ผลิตภัณฑ์หลายอย่างในชีวิตประจำวันเช่น กาว บรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องครัวหลายอย่างนั้น มีสารเคมีชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า สารเพอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PFAS ที่มีชื่อภาษาไทยว่า ‘สารเคมีตลอดกาล’
มันเป็นสารที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทนต่อความร้อน น้ำมัน ไขมัน หรืออื่น ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการประเเมินว่าสารเคมีตลอดกาลถูกใช้ในอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์มากกว่า 9,000 ชนิด แม้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น แต่มันก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงมาก นั่นคือไม่สลายตัวในสิ่งแวดล้อมหรือต้องใช้เวลานานมากในการสลายตัว (เราจึงเรียกมันว่าสารเคมีตลอดกาล) และที่สำคัญมันสามารถเข้าไปร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้โดยตรง
“โครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของสารเหล่านี้ทำให้สารเหล่านี้สามารถเคลื่อนที่ผ่านผิวน้ำและน้ำใต้ดินได้ อีกทั้งยังคงอยู่ในตะกอน” อัลเลน เบอร์ตัน (Allen Burton) ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าว “สารเหล่านี้สะสมในสิ่งมีชีวิต ในมนุษย์และในสัตว์ป่า และยังพบได้ทั่วไปจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากสัมผัสมัน”
สาร PFAS สามารถซึมเข้าไปในดิน อากาศ และน้ำ ไม่เพียงเท่านั้นรายงานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าสารเคมีตลอดกาลยังพบได้ในระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองจำนวนมาก ซึ่งสร้างคำถามว่าถังน้ำเสียที่บำบัดน้ำจากการ ‘ขับถ่าย’ ของมนุษย์นั้นมีสารเคมีตลอดกาลได้อย่างไร?
สารเคมีตลอดกาลที่นักวิทยาศาสตร์พบในถังบำบัดน้ำเสียนั้นชื่อว่า disubstituted poly-fluoroalkyl phosphates (diPAPs) เป็นหนึ่งใน PFAS หลักที่พบในไบโอโซลิด (Biosolids; วัสดุอินทรีย์ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสีย) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสืบสวนย้อนกลับไปและพบว่าแหล่งที่มาสำคัญของสารดังกล่าวนั้นอยู่ไม่ไกลตัวเรา มันคือ กระดาษาชำระ ที่ใช้ในห้องน้ำ
ทอมป์สัน และทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่าง PFAS จากตะกอนที่ปล่อยโดยโรงงานบำบัดน้ำเสีย 8 แห่งในสหรัฐอเมริกา และจากกระดาษชำระที่จำหน่ายใน 4 ภูมิภาคของโลกได้แก่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ อเมริกากลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันตก
พวกเขาพบว่าตัวอย่างเหล่านั้นมี diPAPs อยู่จำนวนมาก มันเป็นสารตั้งต้นที่จะกลายเป็นสาร PFAS กล่าวคือสารเหล่านี้สามารถเปลี่ยนสาร PFAS ที่เสถียรในขั้นตอนสิ้นสุดกระบวนการได้หลายตัว ซึ่งทราบกันดีว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเช่น กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก (PFOA) หรือกรดเพอร์ฟลูออโรเดกาโนอิก (PFDA) ที่ได้รับการระบุว่า ‘อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้’ ตามคำกล่าวของสำนักงานวิจัยมะเร็งรหว่างประเทศ (IARC)
“ไม่เพียงเท่านั้น สารประกอบเหล่านี้ยังสะสมอยู่ในดินและตะกอนตามกาลเวลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในดินและตะกอนจึงสามารถดูดซึมสารประกอบเหล่านี้ได้มากขึ้น มันจึงก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร” เบอร์ตันอธิบาย
พร้อมเสริมว่าไม่น่าแปลกใจเลยที่พบสาร PFAS ในกระดาษชำระและตะกอนน้ำเสีย ซึ่งเป็นแหล่งปนเปื้อนสารเคมีตลอดกาลที่ควรได้รับการจดบันทึกไว้ ด้วยเหตุนี้การลดสาร PFAS ในน้ำเสียจึงเป็นวิธีที่ควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสทั้งหมดในสิ่งแวดล้อมก่อนที่มันจะหลุดรอดออกไป
“เช่นเดียวกับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก การป้องกันน้ำเสียโดยการควบคุมแหล่งที่มาถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลที่สุด” เบอร์ตัน กล่าว “หากสังคมไม่สามารถลดการสัมผัสกับสาร PFAS แบบซ้ำ ๆ เหล่านี้ได้อย่างมาก เราก็จะเพิ่มโอกาสที่ลูก ๆ ของเราและสัตว์ป่าจะเผชิญกับความเสี่ยงที่ร้ายแรง”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.medicalnewstoday.com