เฮลิคอปเตอร์ลงจอด บนยอดหน้าผา ใบพัดของมันหมุนตัดอากาศเย็นเยือก จีนา โมสลีย์ ก้าวลงมาพร้อมกับสูดหายใจเฮือกใหญ่ พลางกวาดสายตาซึมซับภูมิทัศน์อันเวิ้งว้างของกรีนแลนด์ ทางทิศใต้ ทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งทอดยาวหลายกิโลเมตรจนกลืนหายเป็นที่ราบสูงสีเทาสลับน้ำตาล พาดตัดด้วยเส้นสายธารน้ำแข็งสีขาวที่เห็นอยู่ลิบๆ ส่วนทางทิศเหนือ ราว 900 กิโลเมตรหลังเส้นขอบฟ้าคือขั้วโลกเหนือ เพื่อนมนุษย์ทั้งหมดที่อยู่ตรงนั้นด้วย คือคนขับเฮลิคอปเตอร์กับผู้โดยสารที่เหลือ ได้แก่ ร็อบบี โชน คู่ชีวิตของโมสลีย์และช่างภาพของเรื่องนี้ และคริส เบลกลีย์ ผู้เชี่ยวชาญการปีนเขาเฉพาะทาง สภาพอากาศถือว่าดี อุณภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งเล็กน้อย เรียกว่าเหมาะเจาะก็ว่าได้ แต่โมสลีย์รู้ดีว่า พายุอาจก่อตัวฉับพลันอย่างไม่มีวี่แวว นำพาลมกระโชกและหมอกหนาเข้ามา ในกรณีนั้น พวกเขาต้องออกจากพื้นที่ทันที หาไม่ก็เสี่ยงที่จะติดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทั้งอันตรายและห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พวกเขาอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับการค้นพบสำคัญยิ่งทางวิทยาศาสตร์
เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่โมสลีย์ นักภูมิอากาศบรรพกาลและนักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ได้แต่นึกภาพช่วงเวลานี้ โดยหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมแรกที่ได้ย่างก้าวเข้าไปในถ้ำวูล์ฟแลนด์ (WUL-8) ถ้ำที่ตัดขาดห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เธอฝันถึงการเก็บตัวอย่างที่จะเปิดหน้าต่างบานใหม่สู่ประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของกรีนแลนด์
เธอเคยเห็นถ้ำนี้คร่าวๆ ครั้งแรกจากภาพถ่ายลาดตระเวนพร่ามัวสมัยสงครามเย็น ปากถ้ำเป็นช่องโหว่สูงขึ้นไปบนผนังหินตั้งชันเหมือนปราการโบราณ นับแต่นั้น สิ่งที่เกาะกุมจินตนาการของเธออย่างเหนียวแน่นคือความตระหนักรู้ว่า ไม่เคยมีใครย่างกรายเข้าไปในถ้ำมาก่อน ตลอด 15 ปีที่เธอได้แต่หมกมุ่นกับคำถามเดิมๆ เป็นต้นว่า มันจะใหญ่โตสักแค่ไหน เข้าไปลึกเท่าใด มีขุมทรัพย์ทางวิทยาศาสตร์อะไรซ่อนอยู่บ้าง
โมสลีย์มีแผนการใหญ่อยู่ในใจ เธอจะไปสำรวจถ้ำวูล์ฟแลนด์ (และถ้ำลักษณะเดียวกันแห่งอื่นๆ) เพื่อเก็บตัวอย่างหินจากข้างในกลับมา ตะกอนแร่ธาตุเหล่านี้อาจเผยให้รู้ว่า สภาพภูมิอากาศของกรีนแลนด์เป็นอย่างไรเมื่อหลายแสนหรือกระทั่งหลายล้านปีก่อน แต่ยิ่งกว่าเป็นหน้าต่างสู่อดีต ตัวอย่างพวกนี้อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ได้ว่า โฉมหน้าสภาวะโลกร้อนในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เธอต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายด่านกว่าจะมาถึงตรงนี้ ทั้งเรื่องโลจิสติกส์ การเงิน อาชีพ และอารมณ์ แต่ตอนนี้เหลือแค่โรยตัวลงไปที่ปากถ้ำ และเห็นสิ่งที่ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็นมาก่อน
เหล่านักวิทยาศาสตร์กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิอากาศเพราะมีเบาะแสชี้ให้เห็นอนาคตของดาวเคราะห์ดวงนี้ โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วทางภูมิอากาศมาตลอดการดำรงอยู่ โดยสลับไปมาระหว่างสภาวะที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน หนึ่งคือร้อน และอีกหนึ่งคือเย็น เรียกสองสภาวะนี้ว่า โลกเรือนกระจก (Geenhouse Earth) และโลกโรงน้ำแข็ง (Icehouse Earth) นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันว่า อาจเคยมียุคน้ำแข็งหลักๆ เกิดขึ้นมาแล้วสี่ครั้ง (ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์โลกที่มีน้ำแข็งถาวรปกคลุมอย่างกว้างขวาง) ก่อนยุคที่เริ่มต้นเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อนและยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ภายในยุคน้ำแข็งใดๆ จะมีช่วงเวลาที่หนาวเย็นลงและอบอุ่นขึ้น
เมื่อธารน้ำแข็งแผ่ขยายหรือถอยร่น เรียกว่าช่วงเวลาธารน้ำแข็ง และช่วงคั่นช่วงเวลาธารธารน้ำแข็ง ก่อนช่วงเวลาธารน้ำแข็งสุดท้ายจะสิ้นสุดลงเมื่อราว 11,500 ปีก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคอเมริกาเหนือและภาคพื้นทวีปยุโรป ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
“เราอยากเข้าใจสภาพภูมิอากาศในอดีตเหล่านี้ลึกซึ้งขึ้นครับ” คริสโต บูเซิร์ต นักภูมิอากาศวิทยาที่มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต กล่าวและเสริมว่า “มหาสมุทรมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับชั้นบรรยากาศในระยะเวลายาวนานเหล่านี้ พืดน้ำแข็งมีความไวแค่ไหนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ถ้าเราเติมคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปอีกเป็นจำนวนเท่านี้เท่านั้น เราจะเห็นภาวะร้อนขึ้นประมาณไหนทั่วโลก”
กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกามีความสำคัญพิเศษในความคิดของนักภูมิอากาศบรรพกาล นั่นเป็นเพราะทั้งสองแห่งมีน้ำแข็งที่ยังไม่ละลายตลอดหลายแสนปีที่ผ่านมา จึงเป็นบันทึกทางสภาพภูมิอากาศที่ต่อเนื่อง แกนน้ำแข็งที่ขุดเจาะจากพืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์ เอื้อให้นักวิจัยประกอบสร้างประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของพื้นที่นี้ย้อนกลับไปราว 130,000 ปีก่อนขึ้นมาได้ แต่บันทึกน้ำแข็งของที่นั่นไม่เก่าแก่ไปกว่านั้น
ตอนโมสลีย์ได้ฟังเรื่องถ้ำในกรีนแลนด์ เธอรู้ว่าหนทางหนึ่งที่จะได้บันทึกเก่าแก่กว่า 130,000 ปี ก็คือต้องมองหาหินตะกอนถ้ำ ซึ่งอาจมีอายุย้อนหลังไปได้อีกหลายแสนปี แต่กระทั่งอีกห้าปีต่อมา หลังเริ่มงานในตำแหน่งนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอินส์บรุคแล้ว เธอจึงเริ่มคิดอย่างจริงจังเรื่องการไปสำรวจที่นั่น
