ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ ไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกที่เต็มไปหมดทั้ง บนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดและใต้ทะเลลึกหลายสิบกิโลเมตรก็ยังหนีไม่พ้น อนุภาคเล็กเหล่านี้เข้าไปอยู่ทุกที่ทั้งในอาหาร ในน้ำดื่มและแม้แต่ในเนื้อเยื่อร่างกายของเรา
โดยงานวิจัยเมื่อปี 2022 ประเมินไว้ว่าเรารับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบในทุก ๆ สัปดาห์ ดังนั้นมันจึงเป็นคำถามกลับไปว่าเราจะสามารถลดไมโครพลาสติกได้ในด้านใดบ้าง นักวิทยาศาสตร์บางคนพยายามพัฒนาวัสดุอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บางคนหาวิธีดักจับพลาสติกก่อนถูกปล่อยลงในระบบนิเวศ และบางคนก็พยายามหาทางกำจัดมัน
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้เผยแพร่รายงานใหม่บนวารสาร Science Advances ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ‘นี่แหล่ะคือวิธีที่จะเอาชนะพลาสติกได้’ ด้วยฟองน้ำชนิดใหม่ที่ทำจากกระดูกปลาหมึกและฝ้าย ที่สามารถดูดซับอนุภาคพิษได้มากถึงร้อยละ 99.9 ในน้ำประปา น้ำบาดาล น้ำทะลสาบ และน้ำทะเล
“โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่จากไมโครพลาสติก และระบบนิเวศทางน้ำเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบ” หยาง อู๋ (Yang Wu) และทีมวิจัยจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ประเทศจีน กล่าวในรายงาน
“และแม้จะมีนโยบายต่าง ๆ มากมายเช่นการลดปริมาณผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดการขยะและการรีไซเคิลในสิ่งแวดล้อม แต่มลพิษจากไมโครพลาสติกก็ยังคงไม่สามารถย้อนกลับได้ อีกทั้งยังได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น” พวกเขาเสริม
ไมโครพลาสติกเหล่านี้คือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเกิดขึ้นได้จากพลาสติกทุก ๆ แหล่งตั้งแต่ยางรถยนต์ที่ค่อย ๆ แตกออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่อรถวิ่ง (และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนยางเป็นประจำ) ไปจนถึงไมโครบีตเล็ก ๆ ในผลิตภัณฑ์ขัดผิวเพื่อบำรุงและความสวยงาม
รายงานในปี 2020 ที่เผยแพร่ไว้บนวารสาร Frontiers in Marine Science ชี้ว่ามีไมโครพลาสติกอยู่บนพื้นมหาสมุทรมากถึง 14 ล้านเมตริกตัน ยังไม่รวมพลาสติกชิ้นใหญ่ ๆ อีกที่ทั้งลอยอยู่และจมลงในผืนน้ำสีฟ้าที่กว้างใหญ่ของโลก “นี่คือหนึ่งในความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของคนรุ่นนี้” พวกเขาเขียน
แต่สิ่งเลวร้ายยังไม่จบ มีการประเมินกันว่าแม้ทั้งโลกจะหยุดใช้พลาสติกในทันทีตอนนี้ แต่พลาสติกที่เราใช้อยู่จะยังคงอยู่และก่อให้เกิดไมโครพลาสติกต่อไปอีกหลายร้อยปี เข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตพร้อมกับน้ำมลพิษอย่างสารเคมีตลอดกาล (PFAS) เข้าไปด้วยซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคอื่น ๆ อีกมากเพิ่มขึ้น
การกำจัดไมโครพลาสติกตัวร้ายออกไปจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น โดยวิธีการดูดซับพลาสติกก่อนหน้ามักมีราคาแพงและทำได้ยาก อีกทั้งยังไม่สามารถปรับขนาดได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นจึงสร้างสรรค์วิธีใหม่ด้วยการใช้กระดูกหมึกที่มีต้นทุนต่ำและหาได้ง่าย
ฟองน้ำตัวใหม่นี้ทำมาจากไคตินที่สกัดจากกระดูกของหมึกและเซลลูโลสของฝ้าย ซึ่งอย่างหลังมักเป็นวัสดุที่ใช้ในการแก้ปัญหามลภาวะต่าง ๆ ได้ดี แต่เมื่อเสริมด้วยไคตินเข้าไปผู้เขียนระบุว่าทำให้ฟองน้ำมีประสิทธิภาพเสถียรขึ้นในทุกสภาวะของน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นน้ำในคลองชลประทาน น้ำในทะเลสาบ น้ำทะเล และน้ำบาดาลต่างก็มีประสิทธิภาพสูงถึง 99.9% และสามารถดูดซับพลาสติกได้ 95-98% หลังจากผ่านกระบวนการไปได้ 5 รอบ ซึ่งถือว่ามีความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่สูง
“(ฟองน้ำ) มีศักยภาพอย่างมากในการนำไปใช้ในการสกัดไมโครพลาสติกจากแหล่งน้ำที่ซับซ้อน” ทีมวิจัยเขียน
ขณะที่ ชิมา เซียจาฮรอมิ (Shima Ziajahromi) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย ผู้ซึ่งศึกษาไมโครพลาสติกเสริมว่า การใช้หมึก-ฝ้าย-ฟองน้ำนี้ “มีแนวโน้มที่ดี” และอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง “ในการทำความสะอาดระบบนิเวศทางน้ำที่มีความเสี่ยงสูงและเปราะบาง”
อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังไม่ได้กล่าวถึงไมโครพลาสติกที่จมลงในตะกอน ซึ่งเป็นไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ในน้ำของเราและเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในการกำจัดไมโครพลาสติก ทั้งนี้ผู้เขียนกล่าวว่าฟองน้ำสามารถจำลองการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ภายในไม่กี่ปี เพื่อนำไปทดสอบในระดับที่ใหญ่ขึ้น
หากมันประสบความสำเร็จ ฟองน้ำก็สามารถนำไปใช้กับระบบเครื่องกรองภายในบ้าน ในท้องถิ่น ในเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และแหล่งมลพิษไมโครพลาสติกอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา