เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรหากโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ? นักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ต่างเริ่มตั้งคำถามกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าชุมชนทั่วโลกไม่ได้มีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวดเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้มีแนวโน้มแย่ลงเรื่อย ๆ ทว่าตำตอบตัวเลขเฉพาะเจาะจงนั้นยังไม่มีความแน่นอน
ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ใช้แบบจำลองสภาพเศรษฐกิจในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือที่เราหลายคนรู้จักว่า GDP นั้นจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 11 ภายใต้สถานการณ์ภาวะโลกร้อนขึ้น 4°C
อย่างไรก็ตามดร. ทิโมธี นีล (Timothy Neal) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์และผู้เขียนรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Environmental Research Letters นี้เผยว่าผลลัพธ์ก่อนหน้านั้นเป็น ‘การสรุปแบบไม่ได้ตั้งใจ’ ที่ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน แบบจำลองเศรษฐกิจก่อนหน้าก็คำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศสุดขั้วในระดับที่ใหญ่กว่าเช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่เกิดขึ้นผิดปกติ
“ในอนาคตที่อากาศร้อนกว่านี้ เราคาดว่าจะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานแบบลูกโซ่ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลก” นีล กล่าว “ระบบเหล่านี้ที่ปัจจุบันช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็นจุดอ่อน”
เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ให้แม่นยำขึ้น ทีมวิจัยจึงต้องปรับปรุงแบบจำลองเดิมให้มีความละเอียดมากขึ้นด้วยการเพิ่มปัจจัยสภาพอากาศปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการจำกัดภาวะโลกร้อนที่โมเดลก่อนหน้านี้ระบุตัวเลขสูงสุดไว้ที่ 2.7°C เท่านั้น พร้อมกับเพิ่มสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเข้าไปด้วย
ผลลัพธ์ก็คือ หากโลกยังคงเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้ถึงจุดสูงสุดที่ 4°C จะทำให้ประชากรทั่วโลกยากจนลง 40 เปอร์เซ็น แต่หากอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่สูงไม่เกิน 2°C ก่อนยุคระดับอุตสาหกรรม GDP ต่อหัวทั่วโลกจะลดลงร้อยละ 16
“การปรับปรุงรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำปัจจัยสุดขั้วในภูมิภาคของคุณและผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานมาพิจารณา ถือเป็นสิ่งที่เร่งด่วนอย่างยิ่ง” นีล กล่าว “เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถประเมินต้นทุนความเปราะบางทางเศรษฐกิจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างครบถ้วน และจากนั้นก็ดำเนินการในสิ่งที่ชัดเจน นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
นีลกล่าวว่าสิ่งนี้เน้นย้ำให้ ‘ทุกประเทศ’ ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน แม้ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนจะระบุว่าพื้นที่บางภูมิภาคอาจได้รับประโยชน์จากภาวะโลกร้อนเช่นพื้นที่หนาวเย็นอย่างรัสเซียหรือแคนาดา แต่นีลชี้ว่านั่นอาจไม่เป็นความจริง เนื่องจากทุกประเทศต่างเชื่อมโยงกันอย่างแน่นหนาด้วยการค้าขายแล้ว
เช่นเดียวกับรายงานที่เผยแพร่เมื่อดือนมกราคมจากสถาบันนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นตัวแทนของวิชาชีพที่คอยสนับสนุนการตัดสินใจด้านการจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยและกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกระบุว่า ‘การประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ล้มเหลวในการคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพอากาศสุดขั้วในโลกแหล่งความเป็นจริง
เช่น การอพยพ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ หรือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยระบุว่า “ผลลัพธ์ที่ไม่ร้ายแรงแต่มีข้อบกพร่องเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความเชื่อที่ว่าความเสี่ยงเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ช้าและมีผลกระทบจำกัด แทนที่จะเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่ต้องดำเนินการในทันที”
มาร์ก ลอว์เลนซ์ (Mark Lawrence) ผู้ศึกษาวิจัยความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในฐานะศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลด ระบุว่าผลลัพธ์ของรายงานใหม่นี้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าแบบเก่า
“ผมเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ(ของการเปลี่ยแปลงสภาพอากาศ)อาจเลวร้ายยิ่งกว่านี้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าการขาดความเชื่อมโยงระหว่างแบบจำลองกับผลกระทบจากสภาพอากาศในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นทำให้สถานการณ์เลวร้ายได้
และ “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับจากการดำเนินการตามนโยบายด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน ก็อาจถูกประเมินค่าต่ำไปอย่างมากเช่นกัน”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา