ภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่สีเขียวในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 35 ปีก่อน

 “แอนตาร์กติกามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบกับ 35 ปีก่อน

ทั้ง ๆ ที่มันควรจะถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง”

ในปี 1975 องค์การอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ นาซา (NASA) ได้ร่วมมือกับสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกาส่งดาวเทียมที่มีชื่อว่า ‘แลนด์แซต’ (Landsat) ขึ้นสู่อวกาศเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโลกของเราและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายหลายล้านภาพ 

ดาวเทียมเหล่านี้คอยมองดูไฟป่าที่ลุกไหม้ เมืองที่ขยายตัว ป่าไม่ที่ถูกตัดโค่น ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย และมหาสมุทรที่ปนเปื้อน ซึ่งเผยให้เห็นว่าโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความน่าตกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์มากที่สุดคือ พื้นที่สีเขียวในแอนตาร์กติกา 

“ผลการศึกษาของเราได้ยืนยันว่าอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากมนุษย์นั้นไม่มีขีดจำกัด” โทมัส โรแลนด์ (Thomas Roland) นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์และผู้เขียนรายงานใหม่นี้ กล่าวกับซีเอ็นเอ็น (CNN)

“แม้แต่คาบสมุทรแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างห่างไกลและโดดเดี่ยวที่สุด ภูมิประเทศของมันก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป และผลกระทบนั้นก็สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ” 

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature Geoscience ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซต 5 ถึง 8 ที่เก็บรวมรวมไว้เป็นเวลานานกว่า 35 ปี เพื่อวัดการกระจายของพืชพรรณในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การตอบสนองของพืชต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแห่งนี้ 

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีพืชพรรณปกคลุมหรือเรียกอีกอย่างว่า ‘พื้นที่สีเขียว’ บนคาบสมุทรแอนตาร์กติกานั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับตอนแรก โดยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 0.86 ตารางกิโลเมตรในปี 1986 เป็น 11.95 ตารางกิโลเมตรในปี 2021 

การแผ่ขยายตัวพืชสีเขียวในภูมิภาคที่หนาวเย็นที่สุดในโลกนี้เริ่มต้นด้วยมอสและไลเคน ซึ่งมอสนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสายพันธุ์นักบุกเบิกอยู่แล้ว พวกมักเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกสุดที่ย้ายเข้าไปในแหล่งอาศัยใหม่ ๆ แม้จะไม่มีท่อลำเลียงเหมือนพืชที่ซับซ้อนกว่า แต่ก็แลกมาด้วยความแข็งแกร่และทนทานถึงที่สุด 

จนสามารถเติบโตได้บนหินเปล่า ๆ ที่สภาพแวดล้อมมีสารอาหารต่ำ มอสเหล่านี้ก็จะกลายเป็นรากฐานให้พืชอื่น ๆ ตามมาได้เนื่องจากมันจะหลั่งกรดซึ่งละลายหินและสร้างสารอินทรีย์เมื่อพืชตาย แม้พื้นที่สีเขียวจะยังถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะบริเวณคาบสมุทรที่อบอุ่นกว่า แต่มันก็ค่อย ๆ ขายไปตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น 

“เมื่อระบบนิเวศเหล่านี้เริ่มมีการตั้งรกรากมากขึ้นและสภาพอากาศยังคงอบอุ่นขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าจะมีความเขียวเพิ่มขึ้น” ดร. ออลี่ บาร์ตเล็ตต์ (Olly Bartlett) นักวิทยาศาสตร์หนึ่งในทีมงาน กล่าว “ดินในแอนตาร์กติกาส่วนใหญ่มีสภาพไม่ดีหรือแทบไม่มีเลย แต่การที่มีพืชเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์วัตถุและส่งเสริมการสร้างดิน” 

“ซึ่งอาจปูทางให้พืชชนิดอื่นเติบโตได้ สิ่งนี้เพิ่มความเสี่ยงที่พืชต่างถิ่นและพืชรุกรานจะเข้ามา โดยอาจมาทางนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นักวิทยาศาสตร์ หรืแม้แต่ผู้มาเยือนจากทวีปอื่น ๆ” 

แผนที่จากดาวเทียมแสดงให้เห้นว่าพื้นที่สีเขียวเหล่านี้อยู่บนที่ที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมโดยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลราว 300 เมตร ส่วนใหญ่เป็นมอสที่เติบโตแผ่กระจายเป็นพรมขนาดใหญ่ การตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนเผยให้เห็นว่าพวกมันมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 

“เมื่อเราคำนวณตัวเลขครั้งแรก เราแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง อัตราดังกล่าวค่อนข้างน่าตกใจโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” ดร. บาร์ตเล็ตต์ กล่าวเสริม “จากตัวอย่างแกนกลาง เราคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเขียวบ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างที่เราได้รายงานไว้”

ภูมิภาคแอนตาร์กติกากำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลทำให้ธารน้ำแข็งละลายเท่านั้น แต่ยังทำให้น้ำแข็งในทะเลหดตัวลงและมีน้ำจืดมากขึ้น ผู้เขียนระบุว่าก๊าซเรือนกระจกเองก็อาจทำให้รูปแบบของลมในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปได้ด้วยเช่นกัน 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อน้ำแข็งละลายมากกว่านี้และทำให้พืชแพร่กระจายไปทั่วแอนตาร์กติกามากขึ้นนั้น ทั้งในด้านระบบนิเวณ ความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมด คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบ 

“เรากำลังเริ่มคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากที่น้ำแข็งละลาย” โรแลนด์ กล่าว “เราต้องไปยังสถานที่เหล่านี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงโดดเด่นที่สุด และดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่จริง” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com

https://www.sciencealert.com

https://edition.cnn.com

https://earth.org


 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.