติดตามปัญหาความเปลี่ยนทางทางสภาพภูมิอากาศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนหนึ่งว่า “ระดับน้ำของแม่น้ำสายบุรี จ.ยะลา คงพออธิบายฝนตกแบบ Extreme weather ให้เพื่อนธรณ์เข้าใจได้ เพราะการที่ฝนตกแบบไม่ลืมหูลืมตา และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว Extreme Weather ซึ่งปีนี้คนไทยโดนธรรมชาติเล่นงานอย่างหนัก ตั้งแต่เหนือสุดจนถึงใต้สุดของสยาม”

ทั้งปีนี้เราโดนตั้งแต่เหนือสุด (แม่สาย) จนถึงใต้สุด (ยะลา) ฝนตกภาคใต้ในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี แต่โลกร้อนทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น อากาศยิ่งร้อนเพิ่มทุก 1 องศา จุไอน้ำเพิ่ม 7% เมฆยุคโลกร้อนจึงเต็มไปด้วยน้ำ ฝนตกในช่วงเวลาเท่าๆ เดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม เราจะเห็นข่าวว่าปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มม. เยอะมาก

มองไปข้างหน้า มี 3 เรื่องน่าห่วงในยุคโลกร้อน

  1. Extreme weatherคือความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลกต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี (World Economic Forum)
  2. ฝนในลักษณะนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ คำว่าฝนหนักในรอบ 30-50 ปี จะกลายเป็นฝนปกติเจอกันแทบทุกปี โดยเฉพาะเมืองไทยที่อยู่ในเขตเจอฝนโลกร้อนหนัก
  3. ไทยติดTOP10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนรุนแรงสุดในเรื่องฝน-น้ำท่วม สถานการณ์ที่เจอตลอดปี บอกเราแล้วว่าต่อจากนี้แค่เยียวยาคงไม่พอ เราต้องยกระดับในทุกด้านเพื่อรับมือภัยพิบัติ

การเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความสุดขั้วของลมฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น

รายงานจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2021 พบว่าสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ ทั้งอุณหภูมิสุดขั้ว ภัยแล้งรุนแรง สภาวะฝนสุดขั้ว และพายุหมุนเขตร้อนรุนแรง มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยหรือตามสภาวะโลกร้อน และหากไม่ดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ผู้คนทั่วโลกกว่า 216 ล้านคนอาจต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศภายในปี ค.ศ. 2050

ตัวอย่างจากผลกระทบของสภาวะสุดขั้วของดินฟ้าอากาศ รายงานข้างต้นระบุว่า อาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งในพื้นที่รับและส่งผู้อพยพ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เคยประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือประมงที่อาจย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้พื้นที่เมืองต้องรองรับประชากรมากเกินศักยภาพที่มี โดยมี 6 ภูมิภาคทั่วโลก1 ที่เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มสูงที่จะประสบปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาจากดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) พบว่า ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และมีรายงานที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000–2019 โดยส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ถึงเช่นนั้นภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน

“เช่น ภาคท่องเที่ยว หากอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรง น้ำแล้ง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวและทำให้โครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย

ภาคอุตสาหกรรม กระทบต่อกระบวนการผลิตและทำให้โรงงานหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย

ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง ได้รับผลกระทบต่อผลิตผลของพืชและสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการเกษตร สร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตรของไทยในช่วงปี ค.ศ. 2021–2045 คิดเป็นมูลค่า 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง”

COP29 กับความเปราะบางด้านสิ่งแวดล้อมไทยและโลก

ถึงตรงนี้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือโจทย์ใหญ่ที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ

การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศคืออะไร? คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)  นิยามว่า  “เป็นการปรับเปลี่ยนระบบธรรมชาติหรือระบบของมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อลด “ความเปราะบาง” ของระบบทางชีววิทยาและสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะฉับพลันและชดเชยกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ถึงเช่นนั้น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ระบบประกันภัยด้านสภาพภูมิอากาศ

ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ขององค์การสหประชาชาติในกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน หรือ COP29 มีการพูดถึงการรับมือสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และหนึ่งในนั้นมีเรื่องการกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากเรื่องกองทุน ประเด็นที่ถูกพูดอย่างต่อเนื่องมาตลอดในเวที COP คือ Water for Climate Action initiative หรือการบริหารจัดการน้ำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

อย่าลืมว่า “น้ำ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในมิติท่ามกลางความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม และในที่การประชุม COP ในแต่ละครั้งก็มีถ้อยแถลงสารสำคัญว่าด้วยเรื่อง “น้ำ”

อาทิ ใน COP26 ได้มีหัวข้อ Water for Climate Pavilion โดยยกระดับความสำคัญของน้ำในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการใช้น้ำอย่างยั่งยืน เรียกร้องให้นำแนวทางการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม

COP 27 เรียกร้องให้มีการปรับตัวและความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะที่COP28 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน้ำจืดทั่วโลก

 ส่วน COP29 เองก็มีการเปิดตัวโครงการ Water for Climate Action ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติ โดยแนวทางนี้เป็นการให้คำมั่นที่จะใช้แนวทางแบบบูรณาการในการต่อสู้กับสาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อลุ่มน้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ ในแหล่งน้ำ

หันกลับมาที่ไทยในระหว่างที่เรากำลังเจอปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ และเวลานี้เองที่เรากลับมาตั้งคำถามถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ และวางแผนรับมือกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

โดยเฉพาะแผนการรับมือความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติท่ามกลางความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเราต่างรู้ดีว่านี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

คำพูดที่ว่า ฝนตกหนักที่สุดในรอบ… น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ... ก็จะเป็นถ้อยคำในข่าวที่เราจะได้ยินกันอีก

 

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ จ.สงขลา

อ้างอิง

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ทำเนียบรัฐบาล

https://cop29.az

 


อ่านเพิ่มเติม : ‘เมื่อทะเลมีพลาสติก มากกว่าปลา’ จากความสะดวกสบายสู่หายนะใต้ท้องทะเล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.