ธรรมชาติล้ม เศรษฐกิจก็ล้ม: ความหลากหลายทางชีวภาพกับโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

“รู้ไหม GDP ครึ่งหนึ่งของโลกขึ้นอยู่กับธรรมชาติ”

เราอาจคุ้นเคยกับการมองเศรษฐกิจผ่านตัวเลข รายได้ หรือการเติบโตของธุรกิจ แต่เบื้องหลังสินค้าทุกชิ้น บริการทุกประเภท และระบบเศรษฐกิจโดยรวม ล้วนตั้งอยู่บนฐานของธรรมชาติที่สมดุล ซึ่งเป็น ‘ต้นทุน’ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเงียบ ๆ มาตลอด

แต่วันนี้ ต้นทุนสำคัญนี้กำลังถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว และแทบไม่มีใครคิดจะเติมคืน ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรเกินขนาด ไปจนถึงการขยายตัวของเมือง หากปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไป ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่สิ่งแวดล้อม แต่จะลามไปถึงภาคธุรกิจ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพของผู้คน และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ในบทความนี้ เราจะชวนคุณมองความหลากหลายทางชีวภาพผ่านมุมของธุรกิจ ไม่ใช่แค่เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน แต่เพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจไทยกำลังพึ่งพาธรรมชาติมากแค่ไหน กำลังสูญเสียอะไรไปบ้าง และภาคธุรกิจจะมีบทบาทอย่างไรในการรักษาต้นทุนสำคัญนี้ไว้ ก่อนที่มันจะกลายเป็นต้นทุนที่แพงที่สุดในอนาคต

ความหลากหลายทางชีวภาพคือรากฐานของเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก เรามีพรรณไม้มากถึงประมาณ 15,000 ชนิด คิดเป็นเกือบ 8% ของพืชทั้งหมดในโลก และยังมีพื้นที่ป่าธรรมชาติครอบคลุมราว 31% ของพื้นที่ประเทศ ความหลากหลายของภูมิประเทศและระบบนิเวศที่กระจายทั่วประเทศทำให้ไทยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายากและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศจำนวนมาก รวมถึงปะการังที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

แม้ไทยจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว ยังคงต้องพึ่งพิงธรรมชาติและระบบนิเวศโดยตรง นั่นทำให้คำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของมิติทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยตรง และนี่คือที่มาของคำว่า ‘บริการของระบบนิเวศ’ ซึ่งหมายถึงประโยชน์หลากหลายที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาหาร น้ำสะอาด และวัตถุดิบ การควบคุมภัยพิบัติหรือศัตรูพืช การมอบพื้นที่สำหรับพักผ่อนและการท่องเที่ยว ไปจนถึงบริการพื้นฐานอย่างการผสมเกสรหรือวัฏจักรของน้ำและธาตุอาหารในดิน

ในชีวิตจริง ธุรกิจไทยจำนวนมากล้วนได้รับประโยชน์จากบริการเหล่านี้ พืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิด เช่น กาแฟ แตงโม หรือมะม่วง ต้องอาศัยแมลงในการผสมเกสร หากไม่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ผลผลิตเหล่านี้ก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ป่าต้นน้ำทำหน้าที่กรองและกักเก็บน้ำสะอาดให้กับชุมชนและภาคเกษตร ช่วยลดความรุนแรงของภัยแล้ง 

ขณะเดียวกันต้นไม้และผืนดิน ก็มีบทบาทสำคัญในการรักษาอุณหภูมิและควบคุมความชื้นของพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ ทรัพยากรจากป่า เช่น ไม้สักหรือไม้ยาง ก็เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและธุรกิจจำนวนมาก

