เหตการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่องหลายครั้งนี้ เกิดขึ้นที่หมู่เกาะโทคาระ หมู่เกาะอันห่างไกลทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความวิตกอย่างยิ่ง จนบางคนกล่าวว่า ‘นี่อาจเป็นวันสิ้นโลก’ โดยอ้างถึงมังงะเรื่องหนึ่ง
“เกิดกิจกรรมแผ่นดินไหวจำนวนมากในทะเรอบ ๆ หมู่เกาะโทคาระ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน” อายาทากะ เอบิตะ (Ayataka Ebita) ผู้อำนวยการฝ่ายสังเกตการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิของสำนักงานฯ กล่าว “เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้(วันที่แถลงข่าว) เกิดแผ่นดินไหวสูงเกิน 900 ครั้งแล้ว”
หมู่เกาะโทคาระ (Tokara Islands) นั้นมีเกาะรวมทั้งหมด 12 เกาะ และผู้อาศัยอยู่ 7 เกาะทั้งหมดราว 700 คน โดยทางหนังสือพิมพ์ไม นิจิ ชิมบุน (Mainichi Shimbun) ได้รายงานไว้ว่าในช่วง 10 วันแรกมีแผ่นดินไหวมากถึง 740 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งในนั้นรุนแรงถึงระดับ 7 ที่สูงสุดตามมาตรฐานของญี่ปุ่น
และแม้ส่วนใหญ่จะต่ำกว่าระดับ 5 แต่ก็ถือว่ารุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนตกใจ และต้องคอยยึดเกาะกับสิ่งที่มั่นคงเอาไว้ ขณะที่ชาวเมืองก็รายงานว่าพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าจนไม่สามารถนอนหลับได้เลย
“รู้สึกเหมือนว่าแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา” ชาวเมืองคนหนึ่งกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ MBC ในภูมิภาค “น่ากลัวมาก แค่เผลอหลับไปก็รู้สึกแย่แล้ว” เช่นเดียวกับชาวเมืองอีกคนที่ระบุว่า “ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะจบลงเมื่อไหร่ แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าจะอพยพลูก ๆ ของฉันไปดีหรือไม่”
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่า
โดยรวมแล้วเมื่อนับจากวันแรกถึงวันล่าสุดนี้ มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 ครั้งบนเกาะต่าง ๆ ทำให้ประชาชนบางคนเชื่อว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นไปตามสิ่งที่เขียนไว้ในมังงะเรื่องหนึ่ง ซึ่งระบุว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดแมกนิจูด 8 ตามมาตรวัดริกเตอร์ในวันที่ 5 กรกฏาคม
ในปี 1999 มังงะเรื่อง The Future I Saw ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า เรียว ทัตสึกิ (Ryo Tatsuki ปัจจุบันอายุ 70 ปีและเกษียณแล้ว) โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหนึ่งที่มองเห็นภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น
ข้อความดังกล่าวได้รับการพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ และสร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว ซึ่งทางทัตซึกิ ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ‘อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้’ ทั้งนี้ความกังวลได้แพร่กระจายไปอย่างหยุดไม่ได้แล้ว
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบิน 2 สายจากฮ่องกงได้ลดเที่ยวบินมาไปยังภาคใต้ของญี่ปุ่นเหลือเพียงเที่ยวเดียวเนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยลงอย่างมาก “เราประหลาดใจที่ข่าวลือดังกล่าวทำให้มีการยกเลือกเที่ยวบิน” ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวคุโรชิมะ กล่าว
ยังไงก็ตามผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลได้ออกมาโต้แย้งว่า การคาดการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ล่วงหน้านั้นเป็นเรื่องยากมาก และเรื่องราวในมังงะก็เป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่มีหลักฐานการรองรับทางวิทยาศาสตร์
“ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเวลา สถานที่ หรือขนาดของแผ่นดินไหวที่แน่นอนได้” อายาทากะ เอบิตะ (Ayataka Ebita) ผู้อำนวยการฝ่ายติดตามแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น กล่าว “เราขอให้ผู้คนใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ”
ขณะที่ เรียวอิจิ โนมูระ (Ryoichi Nomura) ผู้อำนวยการสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เสริมว่า “เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ผู้คนได้รับผลกระทบจากข้อมูลที่ไร้เหตุผลในยุควิทยาศาสตร์สมัยใหม่นี้”
ก่อนหน้านี้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ออกรายงานว่า ‘มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าปกติ’ โดยเกี่ยวข้องกับ ‘ร่องลึกนันไก’ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า แอ่งนันไก (Nankai Trough) ซึ่งเป็นร่องน้ำลึกประมาณ 4,000 เมตร ทอดตัวห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 กิโลเมตร
แต่สิ่งที่ทำให้ร่องนี้น่าสนใจก็คือ มันเป็นร่องที่มีลักษณะพิเศษแบบความชันทำมุมต่ำ (Thrust faults; น้อยกว่า 45 องศาแต่มากกว่า 30 องศา) ทำให้มันมีการเคลื่อนตัวมากกว่ารอยเลื่อประเภทอื่น และมักพบในบริเวณที่ภูเขามีการเสียรูปอย่างรุนแรง รอยเลื่อนนี้จึงค่อนข้างอันตราย
ตามการประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่คณะกรรมการของรัฐบาลได้ออกปรับปรุงความน่าจะเป็นในเดือนมกราคมว่า แอ่งนันไก มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอีก 30 ปีข้างหน้าราว 75% ถึง 82%
และหากเกิดขึ้น ‘อย่างไม่ทันตั้งตัว’ (ในการปรับปรุงการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม) ก็อาจสร้างคลื่นสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 298,000 คน และสร้างความเสียหายที่มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้รัฐบาลได้ปรับปรุงแผนรับมือเรื่อยมา
แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับร่องลึกนันไกจำนวนมาก และในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ก็เกิดแผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนไปบ่อยครั้ง เชื่อกันว่าจะเกิดครั้งใหญ่ทุก ๆ 100 ถึง 200 ปี โดยครั้งใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ขนาด 8.1 ถึง 8.4 เกิดสึนามีสูง 6.9 เมตร และมีผู้เสียชีวิต 1,330 คน
ยังไงก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าแผ่นดินที่เกิดขึ้นนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ร่องลึกนันไก “ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ เพราะศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไกลออกไป” ผศ.ยากิฮาระ ฮิโรชิ (Yakiwara Hiroshi) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยคาโกชิมะ กล่าว
โดยอธิบายว่าสาเหตุน่าจะมาจาก ทางตะวันออกของหมู่เกาะนั้นตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ในด้านที่มหาสมุทรกำลังจมลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้มีแรงแผ่ขยายจากตะวันออกไปยังตะวันตกโดยมีร่องลึกโอกินาวาเป็นศูนย์กลาง
“แรงผลักและแรงจมดังกล่าวทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นในรอยเลื่อนโดยรอบ ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น” ผศ.ยากิฮาระ กล่าว พร้อมเสริมว่า เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนแผ่นดินไหวในอดีต โดยครั้งนี้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีแนวโน้มจะค่อย ๆ แพร่กระจายออกไปด้านนอก
และมีความเป็นไปได้ที่น้ำหรือ ‘ของเหลว’ อื่น ๆ จะลอยขึ้นมาใต้พื้นทะเล ทำให้รอยเลื่อน ‘ลื่น’ มากขึ้น
ด้วยจำนวนครั้งที่มากขนาดนี้ในอดีต ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาแผ่นดินไหวทั่วโลกจับตามองถึง ร่องลึกนันไก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยได้จับภาพ ‘แผ่นดินไหวที่กำลังเคลื่อนตัวแบบสโลว์โมชั่น’ พร้อมกับรายงานผลลัพธ์ไว้ในวารสาร Science
จอร์ช เอ็ดจิงตัน (Josh Edgington) นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า เหตุการณ์นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวประเภท ‘ช้า’ (Slow slip earthquakes) ซึ่งเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ จึงจะปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์แบบใหม่ที่ติดตั้งตามร่องลึกนันไก โดยสามารถบันทึกแผ่นดินไหวเมื่อปี 2015 และอีกครั้งในปี 2020 ข้อมูลทั้ง 2 ครั้งในอดีตนี้ชี้ให้เห็นว่า ร่องลึกนันไก ไม่ได้ก่อให้เกิดพลังงานใด ๆ ต่อเหตุการณ์ทั้ง 2 นี้ แต่มันทำหน้าที่เหมือนตัวดูดซับแรงกระแทกมากกว่า
เหตุการณ์แต่ละครั้งเผยให้เห็นว่า คลื่นแผ่นดินไหวใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเคลื่อนที่เป็นระยะทาง 20 ไมล์ตามรอยเลื่อน (ราว 32 กิโลเมตร) ขณะเดียวกันในบริเวณที่เกิดขึ้นก็มักจะมีแรงดันของของไหล(เช่นแมกมา)ทางธรณีวิทยาที่สูงกว่าปกติ
การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า ของไหล เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวแบบช้า ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในการศึกษาแผ่นดินไหวของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้น
เดเมียน ซาฟเฟอร์ (Demian Saffer) ผู้อำนวยการสถาบันธรณีฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ตั้งข้อสังเกตว่า จากผลลัพธ์นี้ รอยเลื่อนนี้จะปลดปล่อยพลังงานที่กักเก็บเอาไว้บางส่วนออกมาอย่างไม่เป็นอันตรายในแผ่นดินไหวแบบช้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ แต่ก็ต้องมีการศึกษาต่อไปรวมถึงรอยเลื่อนอื่น ๆ
“เราทราบว่าที่นี่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 และอาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิร้ายแรงได้” ซาฟเฟอร์ กล่าว “มีเสียงเอี๊ยดอ๊าดและครวญครางที่บ่งชี้ถึงการปลดปล่อยความเครียดที่สะสมอยู่หรือไม่ หรือรอยเลื่อนใกล้ร่องลึกนั้นเงียบสนิท รอยเลื่อนคาสเคเดียเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับวิธีการตรวจสอบความแม่นยำ ซึ่งเราได้พิสูจน์แล้วว่ามันมีค่ามากที่นันไก”
คำถามหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัย เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่? ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักอนุรักษ์ท้องทะเล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า
“แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ไม่ส่งผลกระทบถึงเมืองไทย ตอนเกิดสึนามิที่โทโฮกุในอดีต ก็ไม่ส่งผลอะไรกับบ้านเรา ไม่ต้องวิตกเกินไป”
ซึ่งเมื่อพิจารณาเพิ่มเติมแล้วจะพบว่าบริเวณที่มีแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ระหว่างขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นอยู่บริเวณแนวรอยดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยอยู่ห่างไกลออกมา และใกล้กับรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นเปลือกโลกอินเดียมากกว่า
เช่นเดียวกัน หากเกิดสึนามิครั้งใหญ่ คลื่นในมหาสมุทรไม่น่าจะผ่านทะลุเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ เนื่องจากมีเกาะต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ขวางกั้นอยู่ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา