การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก (FIFA Club World Cup) ที่จัดในสหรัฐอเมริกาเพิ่งจบลงไปด้วยความร้อนแรงแห่งชัยชนะของทีมเชลซีจากพรีเมียร์ลีก ซึ่งสร้างความดีใจให้กับแฟน ๆ ทั่วโลก แต่ทว่ายังมีความร้อนแรงอีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่จบลง นั่นคือ อุณหภูมิของดาวเคราะห์
ด้วยตัวเลของศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งต่อ ๆ ไปอาจเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อทั้งนักแตะและผู้ชม ทำให้หลายคนเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ ‘ฟีฟ่า’ (FIFA) จะต้องพิจารณาปรับเวลาการแข่งขันเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความร้อน
“ยิ่งเราเข้าสู่ช่วงทศวรรษนี้มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น” ศาสตราจารย์เพียร์ส ฟอร์สเตอร์ (Piers Forster) ผู้อำนวยการศูนย์พรีสต์ลีย์เพื่ออนาคตด้านสภาพภูมิอากาศ (Priestley Centre for Climate Futures) ในเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ กล่าว
พร้อมเสริมว่า “ผมกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าอีกแค่คลื่นความร้อนเดียว ก็จะเกิดโศกนาฎกรรมทางกีฬา และผมอยากเห็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์สุขภาพมากขึ้น”
โดยทั่วไปแล้วการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ มักจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 แต่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ในหลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.05 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกันอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนในยุโรปก็เพิ่มขึ้น 1.81 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกล่าวว่า นี่เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับกีฬาที่ต้องเล่นกลางแจ้งอย่างฟุตบอล
“หากคุณต้องการเล่นฟุตบอลวันละ 10 ชั่วโมง ช่วงเวลานั้นจะต้องเปลี่ยนเป็นเช้าตรู่และเย็น” ฟรีเดอริเก ออตโต (Friederike Otto) นักอุตุนิยมวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าว “หากคุณไม่ต้องการให้ผู้เล่นและแฟนบอลเสียชีวิตจากโรคลมแดด หรือป่วยหนักจากอาการอ่อนเพลียจากความร้อน”
ในการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกที่เพิ่งผ่านไป ฟีฟ่า ได้เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความร้อนไปบ้างแล้วเช่น เพิ่มช่วงพักการแข่งขัน เพิ่มปริมาณน้ำในสนาม และติดตั้งพัดลมระบายอากาศไปจนถึงเพิ่มร่มเงาให้กับที่นั่งสำรองของแต่ละทีม
กระนั้น เอนโซ เฟร์นันเดซ (Enzo Fernandez) กลองกลางของทีมเชลซีก็ยังระบุว่า ความร้อนทำให้เขารู้สึกเวียนหัว และเรียกร้องให้ฟีฟ่าหลีกเลี่ยงการแข่งฟุตบอลในช่วงบ่ายของฟุตบอลโลกครั้งหน้า เช่นเดียวกัน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFPRO) เตือนว่า 6 จาก 16 เมืองที่จัดการแข่งฟุตบอลโลกปีหน้า ‘มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง’ ที่จะได้รับผลกระทบจากความร้อน
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความร้อนจัดเหล่านี้จะกลายมาเป็นอุปสรรคที่หนักกว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2030 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ยุโรป-สเปน, โปรตุเกส และโมร็อกโก- โดยกำหนดการในตอนนี้ระบุว่าจะมีการแข่งขันขึ้นในช่วงบ่ายและเย็น ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฏาคม
แต่ที่น่ากังวลก็คือ ทั้ง 3 ประเทศต่างเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อนนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่า ระบุว่า “สภาพอากาศเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของสภาพภูมิอากาศทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เล่นหรือผู้เข้าร่วมงานแข่งขันคนอื่น ๆ”
ผลกระทบทางกายภาพที่เกิดจากการเล่นฟุตบอล 90 นาทีภายใต้แสงแดดในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน อาจรุนแรงและทำให้เกิดภาวะ ‘ไฮเปอร์เทอร์เมีย’ (hyperthermia) หรือก็คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ
“เมื่อผู้เล่นมีอาการไฮเปอร์เทอร์เมีย ระบบหัวใจและหลอดเลือดของพวกเขาจะต้องเผชิญกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น” จูเลียน เปริอาร์ด (Julien Periard) จากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รากล่าว “หากอุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากเกินไป ก็อาจเกิดการเจ็บป่วยจากความร้อน”
ซึ่งนำไปสู่อาการตะคริว อ่อนเพลีย และอาจถึงขั้นเป็นโรคลมแดดที่อันตรายถึงชีวิตได้ การแข่งขันกีฬาหลายรายการที่จัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเริ่มมีการปรับเวลาแล้ว โดยเริ่มต้นในช่วงเช้าตรู่หรือเริ่มดึกขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากอากาศร้อน เช่นการแข่งขันวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกหรือการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก
ทั้งนี้การเตะฟุตบอลในตอนเช้ามืดดูจะเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่ง เนื่องจากต้องคำนึงถึงผู้ชมทางโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญ การเพิ่มจำนวนทีมจาก 32 เป็น 48 ทีมในปี 2026 ก็ทำให้ตารางการแข่งเขันแน่นขนัด ซึ่งไม่อาจขยับได้เลย
หากฟีฟ่ายังคงยึดตารางการแข่งแบบเดิมในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม ความร้อนจะเป็นปัญหาหลักเมื่อจัดการแข่งขันในซีกโลกเหนือ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน (ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาว)
แต่ก็มีบางครั้งที่ฟีฟ่าปรับไปแข่งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อเลี่ยงความร้อนในกาตาร์ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2022 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าฟีฟ่าจะปรับอีกครั้งเมื่อมีการแข่งขันในประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2034
แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งปัญหาคือ การเปลี่ยนช่วงเดือนแข่งขัน จะกระทบกับการแข่งขันฟุตบอลฤดูกาลปกติของแต่ละลีกอย่างแน่นอน ทางสำนักข่าวเอพีระบุว่า ฟีฟ่ายังไม่ได้ตอบคำถามว่าจะมีการแก้ไขยังไงในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2030 และ 2034
ทว่าอุณหภูมิของโลกไม่รีรอแล้ว นักกีฬาและแม้แต่คนทั่วไปที่ทำกิจกรรมกายภาพในกลางแจ้ง จะมีความเสี่ยงต่อความร้อนในระดับปานกลางขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง
“นี่เป็นสัญญาณของบางสิ่งที่รุนแรงกว่า” ไมเคิล แมนน์ (Michael Mann) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าว “ไม่ใช่แค่อันตรายและความไม่สะดวกของแฟน ๆ กับนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธรรมชาติที่ก่อกวนอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา