ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับภัยจากการปะทุของภูเขาไฟหลายครั้ง เริ่มกันที่ภูเขาไฟอีบูที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร ที่เกิดการปะทุมากกว่า 1,000 ครั้งในเดือนมกราคมปี 2025
ส่วนภูเขาไฟเลวโตบี ลากิ-ลากิทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฟลอเรส ก็พ่นเถ้าสูงกว่า 8 กิโลเมตร ในวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา จนต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินบางส่วน โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเกาะบาหลี แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอินโดนีเซีย และทางการต้องยกระดับคำเตือนฉุกเฉินขึ้นสู่ระดับสูงสุดสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและนักท่องเที่ยว
หน่วยงานภูเขาไฟวิทยาของอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์ว่า เถ้าจากภูเขาไฟมีสีเทาเข้มไปจนถึงดำและมีความหนาแน่นสูง ซึ่งการปะทุที่ยาวนานครั้งนี้ทำให้หน่วยงานธรณีวิทยาของประเทศต้องยกระดับเตือนภัยของภูเขาไฟขึ้นสู่ระดับสูงสุดจากทั้งหมด 4 ระดับ รวมถึงยังมีการประกาศเตือนสึนามิโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีสึนามิเกิดขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ ภูเขาไฟเลวโตบี ลากิ-ลากิเคยปะทุในเดือนพฤศจิกายนปี 2024 จนให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ราย และทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ โดย อินโดนีเซีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดในโลก (ประมาณ 74 ลูก) ภูเขาไฟจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) เขตที่มีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดแผ่นดินไหวและการปะทุของภูเขาใกล้เมืองใหญ่ไฟบ่อยที่สุด
หมายเหตุ หากนับเฉพาะประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียจะอยู่ที่อันดับ 3 มีภูเขาไฟจำนวน 120 ลูก ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีภูเขาไฟ 165 ลูก (รวมอลาสก้าและฮาวาย แต่ที่ยังคุกรุ่นมีเพียง 63 ลูก) และ ญี่ปุ่น อันดับ 2 มีภูเขาไฟจำนวน 122 ลูก คุกรุ่นอยู่ 62 ลูก
ภูเขาไฟซุนด์ฮนูคากีการ์ (Sundhnúkur) บนคาบสมุทรในประเทศไอซ์แลนด์ปะทุหลายครั้งในเดือนเมษายน ปี 2025 ทำให้ต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากมีลาวาไหลออกมาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งแม้ว่าประเทศนี้จะมีภูเขาไฟไม่มาก คือ 30 กว่าลูก แต่ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นประมาณ 14 ลูก กลับปะทุและปล่อยเถ้าถ่านรวมถึงลาวาออกมาบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนแนวสันกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุด 2 แผ่นบนโลกคือ แผ่นยูเรเชียและแผ่นอเมริกาเหนือ
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ภูเขาไฟซุนด์ฮนูคากีการ์บริเวณชานเมืองกรินดาวิกเกิดการปะทุระลอกใหม่ ทำให้มีลาวาพวยพุ่งขึ้นจากรอยแยกบนพื้นดินในหลายจุดเป็นแนวยาวจนกลายเป็นกำแพงเพลิง โดยรอยแยกดังกล่าวขยายจาก 700 เมตรเพิ่มเป็น 1,200 เมตร และยังมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งตลอดวันในพื้นที่
ขณะที่บางจุด ลาวาปะทุขึ้นสูงจนเห็นเป็นฉากหลังของอาคารในเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ ท่ามกลางกลุ่มควันและไอน้ำที่ลอยกระจายไปในอากาศ จนทางการสั่งอพยพประชาชนระลอกใหม่แล้วกว่า 40 ครัวเรือน แม้จะมีชาวบ้านยืนยันว่าจะอยู่ในพื้นที่ไม่อพยพอีกอย่างน้อย 8 คน หลังจากการอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้นไปตั้งแต่ปลายปี 2023 ทำให้ประชากรร่วม 4,000 คนของเมืองนี้ส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่เสี่ยงไปหมดแล้ว นอกจากนี้การปะทุของภูเขาไฟครั้งล่าสุดยังส่งผลให้ต้องปิดแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง Blue Lagoon เป็นการชั่วคราวด้วย
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ แจ้งว่า การปะทุเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น บนแนวปล่องภูเขาไฟซุนด์ฮนูคากีการ์ ทำให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีส้ม กลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยขึ้นปกคลุมท้องฟ้าสูงขึ้นไป 3 กิโลเมตร แนวลาวาที่ก่อตัวอยู่ใต้ปากปล่องภูเขาไฟบริเวณดังกล่าวขยายยาวเป็นประมาณ 11 กิโลเมตร กินพื้นที่มากที่สุดนับตั้งแต่การปะทุเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2023 และนับเป็นการปะทุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องบนคาบสมุทรเรกยาเนส นับตั้งแต่ปี 2021
ภูเขาไฟคานลาออนในฟิลิปปินส์ปะทุครั้งใหม่จนเกิดฝนเถ้าถ่านไปทั่วเกาะเนกรอส
