ทำไมแสงแดดถึงร้อนแรงขึ้นทุกปี? ผลวิจัยชี้เกิดจากปริมาณเมฆที่ปกคลุมบนท้องฟ้าที่ลดลง

ทำไมแสงแดดถึงร้อนแรงขึ้นทุกปี? ผลวิจัยชี้เกิดจากปริมาณเมฆที่ปกคลุมบนท้องฟ้าที่ลดลง

แสงแดดแรง อุณหภูมิโลกในช่วงสองปีที่ผ่านมาสูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการปกคลุมของเมฆที่ลดลง

การปกคลุมของเมฆลดลง

อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ แนวโน้มนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลายอย่างที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยปี 2023 ที่ว่าร้อนแล้ว กลับถูกทำลายสถิติอย่างรวดเร็ว เมื่อข้อมูลจากระบบ ERA5 ของโครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส เปิดเผยถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกวงรอบ 12 เดือนคือ นับจากเดือนตุลาคม 2023 – เดือนกันยายน 2024 มีค่าสูงถึง 1.62 องศาเซลเซียส โดยอยู่เหนือกว่าเส้น 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสไปมาก ขณะที่นี้​อุณหภูมิผิวน้ำทะเล 6 เดือนแรกของปี 2024 ยังสูงกว่าปีที่แล้วซึ่งเคยเป็นปีที่ทำสถิติสูงสุดมาแล้ว​

ดังนั้น ปี 2024 ปีจึงเป็นปีที่ร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และตลอดช่วงฤดูร้อน ปี 2024 ก็ยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยแม้ว่าหลังจากคำนึงถึงผลกระทบจากภาวะก๊าซเรือนกระจกและปรากฏการณ์เอลนีโญที่เป็นรูปแบบตามธรรมชาติซึ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถอธิบายถึงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส (0.36 องศาฟาเรนไฮต์) ได้ ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร มีพลศาสตร์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงภูมิอากาศของโลกที่สูงขึ้นคือพบว่าการปกคลุมของเมฆลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แสงสามารถเข้าถึงและทำให้พื้นผิวของโลกร้อนมากขึ้น แทนที่จะถูกสะท้อนกลับไปสู่นอกโลก

งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Science เปิดเผยว่า การลดลงโดยรวมของอัลเบโด้ (อัตราส่วนเปรียบเทียบค่าการสะท้อนแสงของพื้นผิว กับ ปริมาณรังสีทั้งหมดที่ตกกระทบ) ในโลกอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความผิดปกติของอุณหภูมิที่รู้สึกได้ตั้งแต่ปี 2023 โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์เริ่มลด ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทำให้โลกมีพื้นที่สีขาวบนโลกที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศได้น้อยลง

ฮัลเก้ เกอส์ลิ่ง นักฟิสิกส์ภูมิอากาศจากสถาบัน Alfred Wegener ในเยอรมนี ผู้เขียนงานชิ้นนี้ กล่าวว่า “สิ่งนี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของรังสีจากดวงอาทิตย์บนโลกที่พบได้อย่างชัดเจน”

ปรากฏการณ์เรือนกระจก ต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

การศึกษาและจำลองพฤติกรรมของก้อนเมฆที่เชื่อมโยงกับในโลกที่ร้อนถือเป็นหนึ่งในแง่มุมที่ยากที่สุดของการเรียนรู้ระบบภูมิอากาศ ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้ช่วยตอบคำถามว่าโลกมีความอ่อนไหวต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด โดยหากปริมาณเมฆปกคลุมที่ลดลงไม่ได้เป็นผลมาจากความบังเอิญ มันอาจหมายความว่าโลกกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้

งานวิจัยตัวใหม่นี้อ้างอิงจากการวิเคราะห์แบบจำลองสภาพภูมิอากาศและข้อมูลดาวเทียมของ NASA เกี่ยวกับการสะท้อนแสงของโลก โดยสรุปสาเหตุที่เป็นไปได้ว่าทำไมเมฆระดับต่ำจึงมีการปริมาณน้อยลง แต่ไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าแต่ละปัจจัยมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ทางเลือกหนึ่งคือกระบวนการทางธรรมชาติแยกจากปกติชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณเมฆปกคลุมลดลง ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ที่ความแปรปรวนทางธรรมชาติทำให้พื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ และนั่นทำให้ฟิสิกส์ของการก่อตัวเมฆเปลี่ยนไป เมื่อเมฆน้อยลงก็จะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น มนุษย์รับรู้ได้ถึงแสงแดดที่ร้อนแรงกว่าเดิม เนื่องจากหลายพื้นที่ขาดเมฆซึ่งทำหน้าที่ป้องกัน รวมถึงลดทอนความรุนแรงของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังพื้นโลก

3 ปัจจัยที่ทำให้การก่อตัวของเมฆลดลง

ปัจจัยแรกคือข้อสันนิษฐานว่าเกิดจาก กระบวนการทางธรรมชาติที่อาจแปรปรวนจากปกติเพียงชั่วคราว ทำให้การปกคลุมของเมฆลดลง อาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ทำให้ผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้นและทำให้การก่อตัวของเมฆเปลี่ยนไป โดยมีงานวิจัยระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมฆระดับเมฆชั้นต่ำบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกมีปริมาณลดลงอย่างมาก

ความเป็นไปได้ข้อที่สองเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการเดินเรือ-การขนส่งทางทะเล โดยองค์การการเดินเรือระหว่างประเทศในปี 2020 ได้กำหนดขีดจำกัดเกี่ยวกับปริมาณกำมะถันที่อนุญาตในเชื้อเพลิงทางทะเล นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า การลดจำนวนอนุภาคกำมะถันที่ก่อให้เกิดมลพิษในชั้นบรรยากาศ กลับส่งผลกระทบต่อการลดการก่อตัวของเมฆในทะเล

ทั้งนี้ ปริมาณละอองลอยในชั้นบรรยากาศลดลง จนไม่สามารถดูดซับความชื้นในบรรยากาศก่อตัวเป็นเมฆได้ เป็นผลมาจากการลดมลพิษจากการขนส่งทางทะเล ที่มุ่งลดการปล่อยซัลเฟอร์หรือกำมะถันที่เป็นอันตรายของอุตสาหกรรมนี้ ทว่า การลดมลพิษในครั้งนี้ แม้จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์โลก แต่ขณะเดียวกันมลพิษประเภทนี้กลับมีผลช่วยทำให้โลกเย็นลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากทำให้เมฆมีสีสว่างขึ้น

“อนุภาคกำมะถันทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสควบแน่นของเมฆ พวกมันจึงสามารถทำให้เมฆสว่างขึ้นและมีอายุยาวมากขึ้น” ฮัลเก้ เกอส์ลิ่ง กล่าว

ด้านปัจจัยที่สาม คือวงจรย้อนกลับที่ไม่ปรากฏหลักฐานในระบบภูมิอากาศที่ทำให้เมฆลดลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน เมื่อวิเคราะห์ทั้ง 3 ปัจจัย

อาจสรุปได้ว่า สภาพภูมิอากาศของโลกมีความอ่อนไหวต่อต่อมลพิษจากมนุษย์มากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดไว้ มนุษยชาติจึงเข้าใกล้เป้าหมายที่จะเกินกว่าที่ผู้นำโลกกำหนดไว้สำหรับการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยความร้อนของโลกทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

กระนั้น เซเก้ เฮาส์ฟาเธอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสภาพภูมิอากาศของบริษัท Stripe และนักวิทยาศาสตร์การวิจัยของ Berkeley Earth ยังไม่ยืนยันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเมฆลดลง “เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของเมฆเหล่านี้ เกิดจากความแปรปรวนในระยะสั้น และจะกลับสู่สภาวะปกติหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไป หรือมันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงถาวรครั้งใหม่ของสภาพอากาศโลกกันแน่” เขาแสดงความคิดเห็น

จากข้อมูลของสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ พบว่าอุณหภูมิพื้นดินและพื้นผิวมหาสมุทรโดยเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 2.12 องศาฟาเรนไฮต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ซึ่งความพยายามของผู้นำโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงไม่เพียงพอ อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 3 องศาเซลเซียส (5.4 องศาฟาเรนไฮต์) โดยเฉลี่ยสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส

ล่าสุด การประชุม COP29 ได้ข้อกำหนดว่ารัฐภาคีต้องจัดทำข้อตกลง ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions: NDCs) ฉบับใหม่ขึ้นในปี 2025 นับเป็นข้อกำหนด NDC 3.0 ที่ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ภายในปี 2035 ซึ่งยังคงใช้ตัวเลขเป้าหมายเดิมจากข้อตกลงปารีส คือกลับไปที่การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกับการที่รัฐภาคีที่จะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในทุกปี ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพจาก Dmitry Gorilovskiy

อ้างอิง

https://www.nbcnews.com


อ่านเพิ่มเติม : ภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่สีเขียวในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 35 ปีก่อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.