เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ยุงที่เป็นพาหะของโรคร้ายแรงกระจายไปไกลขึ้นแม้แต่ในประเทศที่หนาวเย็นก็ตาม ภาวะโลกร้อนกำลังกลายเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคไข้เลือดออกประมาณ 45 ล้านรายต่อปีในภูมิภาคอเมริกาและเอเชีย ป่าไม้ที่ถูกตัดออกไปเรื่อย ๆ และการขยายตัวของเมืองพร้อมกับการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้สภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ของเมืองมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังดูเหมือนจะสร้างสถานการณ์ที่เอื้อเฟื้อต่อยุงด้วยเช่นกัน
เป็นที่รู้กันดีว่ายุงนั้นเป็นสัตว์เลือดเย็นที่ต้องการอุณหภูมิระดับหนึ่งเพื่อการอยู่รอด พัฒนา และสืบพันธุ์ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนของประเทศไทย ภาคเหนือไม่ประสบปัญหายุงเลยในช่วงฤดูหนาว ในขณะเดียวกันในสถานที่ที่ ‘ร้อนเกินไป’ ก็แทบไม่มียุงเช่นกันแต่เมื่อภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นยุงเหล่านี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปตามอากาศที่อบอุ่น พร้อมกับปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ และนี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ ‘วัดผล’ ว่ามีผู้ป่วยจากยุงเหล่านั้นมากเพียงใด
“เมื่อใดก็ตามที่เราแบ่งปันเรื่องนี้ คำถามแรกก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากยุงปรับตัวได้” ลิซา คูเปอร์ (Lisa Couper) นักนิเวศวิทยาด้านโรคในห้องทดลองของจัสตินเรไมส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว
การศึกษาใหม่ที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ดและสแตนฟอร์ดได้ทำการรวบรวมข้อมูลจาก 21 ประเทศในทวีปอเมริกาและเอเชียเพื่อระบผลกระทบเชิงสาเหตุของอุณหภูมิและโรคไข้เลือดออก พร้อมกับประเมินในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ในเบื้องต้นทีมวิจัยระบุว่าอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกจะพุ่งขึ้น 61% หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าปัจจุบันที่มีประชากรอย่างน้อย 257 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศใกล้เคียงกับเส้นศูนย์สูตร อาจมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
“เราสามารถเห็นผลกระทบทางนโยบายโดยตรงของการลดการปล่อยก๊าซในระดับโลก” ดร. เคลซี ไลเบอร์เกอร์ (Kelsey Lyberger) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา และหนึ่งผู้เขียนงานวิจัยกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจะไม่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน “การเพิ่มขึ้นสูงสุดบางส่วนเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ได้มีภาระของโรคสูงในปัจจุบัน”
โดยทั่วไปแล้ว ไข้เลือดออกจะตอบสนองต่ออุณหภูมิรายวันไม่เหมือนกันเสมอไป โดยจำนวนผู้ป่วยสูงสุดจะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส (°C) จากนั้นจึงลดลง สิ่งนี้คือเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแพร่กระจายของยุงลายที่เป็นพาหะหลักสองสายพันธุ์ได้แก่ Aedes aegypti และ Aedes albopictus
แต่เมื่อภาวะโลกร้อนแพร่กระจายไป ยุงก็แพร่กระจายไปตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าภูมิภาคที่มีอากาศเย็นกว่าบางแห่งของแม็กซิโก เปรู โบลิเวีย และบราซิล จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 150% ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใดก็ตาม
ขณะเดียวกันผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในบางพื้นที่โดยเฉพาะส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกานั้นขาดระบบเฝ้าระวังที่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจประเมินตัวเลขที่แท้จริงของผู้ป่วยได้ ดังนั้นพวกเขาจึงแน่ใจว่าตัวเลขจะสูงขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน
“เราต้องการชุดข้อมูลผู้ป่วยที่ยาวนานเพียงพอเพื่อประมาณระดับพื้นฐานของไข้เลือดออก” ดร. ไลเบอร์เกอร์ กล่าว
ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเฝ้าระวังโรคได้สม่ำเสมอ ทั้งยังทำให้ขาดศักยภาพในการรายงาน จัดการ และจำแนกผู้ป่วยอย่างถูกต้องทำให้โรคไข้เลือดออกรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก รายงานยังระบุอีกว่าประเทศอย่างอินเดียนั้นก็มักจะมีการรายางนต่ำกว่าความเป็นจริง ‘อย่างมาก’
โดยระบุว่าช่วงปี 2015-2019 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในเอเชียใต้เพิ่มขึ้นถึง 46% โดยมีสาเหตุใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งตัดปัจจัยเช่นอัตราการเติบโตของประชากรที่สูง แหล่งน้ำไม่สะอาด และระบบการจัดการขยะที่ย่ำแย่ออกไปแล้วก็ตาม
รายงานเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข ประเทศจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถสร้างแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“เนื่องจากเรได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและจำนวนผู้ป่วยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการดูว่าภาวะโลกร้อนทั้งในอดีตและอนาคต จะส่งผลต่อจำนวนผู้ป่วยที่เรามีหรือที่เราพบเห็นอย่างไร” ดร. ไลเบอร์เกอร์อธิบาย
ประเทศอย่างบราซิล กัมพูชา โคลอมเบีย เวียดนาม และอื่น ๆ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่ออัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มเติมเช่นปริมาณน้ำฝน การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล สายพันธุ์ของไวรัส ภาวะเศรษฐกิจ และความหนาแน่นของประชากรเพื่อที่จะได้จัดการอย่างเป็นระบบ
“เราสามารถระบุได้ว่าภาวะโลกร้อนในอดีตทำให้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แล้ว” ดร. ไลเบอร์เกอร์ กล่าว
“นี่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสุขภาพมนุษย์แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้เลือดออก ข้อมูลของเรายังชี้ให้เห็นว่าผลกระทบอาจเลวร้ายกว่านี้ได้มาก” ดร. เอริน มอร์เดไค (Erin Mordecai) นักนิเวศวิทยาโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและผู้เขียนอาวุโสของการศึกษา กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://healthpolicy-watch.news