วันอังคารที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ภูเขาไฟคานลาออน (Mount Kanlaon) ในฟิลิปปินส์ปะทุรุนแรงส่งเถ้าถ่านสูง กว่า 4 กิโลเมตร จนรัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนใน 4 หมู่บ้านบนเกาะเนกรอส เนื่องจากเกิดฝนเถ้าถ่านเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจากรายงานของสถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหวฟิลิปปินส์ ระบุว่า การปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟคานลาออนเกิดขึ้นหลังรุ่งสางและกินเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง ทำให้เถ้าถ่านตกกระจายไปยังหมู่บ้านเกษตรกรรมอย่างน้อย 4 แห่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาไฟ
กระนั้น โชคดีที่ครั้งนี้ไม่พบรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหายอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ภูเขาไฟคานลาออนเคยปะทุครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แสดงถึงสัญญาณของความไม่สงบของภูเขาไฟลูกนี้ ขณะเดียวกันตั้งแต่ต้นปี 2025 ฟิลิปปินส์ยังเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ซึ่งนักภูเขาไฟวิทยาของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ยังไม่พบสัญญาณสำคัญอื่นๆ ของแผ่นดินไหวที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟ จนทำให้ต้องยกระดับการเตือนภัยจากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 3 (มีความไม่สงบของภูเขาไฟในระดับสูง) โดยระดับการเตือนภัยสูงสุดคือระดับ 5 (เกิดการปะทุที่เป็นอันตราย)
สำหรับภูเขาไฟคานลาออนมีความสูง 2,435 เมตร เป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นมากที่สุดของฟิลิปปินส์ โดยในปี 1996 เคยเกิดเหตุปะทุรุนแรงแบบกะทันหัน (ไม่มีสัญญานเตือน) จนทำให้นักปีนเขาเสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ประสบภัยอีกหลายคนติดในพื้นที่ ต้องรอรับการช่วยเหลือในภายหลัง
ฟิลิปปินส์มีภูเขาไฟ 38 ลูก ยังคุกรุ่นอยู่ 15 ลูก ตั้งอยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟของมหาสมุทรแปซิฟิก หมู่เกาะแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง แถมยังต้องเผชิญกับพายุกับไต้ฝุ่นปีละประมาณ 20 ลูก ส่งผลให้ฟิลิปปินส์เป็น 1 ในประเทศที่ประสบภัยพิบัติบ่อยที่สุดชาติหนึ่งของโลก
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภูเขาไฟเมานาโอลา ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเกาะใหญ่ของรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 4,169 เมตร ซึ่งความสูงจากฐานใต้ทะเลถึงยอดเขามากกว่า 10,000 เมตร หากนับจากฐานที่อยู่ใต้มหาสมุทร ถือว่าสูงกว่าภูเขาเอเวอเรสต์ ครอบคลุมพื้นที่ราว 5,200 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเกาะฮาวายใหญ่ ดังนั้น ภูเขาไฟเมานาโอลา จึงครองตำแหน่ง ภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งตามปริมาตรและพื้นที่ (ไม่ใช่แค่ความสูงจากระดับน้ำทะเล)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 เมษายน ภูเขาไฟคิลาเวอาในเกาะฮาวายปะทุจนมีน้ำพุลาวาสูงเกือบ 10 เมตร แต่เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มันเคยพ่นลาวาสูงกว่า 300 เมตร สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 50 ปี และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการปะทุอีกเป็นระยะ ซึ่งการปะทุครั้งนี้ต่างจากการปะทุในอดีตที่เกิดในแนวรอยแยก แต่การปะทุครั้งนี้จำกัดอยู่ภายในปล่องภูเขาไฟที่ยอดเขา บริเวณปล่อง และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากหลายจุดในอุทยานแห่งชาติภูเขาไฟฮาวาย
เคน ฮอน นักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบจากหอดูภูเขาไฟฮาวายของสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐฯ กล่าวว่า “มันน่าทึ่งมาก นี่เป็นหนึ่งในการปะทุที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นที่นี่ในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ในแง่การท่องเที่ยว แค่ขับรถเข้าไปในอุทยาน เดินไปที่โรงแรม Volcano House ก็สามารถชมลาวาพุ่งได้จากที่นั่นเลย”
การปะทุของภูเขาไฟคิลาเวอาเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2024 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภูเขาไฟก็ได้ปะทุเป็นช่วงๆ สามารถเริ่มปะทุอีกครั้งได้ทุกเมื่อ แต่ไม่มีอะไรน่ากังวลเมื่อเทียบกับการปะทุของภูเขาไฟในจุดอื่นๆ ของโลกที่รุนแรง การปะทุของภูเขาไฟคิลาเวอารอบนี้ไม่ได้มีความอันตรายมาก ผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นความสวยงามตามธรรมชาติ บางครั้งปรากฏการณ์นี้จึงเป็นผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยว แต่ด้วยความที่ทำเลของประเทศฮาวาย ตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ และอยู่เหนือจุด Hotspot ที่มีกลุ่มแมกมาพุ่งขึ้นมาจากส่วนลึกของชั้นแมนเทิลของโลก ทุกครั้งที่เกิดการปะทุของภูเขาไฟบนเกาะ จึงยังถูกจับตาจากนักธรณีวิทยาทั่วโลก
ในทางวิทยาศาสตร์การเกิดขึ้นของภูเขาไฟปะทุกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าการกระจายตัวของกระบวนธรณีแปรสัณฐานที่ปลดปล่อยความเครียดออกมา อาจทำให้เกิดการปะทุภูเขาไฟได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกคือส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อกัน
การปะทุของภูเขาไฟมีจังหวะของตัวเองจากการเคลื่อนตัวของหินหนืดดันตัวขึ้นมาสู่พื้นผิวโลก เช่นเดียวกับ แผ่นดินไหวที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณวงแหวนแห่งไฟ บางครั้งก็มีการตื่นขึ้นของภูเขาไฟและการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในเวลาเดียวกัน ทั้งพื้นที่ซึ่งใกล้-ไกลกัน แต่ปัจจุบันก็ยังถือว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2 สิ่งนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกัน การเกิดขึ้นต่อเนื่องกันหรือพร้อมกัน เป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น
อนึ่ง การที่ภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ ฮาวาย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียปะทุในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกันมากใน 3 ทวีป ส่วนการปะทุขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ น่าจะเป็นเพราะกลุ่มเปลือกโลกหรือวงจรความเครียดของโลกปลดปล่อยพลังงานออกมาใกล้ๆ กับการตื่นของภูเขาไฟ ซึ่งหลังจากนี้แผ่นดินไหวอาจมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากรอยต่อของเปลือกโลกได้ปล่อยพลังออกมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่การปะทะของภูเขาไฟในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก อาจดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน กว่าจะสงบลง
ภูเขาไฟที่ทั่วโลกต้องจับตาว่าหากเกิดการปะทุหรือระเบิดขึ้น อาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมี 3 แห่ง คือ ภูเขาไฟวิสุเวียส 1 ในภูเขาไฟอันตรายที่สุดในโลกที่อิตาลี ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเนเปิลส์ เหนืออ่าวเนเปิลส์ วิสุเวียส เป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับเพียงแห่งเดียวในแผ่นดินใหญ่ทวีปยุโรป ซึ่งในอดีตภูเขาไฟแห่งนี้เคยระเบิดครั้งใหญ่จนฝังเมืองปอมเปอีกับเมืองเฮอร์คิวลาเนียมทั้งเมือง และทำให้มีชาวบ้านล้มตายนับหมื่นรายในช่วง ค.ศ. 79 มาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ภูเขาไฟแห่งนี้ถูกเฝ้าระวัง
ภูเขาไฟอิโวจิม่า หรือ ภูเขาไฟสุริบาจิ ในญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่บนเกาะอีโอโตะเป็นอีกแห่งที่น่ากังวล ภูเขาไฟชนิดกรวยแห่งนี้ยังมีการปะทุอยู่เรื่อยๆ จนเกาะทั้งเกาะกำลังยกตัวสูงขึ้นจากการเคลื่อนตัวของแมกมาใต้ดิน ภายในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเกาะได้ขยายขนาดเพิ่มขึ้นจากการสะสมของลาวาและเถ้าภูเขาไฟ ทำให้นักธรณีวิทยาจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าหากเกิดการปะทุใต้น้ำทะเลรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ขึ้นมาได้
และภูเขาไฟเยลโล่สโตนในสหรัฐอเมริกา หลายคนอาจไม่ทราบว่า เยลโล่สโตน ไม่ได้เป็นเพียงอุทยานแห่งชาติในรัฐไวโอมิง แต่ยังเป็นซุปเปอร์ภูเขาไฟขนาดมหึมาที่มีแมกมาใต้พื้นดินจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดระเบิดขึ้นจะปล่อยเถ้าภูเขาไฟจำนวนมหาศาลขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อสภาพอากาศโลก ฝุ่นและเถ้าถ่านจะบดบังแสงอาทิตย์ จนอาจทำให้อุณหภูมิโลกลดลง โดยหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาอาจโดนถล่มด้วยเถ้าถ่านหนากว่า 1 เมตร และภัยพิบัตินี้จะกระทบต่อทั้งการเกษตร น้ำ อาหาร และเศรษฐกิจทั่วโลก จากระบบการเดินทาง เครื่องบิน การสื่อสาร ที่หยุดชะงัก
ภูเขาไฟเยลโล่สโตนเคยมีการปะทุใหญ่ๆ มาแล้ว 3 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 640,000 ปีที่แล้ว แม้มีโอกาสน้อย แต่นักธรณีวิทยาเชื่อว่า มันอาจปะทุอีกครั้งในอนาคต ทว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยมีข่าวดีคือ นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ตอนนี้ยังไม่พบสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่าภูเขาไฟเยลโล่สโตนจะเกิดการปะทุครั้งใหญ่ขึ้น
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพ : Carsten Peter
ข้อมูลอ้างอิง