อยู่กันอย่างไร? สำรวจ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อและพิธีกรรม

สำรวจปัญหามลพิษของเมือง ‘นิวเดลี’ เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ที่ติดอันดับเมืองสภาพอากาศยอดแย่แทบทุกครั้งที่มีการสำรวจ สิ่งเหล่านี้มีที่มาจากอะไร และประชากรในเมืองนี้มีสภาพชีวิตอย่างไร? 

ถ้าพูดถึงเมืองที่มีมลภาวะมากแห่งหนึ่งในโลก การสำรวจแทบทุกครั้งต้องมีชื่อของ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดียแทบทุกครั้ง

เมืองหลวงแห่งนี้ได้ชื่อว่ามีมลพิษมากที่สุดในโลกในปี 2023 จากการสำรวจของ Swiss-based air-quality monitoring group ของสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 2024 ช่วงหนึ่งเคยแซงหน้าเมืองลาฮอร์กับธากา ของประเทศปากีสถาน กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่แค่ กรุงนิวเดลี หลายเมืองในอินเดียกำลังเจอวิกฤติมลพิษทางอากาศ

ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 จากการปล่อยมลพิษทางอากาศคือปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก หลายเมืองต้องเผชิญกับคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ โดย 1 ในประเทศที่กำลังประสบปัญหานี้มากที่สุดก็คือ อินเดีย ชาติที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1.429 พันล้านคน

หลายเดือนต่อปีที่ค่า PM 2.5 ในกรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดียเกินค่ามาตรฐานในระดับสูงสุดคือสีม่วง ซึ่งค่า AQI เคยทำสถิติสูงเกิน 600 AQI ในช่วงปลายปี อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงต่อทุกคน โดยสูงเกินระดับอันตรายที่ 300 AQI อย่างมาก และสูงเกินระดับความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 35 เท่า (บางเวลาในบางพื้นที่ของกรุงนิวเดลีวัดคุณภาพอากาศได้สูงทะลุ 800 AQI)

ในช่วงที่ค่า PM 2.5 ในเมืองหลวงแห่งนี้สูง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมืองทั้งเมืองกลายเป็นสีเทาเพราะถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน ได้กลิ่นเหม็นไหม้คละคลุ้งไปทั่ว มีผลกระทบต่อการมองเห็น และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนมีปัญหาด้านการหายใจ แสบตา รู้สึกคันตาและคอ รวมทั้งไอ มีเสมหะสีเข้ม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าน่ากลัวมาก

ทั้งนี้ กรุงเดลีที่มีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน กลายเป็นเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดมานานหลายปี ส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่นควันจากการเผาขยะเกษตร การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะ และการก่อสร้างในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว มลพิษจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการกักตัวของควันและฝุ่นละอองในอากาศ ทำให้เกิดฝุ่นพิษที่ลอยปกคลุมไปทั่ว ส่งผลให้ผู้คนหายใจลำบาก ต้องอยู่ภายในอาคารเพื่อลดความเสี่ยงจากอากาศที่เป็นพิษ ซึ่งหากต้องออกมาที่โล่ง ในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 หนา อาจมากๆ อาจต้องใช้หน้ากากป้องกันแก๊สถึงจะช่วยป้องกันการสูดควันพิษได้

ทว่า นอกจาก กรุงเดลี แล้ว ในอินเดียก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็น มุมไบ โกลกาตา ควาลิยัร อัลลาฮาบัดและ พาราณสี ที่ต่างผลัดกันติดอันดับ 10 เมืองมลพิษมากที่สุดในโลกอยู่เป็นประจำ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากการใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงาน การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะ การเผาขยะ และ การเผาในชีวิตประจำวัน การปล่อยมลพิษในระดับสูงเหล่านี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในอินเดียยํ่าแย่ โดยรัฐบาลยังไม่สามารถออกมาตรการหรือใช้นโยบายแก้ปัญหาได้อย่างจริงจังเสียที

อากาศพิษจากความเชื่อและพิธีกรรม

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในอินเดียเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ส่วนใหญ่มาจากฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากยานพาหนะ การเผาพื้นที่ทางการเกษตรที่ผิดกฎหมาย และควันต่างๆ ที่สะสมอยู่ในพื้นที่ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการจำกัดการใช้ยานพาหนะในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะ กรุงนิวเดลี เมืองหลวง ขณะเดียวกันก็ยังพยายามส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน แต่กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหามลพิษก็คือ ความเชื่อและพิธีกรรมที่เข้มข้นในอินเดีย โดยแม้ว่าคณะกรรมการควบคุมมลพิษแห่งชาติอินเดียได้ระบุว่า น้ำในเเม่น้ำคงคาที่เมืองหริทวารและเมืองพาราณสีไม่เหมาะเเก่การลงอาบ แต่ทุกวันนี้ชาวอินเดียจำนวนมหาศาลก็ยังคงใช้เเม่น้ำแห่งนี้ ดื่ม อาบ ขับถ่าย ไปจนถึงการเผาศพทุกวัน เรียกว่าสร้างทั้งมลพิษทางนํ้าและอากาศพิษในจุดเดียว

กฏหมายที่อ่อนแอและความไร้ระเบียบของสังคม ทำให้อินเดียไม่สามารถฟื้นฟูเเม่น้ำคงคาที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมของชาวฮินดูนับล้านได้ ส่วนการเผา การจุดไฟเพื่อทำพิธีบูชาต่างๆ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของคนอินเดียแทบทุกบ้านก็ยังคงดำเนินต่อไปทั่วประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปัญหาคุณภาพทางอากาศของอินเดียเลวร้ายขึ้นทุกปี

ยังไม่รวมถึงงานเทศกาลต่างๆ ที่มักมีการจุดประทัดและดอกไม้ไฟจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียถึงกับออกคำสั่งห้ามจุดดอกไม้ไฟใน กรุงนิวเดลี เมืองหลวงที่เคยทำเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมถึงการห้ามซื้อ-ขายประทัดและพลุดอกไม้ไฟ ผ่านทางออนไลน์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง สุดท้ายชาวอินเดียจำนวนมากก็ฝ่าฝืนคำสั่ง แอบจุดพลุเฉลิมฉลองเทศกาลติวาลี เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดูอยู่ดี ด้วยจำนวนสัดส่วนการนับถือศาสนาฮินดูสูงถึง 75.5% ของประชากรทั้งหมด หลายพื้นที่ในอินเดีย เรื่องของศรัทธาจึงดูจะสำคัญกว่าสิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนชาวอินเดียบางส่วน ไม่สนใจว่าแม่น้ำจะสกปรกแค่ไหน แรงศรัทธาที่ชาวอินเดียมีต่อแม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์นั้นสูงกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่นเดียวกับค่านิยมการเผาศพริมฝั่งแม่นํ้ามากกว่าการฝังในดินที่ไม่ก่อผลพิษ ส่งผลให้เมืองพาราณสีได้ฉายาว่านครแห่งแสงไฟ เนื่องจากไฟที่เกิดจากการเผาศพถูกจุดต่อเนื่องกันไม่ดับมาเป็นระยะเวลากว่า 5,000 ปีจนถึงปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บริเวณแม่น้ำคงคาคือจุดที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย รัฐบาลไม่สามารถจัดการอะไรได้ อย่าว่าแต่การขอความร่วมมือ การออกกฎหมายก็แทบจะไร้ความหมาย ไม่มีใครตอบสนองจากชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวฮินดูในอินเดียเป็นเรื่องยากและน่าหนักใจมากๆ ของทางการอินเดีย

คนอินเดียอยู่กันอย่างไร

แน่นอนว่าประเทศที่เต็มไปด้วยการเผาไหม้ ประชาชนย่อมประสบปัญหาด้านสุขภาพ มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2017 มลพิษอากาศคร่าชีวิตชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2019 ประชากรกว่า 1.67 ล้านคน เสียชีวิตจากปัญหาอากาศที่เป็นพิษ หรือคิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในปีนั้น ผลการศึกษาในวารสาร The Lancet Planetary Health เปิดเผยว่าปัญหาฝุ่นพิษในอินเดียส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคนทุกปี

สำหรับผลการวิเคราะห์พบว่ามลพิษในอากาศนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทางเดินหายใจติดเชื้อ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ซึ่งการเสียชีวิตในปี 2019 นี้นำไปสู่การสูญเสียคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.36% ของ GDP ของประเทศ ซึ่งภัยเงียบนี้ยังคงสร้างผลกระทบต่ออินเดียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ฝุ่นละออกขนาดเล็กหรือ PM2.5 สร้างผลกระทบทั้งด้าน ระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด , ระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง , ระบบประสาท อาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมองในเด็ก และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน , ระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและโรคภูมิแพ้ และ ระบบผิวหนัง ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่นแพ้ และเร่งกระบวนการแก่ก่อนวัย เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวอินเดียนับพันล้านคนกำลังเผชิญอยู่

กระนั้น สิ่งที่คนอินเดียทำได้มีเพียงแค่การหาอะไรมาปิดจมูกไว้ ไม่ต้องพูดถึงหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ หน้ากาก N95 หรือ หน้ากากอนามัย ซึ่งมีประชากรที่มีฐานะเท่านั้นจึงจะสามารถหาซื้อได้ ชาวอินเดียส่วนใหญ่ใช้เพียงหน้ากากผ้า ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าบางๆ ปิดจมูกและปากแล้วใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ แน่นอนว่ามันไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้เลย

ชาวอินเดียจำนวนมากเลือกจะไม่ใช้อะไรป้องกันตัวจากฝุ่นพิษเลย มันน่าหดหู่ พวกเขากำลังใช้ชีวิตอยู่ราวกับไร้ความหวัง ไม่ต้องพูดถึงการซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ในบ้าน แม้สภาพเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโต แต่รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงต่ำ มีความเหลื่อมล้ำสูง ระบบสุขภาพแย่ ชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องสภาพอากาศ พวกเขาสนใจเรื่องปากท้องและการเอาชีวิตรอดในแต่ละวันมากกว่า เราจึงเห็นคนอินเดียส่วนน้อยที่ตื่นตัวเรื่องของฝุ่น PM2.5 ขนาดวันที่รัฐบาลประกาศว่าไม่ควรออกมาข้างนอกอาคาร ก็ยังสามารถพบเห็นผู้คนจำนวนมากฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่ห่วงสุขภาพตัวเอง เพราะหากไม่ออกจากบ้านมาทำงานก็จะอดตายอยู่ดี

ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศอินเดีย แม้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ยังน้อย และเพิ่มในบางรัฐเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณมลพิษที่มากขึ้นทุกวัน ถือว่ายังห่างไกลกับการใช้คำว่าเมืองสีเขียว โดยกฎหมายห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ในกรุงนิวเดลีเพิ่งมีขึ้นเมื่อปี 2017 ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ยังพอมีพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงอยู่

ผลกระทบครั้งใหญ่จากปัญหานี้คือนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมาอินเดียมีจำนวนลดลงทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านมลพิษที่สูง แต่ตอนนี้กลับมีสถานที่ตลกร้ายเกิดขึ้นในกรุงนิวเดลีและหลายเมืองใหญ่คือ บาร์ออกซิเจน-ร้านขายออกซิเจน จุดที่ผู้คนสามารถที่เข้ามาได้สูดอากาศบริสุทธิ์ รับออกซิเจนสะอาดเข้าไปในร่างกายได้ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ลูกค้าสามารถหายใจเอาออกซิเจนบริสุทธิ์ได้ 80-90% ราคาเริ่มต้นที่ 299 รูปีอินเดีย หรือประมาณ 120 บาท น่าตกใจว่าอินเดียมาถึงยุคที่ หากต้องการสูดอากาศดีๆ ต้องจ่ายเงินซื้อกันแล้ว

 

สืบค้นและเรียบเรียง : สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพ : Saumya Khandelwal

อ้างอิง

www.reuters.com

www.bbc.com

https://www.hindustantimes.com


อ่านเพิ่มเติม : 11 กรกฎาคม 2566 วันประชากรโลก ปีที่อินเดียแซงจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.