แม่แจ่มโมเดล การจัดการข้าวโพดแบบบูรณาการ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่อย่างยั่งยืน

ถอดรหัส แม่แจ่มโมเดล พื้นที่นำร่องวิจัยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เปลี่ยนจากปลูกข้าวโพด มาเป็น อะโวคาโด กาแฟ ไผ่ พืชผักในโรงเรือน ลดการเผาในจังหวัดเชียงใหม่ในระยะยาวได้

ข้าวโพดกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่สูง

การเผาไร่ข้าวโพดของเกษตรกรในพื้นที่สูงตามจังหวัดภาคเหนือ คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต่อมามีวาทกรรมเชิงลบต่อ ชาวเขา และ ข้าวโพด ว่าเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่นควันในประเทศไทยที่ยืดเยื้อมานานหลายปี สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ภาคเหนือเลือกที่จะปลูกข้าวโพด เพราะขนส่งสะดวก มีตลาดรองรับ

ทั้งนี้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว บนเขาที่เป็นพื้นที่สูง ไม่สามารถใช้รถไถซังข้าวโพดได้ การเผาจึงเป็นวิธียอดนิยม เนื่องจากทำได้ง่าย ใช้งบประมาณน้อยกว่าการฝังกลบ โดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยถึงการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือว่า อยากให้ทำความเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวมีหลายมิติ ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่นี้มานาน และมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากในอดีตมีประมาณ 2 แสนคน ปัจจุบันประชากรบนพื้นที่ราบสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน แต่ละครัวเรือนมีรายได้ต่ำเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีตัวเลือกในการปลูกพืชเศรษฐกิจไม่มาก หลายพื้นที่จึงเลือกปลูกข้าวโพด เพราะตอบโจทย์เรื่องรายได้ จนกลายเป็นพืชเชิงเดี่ยว ทำให้มีการเผาเกิดขึ้นทุกปี

การเผากับความยากจนของชาวเขามีมานานกว่า 50 ปีแล้ว หากต้องการที่จะให้ชาวบ้านหยุด ต้องหาอาชีพอื่นทดแทน ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำพืชชนิดอื่นเข้าไปให้ชาวบ้านปลูกแทนการทำไร่ข้าวโพด ไม่ว่าจะเป็น อะโวคาโด เมล่อน กาแฟ ไผ่ องุ่น และพืชผักในโรงเรือน โดยพยายามสนับสนุนการทำเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องมีการเผา นายวิรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกันก็มีหาตลาดรองรับสินค้าของเกษตรกรและการฟื้นฟูสภาพป่าบนที่สูงควบคู่ไปด้วย จนพื้นที่อำเภอแม่แจ่มประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควัน สามารถ เปลี่ยนจากพื้นที่ลำดับต้นๆ ที่เกิดค่าจุดความร้อนมากที่สุดเกือบทุกปี มาเป็นพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนน้อยที่สุดในช่วง 60 วันอันตรายของจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2559

ความพิเศษของพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม

อำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่โดดเด่น เป็นต้นแม่น้ำปิง มีความหลากหลายของกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ บางจุดสูงกว่าระดับนํ้าทะเลมากกว่า 1,000 เมตร  ขณะที่บางจุดมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร การเข้าไปจัดการปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

จากความร่วมมือของ 7 กระทรวง 30 หน่วยงาน ตลอดหลายปีทำให้สามารถลดพื้นที่การทำไร่ข้าวโพดรวมถึงการเผาไร่ได้กว่า 48 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 500 กว่าหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นจากพื้นที่วิกฤตก่อน เช่น จุดที่มี Hotspot มาก , หมู่บ้านที่ประสบปัญหาผลิตข้าวโพดเฉลี่ยต่อไร่ได้น้อยลงทุกปี เพราะดินเสื่อมสภาพจากการปลูกซ้ำๆ และ กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในวงจรภาระหนี้สะสมจากการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ต่อมา ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการได้รับการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และอาชีพ จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ หลายครอบครัวในพื้นที่จึงเริ่มเข้าใจ เพราะเห็นตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ พากันมาร่วมโครงการเปลี่ยนพืชทำกิน ซึ่งกลายมาเป็นความหวังครั้งใหม่ของพวกเขา ประชาชนในพื้นที่สูงจึงมีความตื่นตัวและปรับตัวเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แม่แจ่ม จึงเป็นต้นแบบที่ถูกนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ขยายไปในกว่า 1,000 หมูบ้าน ใน 10 จังหวัด กับแนวทางการฟื้นฟูป่า นำพืชทางเลือกไปสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พื้นที่สีเขียวบนเขาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม แก้ไขได้ทั้งเรื่องความยั่งยืนทางรายได้ของชาวบ้านและปัญหาหมอกควัน-ไฟป่าไปพร้อมๆ กัน

แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันไฟภาคเหนือต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการจัดการ สุดท้ายหากแก้เรื่องปัญหาปากท้องและอาชีพได้ การเผาก็จะลดลง นอกจากการปลูกพืชที่หลากหลายแล้ว การสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวชุมชนก็เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เช่นเดียวกับการติดฉลากส่งเสริมผลผลิตที่ปราศจากการเผา และการดูแลรักษาพื้นที่ป่าเพื่อการแปลงป่าเป็นทุนด้วยคาร์บอนเครดิต

นอกจากพื้นที่อำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีพื้นที่ในหลายจังหวัด อาทิ น่าน เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ที่เริ่มให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำไร่ข้าวโพดมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทน แต่จุดที่แก้ไขได้ยากที่สุดคือหมอกควันไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการเจรจาเรื่องหมอกควันข้ามแดนกับ ลาว-พม่า ร่วมกับสหประชาชาติ ทว่ายังขาดพลังและความต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนยังเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่

หลายคนเข้าใจผิดว่า ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือส่วนใหญ่เกิดจาก การเผาไร่ข้าวโพดกับการทำไร่ข้าวเลื่อนลอยของชาวเขา แต่ข้อมูลระบุว่า ไร่ข้าวโพด-ไร่เลื่อนลอย (ไร้หมุนเวียน) สร้างผลกระทบเพียง 15-17% เท่านั้น ส่วน 80% ของปัญหานี้มาจากไฟป่าที่เกิดจากการตั้งใจเผาของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การเผาเพื่อหาของป่า ก่อไฟแล้วไม่ดับ เผาขยะ เป็นต้น ซึ่งมีน้อยครั้งมากที่เกิดจากไฟป่าโดยธรรมชาติ

มนุษย์แทบทุกคนใช้ไฟในการทำงาน คนในเมือง ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่อื่นๆ ในพื้นที่ราบ ก็มีการเผาอ้อย เผาหญ้า เพื่อลดแรงคน ลดต้นทุน รวมทั้งเป็นสาเหตุของฝุ่นควันเช่นกัน แต่บนพื้นที่สูงมีเรื่องป่าเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การเผาบนพื้นที่สูงเสี่ยงที่จะลุกลามมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และบริบทนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว จีน  และ หลายชาติในอเมริกาใต้ นายวิรัตน์ กล่าว

 

สืบค้นและเรียบเรียง : สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพ : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง


อ่านเพิ่มเติม รถยนต์-อุณหภูมิผกผัน-อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร ถอดสมการทำกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตฝุ่น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.