ในที่สุด ด้วยการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนรายบุคคลและสถาบันรวม 59 ราย ซึ่งรวมถึงสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก เธอก็รวบรวมทุนที่ต้องการได้ คือราว 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 29 กรกฎาคม ปี 2015 โมสลีย์กับโชน พร้อมสมาชิกอีกสามคน ขึ้นเครื่องจากฐานทัพแห่งหนึ่งของเดนมาร์กบินไปลงลานบินแห่งหนึ่งติดกับทะเลสาบเซนทรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ นอกจากอุปกรณ์ตั้งแคมป์และอาหารปันส่วน กลุ่มสำรวจนำเรือยางเป่าลมกับเครื่องยนต์ติดท้ายเรือไปด้วย
หลังข้ามทะเลสาบแล้ว ทีมสำรวจก็ตั้งเบสแคมป์ แล้วเริ่มเดินเท้าทางไกลเป็นเวลาสามวันไปยังหุบเขาอันเป็นที่ตั้งของถ้ำต่างๆ สมาชิกส่วนใหญ่ในทีมฝึกซ้อมร่างกายกันมาหลายเดือนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเท้าอันทรหดนี้ ทุกคนผ่านคอร์สเรียนรู้วิธีป้องกันตัวในกรณีบังเอิญเจอหมีขั้วโลก รวมไปถึงวิธีตั้งแคมป์ที่ดีที่สุด และวิธีใช้พลุสัญญาณส่องสว่างและปืนไรเฟิล (เป็นทางเลือกสุดท้าย)
พวกเขาลงเอยด้วยการบันทึกถ้ำต่างๆ ไว้ 26 แห่ง รวมถึงหลายแห่งที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน และเก็บตัวอย่างตะกอนถ้ำมาได้ 16 ตัวอย่าง พวกเขาเดินเท้าทางไกลกลับเบสแคมป์โดยใช้เวลาสองวัน พร้อมถุงบรรจุชิ้นส่วนหินพอกเต็มแน่นจนแทบปริ
ความทุ่มเททำงานหนักของพวกเขาให้ผลคุ้มค่า การวิเคราะห์ตัวอย่างหนึ่งด้วยวิธีเคมีรังสีแสดงให้เห็นว่ามันก่อตัวขึ้นระหว่าง 537,000 ถึง 588,000 ปีก่อน เนื่องจากการก่อตัวของตะกอนถ้ำต้องอาศัยหยดน้ำหรือน้ำไหล การมีอยู่ของตัวอย่างที่ได้รับการวิเคราะห์โดยนักวิจัย บ่งชี้ว่า กรีนแลนด์ในอดีตอันไกลโพ้นนั้นชุ่มชื้นกว่าและอบอุ่นกว่าตอนนี้
โมสลีย์เป็นผู้นำการสำรวจถ้ำอื่นๆ ในกรีนแลนด์อีกสองครั้งในปี 2018 และ 2019 การเดินทางอันยากลำบากแต่ละครั้งบวกกับตัวอย่างตะกอนถ้ำที่เพิ่มพูนขึ้น เอื้อให้เธอเดินทางย้อนเวลาสู่อดีต และสร้างบันทึกทางธรณีวิทยาของสภาพภูมิอากาศบรรพกาลของกรีนแลนด์ขึ้นมา
กระนั้น ถ้ำวูล์ฟแลนด์ยังคงรอคอยเธออยู่ “ฉันตัดมันจากความคิดไม่ได้เลยค่ะ” โมสลีย์ยอมรับ แต่การเข้าถึงถ้ำแห่งนี้ต้องอาศัยทุนและการวางแผนมากกว่าเดิม เธอต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ และต้องมีการเดินทางไปล่วงหน้าเพื่อนำเชื้อเพลิงอากาศยานไปสำรองไว้ก่อน
ท้ายที่สุด ในเดือนกรกฎาคม ปี 2023 หลังกำเนิดลูกสาวของทั้งสอง การรอให้มาตราการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด 19 สิ้นสุดลง และการระดมทุนราว 400,000 ดอลลาร์สหรัฐจากผู้สนับสนุน 12 ราย ซึ่งรวมถึงรางวัลจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ โมสลีย์กับโชน พร้อมสมาชิกคณะสำรวจอีกสามคน ก็ขึ้นเครื่องจากประเทศไอซ์แลนด์บินไปลงคาบสมุทรวูล์ฟแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตรจากถ้ำขนาดใหญ่แห่งนั้นกับถ้ำอีกกลุ่มที่พวกเขาระบุไว้ ทีมสำรวจวางแผนใช้เฮลิคอปเตอร์บินรับส่งพวกเขาไปมาระหว่างเบสแคมป์กับแหล่งหมวดหินต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสำรวจพื้นที่ทั้งหมดได้ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ สภาพอากาศต้องอำนวย
