รถยนต์-อุณหภูมิผกผัน-อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร ถอดสมการทำกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตฝุ่น

สรุปสถานการณ์ฝุ่นถล่มกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี 2568  กับปัจจัยสำคัญ รถยนต์-อุณหภูมิผกผัน-อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร และคำถามที่ชวนคิดต่อว่า เราจะทำอย่างไรหากเรื่องฝุ่นต้องอยู่กับเราในทุกๆปี ?

ระหว่างที่คนกรุงเทพฯ กำลังยินดีกับอากาศที่เย็นสบาย ไม่ร้อนจัด เวลาเดียวกันนี้ รู้สึกตัวอีกที สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ก็เป็นสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤต และต้องเฝ้าระวังแบบวันต่อวัน

24 มกราคม 2568 ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานว่า ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด โดยหนึ่งในจำนวนนั้นมีกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.ปทุมธานี  จ.นนทบุรี  จ.นครปฐม  จ.สมุทรสาคร  จ.สมุทรปราการ โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร รายงานว่า  กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ โดยตรวจวัดได้ ตรวจวัดได้ 61.2 – 112.4  ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ขณะที่เมื่อวัดคุณภาพอากาศในวันเดียวกัน พบว่า กรุงเทพมหานคร วัดคุณภาพอากาศได้ที่ประมาณ 180 AQI ซึ่งอยู่ในระดับ สีแดง คุณภาพอากาศ “มีผลกระทบต่อทุกคน” และติดอยู่ในTop 10 เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดของโลกในขณะนี้ ส่วนเชียงใหม่มีรายงานว่า วัดได้ 132 AQI ติดอยู่ในTop 30 ของโลก  อยู่ในระดับ สีส้ม คุณภาพอากาศ “มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ”

“ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ส่วนประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์” รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 24 มกราคม ระบุ และว่า ผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 พื้นที่กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันที่ 25 – 27 ม.ค. 2568 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่

สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพ ข้อมูล ณ วันที่ 24 มกราคม 2568 ภาพจากสำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

การจัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด โดย IQAir ข้อมูลเมื่อเวลา 09:03 วันที่ 24 มกราคม 2568 ภาพจาก Live most polluted major city ranking เว็ปไซต์ iqair

ปัจจัยทำฝุ่นถล่มกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี

ฝุ่นกับกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทำไมสถานการณ์ถึงรุนแรงในช่วงเวลานี้?

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 23 มกราคมว่า สถานการณ์ฝุ่น กทม. ยังรุนแรงอยู่ โดยฝุ่น PM2.5 มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. รถยนต์ 2. การเผา 3. สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะช่วง 2 วันนี้ที่อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้ฝุ่นที่มียิ่งสะสมหนักหนาขึ้น

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เลยคือ สภาพอากาศปิดเพราะเป็นวิถีธรรมชาติ และการเผาที่มาจากรอบนอก ทั้งปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถิติการเผาสูงกว่าปีที่แล้วในเวลาเดียวกัน รวมถึงเรื่องทิศทางลมที่พัดมาจากรอบนอกเข้ามาหมุนวนในพื้นที่ กทม.

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมแบบรายชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” รอบเวลา 08.00 น. ของวันที่ 24 มกราคม 2568  พบว่าทุกเขตของกรุงเทพมหานครมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจในระดับสีแดง   ซึ่งเกิน 100 ไมโครกรัมกว่า 40 เขต โดยค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด คือ เขตหนองแขม 149.1 ไมโครกรัม

ทั้งนี้ GISTDA ศึกษาจุดความร้อนจากดาวเทียม พบว่า  เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ประเทศไทยมีจุดความร้อนรวม 521 จุด ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าจุดความร้อนในประเทศไทยเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 178 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 109 จุด พื้นที่เขต สปก. 108 จุด  พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 63 จุด  พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่นๆ 59 จุด  และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด

กรณีจุดความร้อนนี้ GISTDA ให้คำอธิบายว่า จุดความร้อน ก็คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ ซึ่งหมายถึงการตรวจพบกลุ่มไฟนั่นเอง อย่างไรก้ตาม การตรวจพบโดยดาวเทียมหาจุดความร้อนก็ยังมีข้อจำกัดในการทำงาน โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มไฟขนาดเล็กและอยู่ใต้ต้นไม้ มีกลุ่มควันหนา หรือกลุ่มเมฆหนา ก็จะทำให้ไม่สามารถตรวจวัดรังสีความร้อนจากกลุ่มไฟในรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ดี จุดความร้อนจากดาวเทียม ยังนับเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมองเห็นพื้นที่ที่กำลังเกิดไฟป่า หรือเสี่ยงที่จะเกิดไฟ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น

แผนที่แสดงจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง ภาพจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

กรุงเทพกับภาวะอุณหภูมิผกผันและโลกร้อน

สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพเผชิญกับฝุ่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เคยวิจัยเรื่องปัญหาฝุ่นในประเทศและเผยแพร่ผ่านบทความวิชาการ เรื่อง “ปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5: แนวทางการป้องกันและลดการเผาในที่โล่ง และร่างงบประมาณ พ.ศ.2567” ซึ่งมีเนื้อหาชี้ให้เห็นถึงสาเหตุการกำเนิด ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า ปัญหาการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจาก 4 ปัจจัย คือ

1.ปัญหาจราจร โดยเฉพาะจากพาหนะ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดเขม่าและฝุ่นควัน และจากข้อมูลกรมขนส่ง (ธ.ค.2566) พบว่า มียานพาหนะที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลในเขต กทม. มาก ถึง 3.28 ล้านคัน (คิดเป็น 27.37% ของจำนวนยานพาหนะทั้งหมด)

2.การผลิตไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิล 3. โรงงานกระจุกตัวในเขตกทม.และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่โดยโรงงานทั่วประเทศมี 72,699 แห่ง แต่อยู่ในพื้นที่สมุทรปราการ 7,004 แห่ง (9.6%) สมุทรสาคร 6,628 แห่ง (9.1%) กทม. 5,979 แห่ง (8.2%) ชลบุรี 5,106แห่ง (7.0%) และ ปทุมธานี 3,460 แห่ง (4.8%) และ  4. มาจากสิ่งที่เรียกว่า  “ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน” (Temperature Inversion) ซึ่งคือ การระบายอากาศในเมืองอยู่ในอัตราต่ำกว่าปกติ ทำให้ชั้นอากาศเป็นฝาครอบกักอากาศที่ผิวพื้นไว้ ทำให้หมอกควันไม่เคลื่อนตัว สะสมอยู่ใกล้พื้น

“ปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) หรือ อธิบายว่าคือการระบายอากาศในเมืองอยู่ในอัตราต่ำกว่าปกติ ในสภาวะปกติเมื่อพื้นดินคลายความร้อนออกมา อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง พัดพาฝุ่นลอยกระจายตัวออกไปด้วย แต่ในช่วงปลายฤดูหนาว (โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่) เกิดอุณหภูมิผกผัน ทำให้มีอากาศสามชั้น อุณหภูมิที่ผิวพื้นมีความเย็นกว่าชั้นอากาศที่อยู่เหนือกว่า ขณะเดียวกันก็มีอากาศขั้นที่สามที่อยู่บนสุด แต่มีความเย็น เพราะอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ชั้นอากาศร้อนชั้นที่สองกลายเป็นฝาครอบกักอากาศที่ผิวพื้นไว้ ทำให้หมอกควันไม่เคลื่อนตัว สะสมอยู่ใกล้พื้นโลก” บทความงานวิจัยอธิบาย

ถึงตรงนี้สิ่งที่กรุงเทพฯ เผชิญจึงมีปัจจัยที่ทั้งควบคุมได้และเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับบริบทพื้นที่ รวมถึงยังมีสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เป็นปรากฎการณ์ในภาพใหญ่ที่ทำให้ 2 เรื่องนี้เชื่อมโยงถึงกัน โดยแหล่งที่มาของ PM2.5 ซึ่งมีกิจกรรมอย่างการเผาไหม้เชื้อเพลิง ก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน  เช่นเดียวกับการเกษตร การปศุสัตว์ และการทำลายป่า ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อโลกร้อนก็สุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดไฟป่า เช่นเดียวกับมีข้อสังเกตมากมายในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะทำให้คุณภาพอากาศลดลง

ข้อมูลคาดการณ์อากาศ ในวันที่ 25-31 มกราคม 2568 ภาพจากศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ

แน่นอนว่า เราอาจยอมรับว่า PM 2.5 มีปัจจัยที่ทั้งควบคุมได้และไม่ แต่คำถามคือเราควรทำอย่างไรหากปัญหานี้คือสิ่งที่ต้องเจอทุกปี?

มาตรการของกรุงเทพฯ ในขณะนี้คือ การมอนิเตอร์จุด Hot Spot ใน กทม. การแก้ไขที่ต้นตอการเกษตร เดินหน้าต่อเนื่องมาตรการจัดการฝุ่นทุกมิติ พร้อมผสานกรมฝนหลวง เพิ่มมิติเหนือภาคพื้น เร่งระบาย PM2.5และการขอความร่วมมือ Work From Home เพื่อลดการเดินทาง

ขณะที่ประชาชนหน่วยงานด้านสุขภาพยืนยันว่า  ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น pm 2.5 เกินค่ามาตรฐานมาก ให้พิจารณามาออกกำลังกายภายในอาคารแทน ส่วนภายในอาคารแนะนำฟอกอากาศเพื่อช่วยกรองฝุ่น pm 2.5 ภายในอาคาร และควรพกหน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานติดตัว ศึกษาวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องและใช้ทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องออกภายนอกอาคาร

อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือการมีมาตรการในระยะกลางและยาว ไม่ว่าจะเป็นการเร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่อยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการ  การที่รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอาชีพนอกภาคเกษตรให้เกษตรกรและแรงงานเพื่อให้กระบวนการอุตสาหกรรมการเกษตรสอดคล้องไปกับการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศ

 การเร่งรัดการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีเครื่องมือใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในการป้องกันและลดปัญหา ฝุ่นควัน PM2.5 เช่น การใช้ราคาและเงินอุดหนุนเป็นแรง จูงใจ บทลงโทษ เร่งออกกฎหมายภาษีคาร์บอนภาค ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ควรส่งเสริมศูนย์การบริหารจัดการ PM 2.5 ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการร่วมแก้ปัญหากับหน่วยงานที่มีหน้าที่ต่างๆ และในสถานการณ์ที่เร่งด่วน

เรื่องฝุ่นและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นกับหลายเมืองใหญ่ในโลก เช่น ในประเทศจีน ซึ่งหลังจากนั้นนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายใช้มาตรการที่เข้มงวดและชัดเจนในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของจีน ทั้งระดับชาติและระดับเมือง โดยมาตรการที่ใช้มีตั้งแต่ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ตั้งหน่วยตำรวจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง

อย่าลืมว่า PM 2.5 ไม่ใช่แค่สภาพอากาศ แต่คือคุณภาพชีวิต การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนในประเทศ อันเป็นต้นทางของการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ดี ซึ่งนั่นเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องถูกบริหารจัดการ

มากกว่าแค่ต้องทำใจและปล่อยให้มันผ่านไปอีกปี

อ้างอิง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI

Live most polluted major city ranking


อ่านเพิ่มเติม : ทะเลไทยไม่ได้มีแต่ปลากะตัก จับตาร่างแก้ไขกฎหมายประมง ความคุ้มค่าที่แลกมากับระบบนิเวศในระยะยาว?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.