เมื่อโลกร้อนทำให้พืชมีสารอาหารน้อยลง ผลกระทบก็จะตกอยู่กับเราและห่วงโซ่อาหารทั่วโลก

“สัตว์มากกว่า 1 ใน 3 บนโลกต่างกินพืชเป็นอาหาร”

และมีอีกหลายสายพันธุ์ที่เราเลี้ยงไว้เป็นอาหารเช่นหมูและวัว แต่ทว่าพืชนั้นเป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ พวกมันจึงต้องบริโภคปริมาณมหาศาลเพื่อให้ร่างกายได้รับอย่างเพียงพอ กระนั้นดูเหมือนว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะสร้างความท้าทายให้พวกมันยิ่งกว่า 

กิจกรรมของมนุษย์ทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ ‘พืชบางชนิด’ เติบโตเร็วขึ้นในระบบนิเวศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าสิ่งนี้อาจช่วยต่อสู่กับก๊าซเรือนกระจกได้ เนื่องจากคาร์บอนถูกเก็บไว้ในพืชมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยสารอาหารที่น้อยลง

“ฉันเป็นนักนิเวศวิทยาและทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานเพื่อตรวจสอบว่า สารอาหารที่เจือจางลงไปนี้จะส่งผลต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งห่วงโซ่อาหารได้อย่างไรบ้าง” เอลเลน เวลติ (Ellen Welti) นักนิเวศวิทยาจากโครงการวิทยาศาสตร์ ‘Great Plains’ ของสถาบันสมิธโซเนียน กล่าว 

“เรามุ่งเน้นไปที่การตอบสนองของประชากรที่กินพืชเป็นอาหาร ตั้งแต่ตั๊กแตนตัวเล็กไปจนถึงแพนด้ายักษ์ ซึ่งเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการของพืชในระยะยาวนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนสัตว์ลดลงและมักถูกมองข้ามไป”

หากพืชมีสารอาหารน้อยลง สัตว์กินพืชก็จะต้องใช้เวลาในการค้นหาและกินอาหารมากขึ้น ซึ่งทำให้พวกมันเสี่ยงในหลาย ๆ ด้านทั้งอันตรายจากผู้ล่าและความเครียดในสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเท่านั้นคุณค่าที่น้อยก็ยังหมายความว่าสัตว์มีร่างกายแข็งแรงน้อยลงด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทบต่อการเติบโต สืบพันธุ์ และการเอาชีวิตรอด

คาร์บอนที่เพิ่มขึ้นและสารอาหารที่ลดลง

งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังทำให้สารอาหารในพืชผลทางการเกษตรของมนุษย์ลดลง รวมไปถึงทองแดง แมกนีเซียม เหล็ก และสังกะสีที่น้อย โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็ก สังกะกี และโปรตีนนั้นดูจะได้รับผลกระทบรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามนุษย์จะขาดสารอาหารที่กล่าวไปข้างต้นมากขึ้นในทศวรรษหน้าเนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้างอย่างแน่นอน โดยเฉพาะประชากรที่พึ่งพาข้าวและข้าวสาลีอย่างมาเช่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง

การลดลงเหล่านี้ยิ่งน่ากังวลในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เช่นแพนด้ายักษ์ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูง พวกมันเป็นสัตว์ที่มีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำและต้องการไม้ไผ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่มาก แต่ปัจจุบันมันกำลังถูกคุกคามจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและถูกกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเงียบ ๆ

“เป็นที่ทราบกันดีว่าแพนด้ายักษ์พึ่งพาไม้ไผ่ทั้งหมดและใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการกินไผ่ ปัจจุบันด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ส่งผลให้คุณค่าทางโภชนาการของไม้ไผ่ลดลง และทำให้ไม้ไผ่มีชีวิตรอดได้ยากขึ้น” เวลติ กล่าว 

แม้แต่แมลงก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของห่วงโซ่อาหารจำนวนมากทั่วโลก อีกทั้งยังทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับพืชดอกหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์พบว่าในพื้นที่ที่ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงแล้วนั้นมีแมลงลดลงจนทำให้พืชมีความหลากหลายน้อยลงไปตาม

ขณะเดียวกันก็คาดว่าพืชที่มีสารอาหารน้อยลงก็มีส่วนที่ทำให้แมลงลดลงด้วยเช่นกัน เช่นหนอนผีเสื้อที่ชอบกัดกินใบไม้จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ขณะที่แมลงอย่างตั๊กแตนและเพลี้ยอ่อนที่กัดกินพืชผลอาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีอาหารให้พวกมันกินมากขึ้นและยังได้รับประโยชน์จากพืชที่มีคาร์บอนสูงด้วย

ผลกระทบที่ไม่เท่าเทียม

สัตว์กินพืชบางชนิดอาจเผชิญกับการลดลงอย่างมากเนื่องจากต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงเช่น สัตว์ฟันแทะ กระต่าย โคอาล่า ม้า แรด และช้างต่างก็ล้วนเป็นสัตว์ที่ย่อยอาหารจากลำไส้ส่วนใหญ่ได้ โดยมีกระเพาะเดี่ยวที่เรียบง่าย และอาศัยจุลินทรีย์ลำไส้เพื่อสกัดสารอาหารจากอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

สัตว์เหล่านี้ต้องการอาหารที่มีสารอาหารหนาแน่นกว่าสัตว์เคี้ยงเอื้องอย่างวัว แกะ แพะ และควายป่าที่มี 4 กระเพาะไว้ย่อยอาหารในแต่ละจั้นตอน ขณะเดียวกันสัตว์ตัวเล็กก็มักต้องการสารอาหารที่หนาแน่นมากขึ้นไปอีกเนื่องจากพวกมันมีการเผาผลาญเร็วกว่าและใช้พลังงานต่อหน่วยมวลร่างกายมากกว่า อีกทั้งยังมีสำไส้ที่เล็กกว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถสกัดสารอาหารทั้งหมดจากอาหารได้ง่ายนัก

“จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจว่าการเจือจางสารอาหารอาจมีบทบาทอย่างไรในการลดลงของแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงการทดลองที่เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์เทียม และการศึกษาที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของพืชในระยะยาวควบคู่ไปกับสัตว์ในทุ่งหญ้า” เวลติ กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสำหรับในระยะยาวแล้ว สิ่งสำคัญก็คือต้องเข้าใจว่าการเจือจางสารอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารทั้งหมดอย่างไร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในสายพันธุ์และลักษณะของพืช รวมถึงผลกระทบต่อกลุ่มสัตว์อื่น ๆ เช่นนักล่า 

“การเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการของพืชที่เป็นผลจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบนิเวศทั่วโลก” 

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.sciencedirect.com

https://theconversation.com

https://theconversation.com


อ่านเพิ่มเติม : ‘โลกร้อน’ ทำให้ยุงแพร่พันธุ์เร็ว ไข้เลือดออกระบาดหนัก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.