เมื่อไม่นานมานี้ รายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักระบุตรงกันว่า ที่จังหวัดเชียงราย ชาวประมงพื้นบ้านได้เผยแพร่ภาพปลาแค้ขนาดเล็กที่จับได้ในแม่น้ำโขง บริเวณหน้าวัดพระแก้ว และพื้นที่บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีลักษณะตุ่มพุพองอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นั่นเพราะการปนเปื้อนของสารพิษในแม่น้ำส่งผลโดยตรงถึงความปลอดภัยระดับชีวิตและส่งผลต่อระบบนิเวศในภาพรวม
แฟนเพจ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นองค์กรด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และติดตามผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและโครงการผันน้ำในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวิน ให้ข้อมูลว่า ทีมงานสมาคมได้เก็บตัวอย่างปลาในพื้นที่เดียวกันนี้มาสักระยะ พบปลาที่มีลักษณะตุ่มพองแบบเดียวกันตั้งแต่ก่อนปรากฏเป็นข่าว โดยมากพบที่ปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายและใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ส่งตัวอย่าง ไปยังประมงจังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปตรวจโรคและสารโลหะหนัก
“ส่วนใหญ่พบในปลากินเนื้อ เช่น ปลาแค้ ปลาคัง ซึ่งสมาคมได้ทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2567 เราสันนิษฐานว่า สาเหตุของเรื่องนี้มาจากสารปนเปื้อนในน้ำ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหมืองแร่ที่ตั้งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง การพบสารพิษในแม่น้ำกก ที่ไม่เคยพบมาก่อนในพื้นที่น่ากังวลมาก เพราะที่ จ.เชียงราย ปกติปลาก็ลดลงอยู่แล้ว การพบสารพิษ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของปลา” สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต บอกกับ National Geographic ฉบับภาษาไทย
รายงานข่าวระบุว่า ได้นำตัวอย่างปลาจากแม่น้ำโขงในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไปตรวจสอบ พบปรสิตและแบคทีเรียในปลาบางส่วน ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณสารหนูสูงสุดเท่าที่เคยตรวจพบที่บริเวณแก่งตุ๋ม อยู่ที่ระดับ 0.037 มิลลิกรัมต่อลิตร
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 สำนักข่าว Thai PBS รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณต้นแม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา พบการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นสาเหตุ ที่ทำให้น้ำและดินปนเปื้อนสารอันตรายหลายชนิด จนส่งผลกระทบต่อชุมชน
ขณะเดียวกัน บริเวณแม่น้ำสายเหนือชายแดนขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร พบมีการเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองแร่กันอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านในเมืองตูม ประเทศเมียนมา รายงานว่ากองกำลังว้าได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนเหมืองแร่ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก รัฐบาลเมียนมา อาจไม่มีอำนาจในการดูแลพื้นที่ นอกจากนี้ทั้งลุ่มน้ำไม่มีการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ ทำให้สัตว์น้ำในพื้นที่ตายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวได้ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันนี้ (20 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงข้อกังวลนี้ว่า ได้พูดคุยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ไปช่วยดูแลในเรื่องนี้ แล้ว และหากได้รายละเอียดเพิ่มเติมจะมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ระบุถึง ‘ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ’ จากภาคประชาชนในลุ่มแม่น้ำกกประเทศไทย ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้แก่