ทางด้านการท่องเที่ยวเอง ความหลากหลายของธรรมชาติยังเป็นจุดขายที่สำคัญ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและชุมชน ซึ่งคิดเป็นกว่า 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP (ก่อนช่วงโควิด) ธรรมชาติจึงไม่ใช่แค่ Background ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงสร้างหลักที่ธุรกิจในหลายมิติต้องอาศัยอยู่ทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดให้การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงเร่งด่วนที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจโลกมากถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือครึ่งหนึ่งของ GDP โลก เพราะอย่างที่เรากล่าวไปตอนต้นว่าธุรกิจจำนวนมาก ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ขณะที่รายงานของธนาคารโลกก็เตือนว่า หากประเทศไทยไม่จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อาจสูญเสียรายได้จาก GDP สูงถึง 553 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 และรายงานจากโครงการ BIOFIN โดย UNDP ก็ย้ำว่าความเสื่อมโทรมของธรรมชาติจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชีวิตประชาชนในระยะยาว

รากฐาน (ความหลากหลายทางชีวภาพ) เศรษญกิจไทย ที่กำลังวิกฤต

แม้ว่าเราจะมีความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ แต่รายงานล่าสุดจาก Global Compact Network Thailand ระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤต จากการขยายตัวของเมือง การใช้ทรัพยากรเกินขนาด และการเกษตรเชิงเดี่ยว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือข้อมูลด้านป่าไม้ของไทยที่ระบุว่า ผืนป่าไทยหดหายลงมากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมาข้อมูลจากปี 2566 ถึงปี 2567 ระบุว่าประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 317,819 ไร่ จากปี 2565 ทำให้ปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ป่า 101,818,155 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%  การสูญเสียป่าขนาดนี้ หมายถึงการสูญเสียที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์และพืชนับพันชนิด อีกทั้งยังสกัดกั้นบริการระบบนิเวศสำคัญ เช่น การไหลของน้ำกรองน้ำสะอาด หรือการควบคุมอุณหภูมิ 

นอกจากป่าไม้แล้ว ทรัพยากรทางทะเลไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เมื่อมูลนิธิ The Environmental Justice Foundation หรือ EJF ได้นำเสนอรายงานว่า ทะเลไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการทำประมงเกินขนาดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันเรือประมงไทยสามารถจับปลาได้เพียง 14% ของปริมาณที่จับได้ในช่วงปี 1960 

ปริมาณปลาที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องหันไปใช้ปลาที่เรียกว่า ‘Trash Fish’ หรือปลาขยะ ที่ไม่มีราคาในตลาด มาผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาวัยอ่อน ส่งผลให้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลไทยหมดลงอย่างรวดเร็ว มิหนำซ้ำ สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เลวร้ายขึ้นกว่าเดิม คือการที่เรือประมงหลายลำถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้นและออกทะเลไปไกลกว่าเดิมเพื่อให้ยังทำกำไรได้ด้วย

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์สุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วมและพายุรุนแรงบ่อยครั้ง ทำให้หลายสายพันธุ์ปรับตัวไม่ทัน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังเป็นภาระต่อระบบนิเวศในภูมิภาคเขตร้อน

หากรวมกับการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ แม่น้ำแหล่งน้ำสกปรก และเกิดจุดร้อนในผืนป่าไทยมากขึ้น ความเสียหายสะสมนี้เร่งให้เสถียรภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศยากที่จะฟื้นตัว ธุรกิจไทยที่ไม่ปรับตัวเพียงพอ จึงเสี่ยงต่อการเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบที่หายากและราคาแพงกว่าหรือมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น 

มาตรการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

ตามที่ United Nations Environment Programme (UNEP) ประเมินไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤตนี้จึงไม่เพียงส่งผลต่อพืชและสัตว์ แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เช่น นำไปสู่การลดลงของความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือแมลงผสมเกสร ซึ่งหากไม่มีปัจจัยดังกล่าว ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง และนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในที่สุด

ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้เศรษฐกิจโลกยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ ประชาคมโลกจึงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้น

ในการประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ สมัยที่ 73 ได้การกำหนดวิสัยทัศน์ปี 2050 เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ รวมถึงประกาศให้ปี 2021 ถึง 2030 เป็นศตวรรษแหงการฟื้นฟูระบบนิเวศ (UN Decade on Ecosystem Restoration) และเมื่อปี 2021 ณ การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 ( COP 15) ก็มีการรับรอง กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกขึ้น 

โดยสาระสำคัญของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ มีการกำหนดเป้าประสงค์ไว้ 3 ข้อ คือ 

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายและนโยบายเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพหลายด้าน เช่น แผนแม่บท BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของสอวช. ที่ผนวกรวมหลักเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนทัศนคติจาก Nature as Resource ที่มองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากร ไปเป็น Nature as Source ที่มองว่าเราหยิบยืมจากธรรมชาติ และเราต้องคืนกลับให้ธรรมชาติ เพื่อให้ธุรกิจนำทรัพยากรกลับมาใช้ตามหลักการหมุนเวียน 

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังประกาศจัดทำร่าง พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับแรกของประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน การเข้าถึงและแบ่งปันประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นธรรม ตลอดจนมาตรการคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หายากเพิ่มเติม โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมดุลและยั่งยืน

สิ่งแวดล้อมและธุรกิจ สองสิ่งที่ต้องเดินควบคู่กัน

แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในแผนกลยุทธ์หรือวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ แต่เมื่อโลกต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจต่างๆ จึงต้องเริ่มตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของตนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งไม่เพียงเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรม แต่ยังเป็นการปกป้องต้นทุนที่แท้จริงของกิจการในระยะยาว

ในอีกแง่หนึ่ง ธุรกิจเองก็สามารถเป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้ ผ่านการปรับกลยุทธ์ภายในองค์กรให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน เช่น การออกแบบห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดของเสีย และหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ทำลายระบบนิเวศโดยตรง

หลายบริษัทในประเทศไทยเริ่มขยับตัวอย่างชัดเจนในทิศทางนี้ ทั้งในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เริ่มประเมินความเสี่ยงเชิงระบบนิเวศในกิจการของตน และพัฒนาแผนการจัดการผลกระทบอย่างเป็นระบบ รวมถึงการลงทุนในโครงการฟื้นฟูป่า และการใช้วัสดุหรือวัตถุดิบทางเลือกที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ

ในขณะเดียวกัน ธนาคารและสถาบันการเงินก็เริ่มปรับบทบาทของตนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ด้วยการกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น สนับสนุนธุรกิจสีเขียว และให้เครดิตกับองค์กรที่แสดงความมุ่งมั่นในเรื่องการพัฒนาองค์กรด้วยหลักความยั่งยืน หรือ ESG อย่างจริงจัง

แม้แนวโน้มเหล่านี้จะเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่ความจริงแล้วประเทศไทยยังอยู่ห่างจากจุดสมดุลค่อนข้างมาก ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เพียง ‘เรื่องของป่า’ หรือ ‘เรื่องของสัตว์หายาก’ แต่คือโครงข่ายชีวิตที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว และแม้แต่ระบบการเงิน ล้วนต้องอาศัยความมั่นคงของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น ความยั่งยืนที่พูดกันในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงการทำ CSR หรือใส่โลโก้สีเขียวในรายงานประจำปีอีกต่อไป หากแต่ต้องฝังรากอยู่ในกลยุทธ์หลักขององค์กร เป็นเป้าหมายระดับเดียวกับกำไร เป็น KPI ที่เทียบเท่ากับยอดขาย และเป็นพันธกิจที่องค์กรต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ถ้าไม่มีธรรมชาติ องค์กรของเราจะดำรงอยู่ได้อย่างไร?”

อ้างอิง

https://policywatch.thaipbs.or.th

https://www.sec.or.th

https://ejfoundation.org

https://globalcompact-th.com

https://chm-thai.onep.go.th

https://setsustainability.com


อ่านเพิ่มเติม : มหาสมุทรจะฟื้นตัว ความหวังของ Sir David Attenborough

นักทำสารคดีวัย 99 ปี ชายผู้หลงรักโลกใต้ทะเล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.