ในวันแรกของการสำรวจ ทัศนวิสัยจัดว่าดี “รู้สึกเหมือนฝันเลยค่ะ” โมสลีย์บอก ขณะเฮลิคอปเตอร์เข้าใกล้หน้าผา พวกเขาสามารถมองเห็นปากถ้ำได้ แต่พอไม่มีวัตถุคุ้นเคยให้ใช้เทียบขนาด ปากถ้ำดูไม่ใหญ่โตอย่างที่คิด เบลกลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปีนเขาเฉพาะทางถึงกับออกปาก “โถ หักมุมน่าดู”
เบลกลีย์กับโชนออกไปตรวจตราพื้นที่สำรวจ เมื่อไปถึงยอดผา เบลกตอกจุดยึดแล้วเริ่มโรยตัวลงไปที่ปากถ้ำ เขาหายไปพักใหญ่แล้ว ตอนที่โชนได้ยินเขาตะโกนขอเชือกเพิ่ม เขาน่าจะมีอยู่ 150 เมตร โชนคิดอย่างนั้น เขาโรยตัวตามลงไป นึกสงสัยว่า เบลกลีย์ใช้เชือกหมดได้อย่างไร เขามองลงไปเห็นเบลกลีย์ “ผมเห็นเขาตัวเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับปากถ้ำ” โชนเท้าความหลัง “แล้วผมก็คิดว่า แม่เจ้า ถ้ำนี้ใหญ่โตมาก”
ทั้งสองกลับมาพร้อมข่าวน่าตื่นเต้น ด้วยความลุ้นระทึก สมาชิกสี่คนในทีมออกสำรวจบ้าง พวกเขาโรยตัวลงไปที่ปากถ้ำ และในที่สุดก็ได้ย่างก้าวเข้าไปในถ้ำพร้อมๆ กัน
พวกเขารู้สึกเหมือนเดินเข้าสู่อาสนวิหาร เพดานถ้ำสูงอย่างน้อย 40 เมตร “มีบ่อน้ำเย็นเฉียบสีเทอร์คอยส์ บ่อหนึ่งใกล้กับทางเข้า” โมสลีย์เล่า “บนพื้นถ้ำมีหินมนใหญ่ขนาดเท่ารถยนต์กระจัดกระจายอยู่” ตรงด้านท้ายถ้ำ พวกเขาสังเกตเห็นทางเดินหลายเส้นอยู่สูงขึ้นไป ผลึกน้ำค้างแข็งปกคลุมอยู่ตามผนัง
แม้จะประทับใจกับขนาดอันโอฬาร โมสลีย์มีเหตุผลที่จะรู้สึกผิดหวังด้วย ไม่มีตะกอนถ้ำให้เห็นเลย ต่อให้เคยมีอยู่บ้างก็น่าจะถูกบดขยี้ไปแล้วด้วยหินมนใหญ่ที่ปกคลุมพื้นอยู่
อย่างไรก็ตาม ยังมีถ้ำอื่นๆ ให้สำรวจในบริเวณใกล้เคียง แต่สภาพอากาศย่ำแย่กระแทกปิดหน้าต่างแห่งโอกาสไปแล้ว เมฆคล้อยต่ำกับกระแสลมแรง ผนวกกับหมอกและหิมะ ทำให้เสี่ยงเกินจะนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน ทีมจึงได้แต่รอพร้อมกับหวังว่าอากาศจะดีขึ้น “เราเสียเวลาเยอะมากกับการนั่งเฉยๆ ที่เบสแคมป์ ได้แต่จิบชากันไป พลางฝันถึงสิ่งที่เราน่าจะได้ทำกันตอนนั้น” โมสลีย์เล่า
แต่สภาพอากาศก็คลี่คลาย เปิดโอกาสให้สองทีมได้สำรวจถ้ำใกล้เคียงอื่นๆ โมสลีย์กับโชนค้นพบถ้ำหนึ่งที่มีทางเดินหลายเส้น ผนังปกคลุมด้วยผลึกน้ำแข็งกับน้ำแข็ง โชนกำลังเตรียมบันทึกภาพไว้ ตอนที่เบลกลีย์ซึ่งกำลังขึงเชือกไต่ไปยังถ้ำอีกแห่ง แจ้งข่าวมาทางวิทยุ เขาเห็นตะกอนถ้ำแล้ว โมสลีย์กับโชนเร่งรุดไปเก็บสิ่งที่จะเป็นตัวอย่างเพียงชุดเดียวที่พวกเขานำกลับมาจากทริปนี้ การเดินทางสำรวจสถานที่ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนเป็นเช่นนี้เอง
โชนบอกว่า “คุณไม่มีวันรู้จริงๆ หรอกว่ามันจะลงเอยแบบไหน”
เรื่อง : ยุธิจิต ภัตตาจาร์จี
ภาพถ่าย : ร็อบบี โชน
แปล : อัครมุนี วรรณประไพ