ประกาศกรมอุตุฯ ฉบับ 14 เตือนฝนยังตกต่อเนื่องแม้ “พายุวิภา” อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น นักวิชาการแนะเตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง-ท่วมฉับพลัน

พายุวิภาอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น ประกาศกรมอุตุฯ ฉบับ 14 เตือนฝนยังตกต่อเนื่อง นักวิชาการแนะ เชียงราย-แพร่-น่าน-สุโขทัย เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง-ท่วมฉับพลัน

วันนี้ (23 ก.ค. 68) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง “พายุวิภา” ฉบับที่ 14 ระบุว่า พายุโซนร้อนวิภาได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และเมื่อเวลา 04.00 น. ปกคลุมบริเวณแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว หรือที่ละติจูด 19.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 103.0 องศาตะวันออก โดยอยู่ห่างจากจังหวัดน่านไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 180 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ทั้งนี้คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงต่อไป

จากอิทธิพลของพายุวิภา จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ค. 68 บริเวณประเทศไทยตอนบน ยังคงฝนเกือบทั่วไปตกต่อเนื่อง และมีตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ (น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก) ภาคอีสานตอนบน (บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย) ภาคกลาง (กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี)  ภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ตอนบน (เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร ) จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จนถึงตอนนี้ มีรายงานว่า อิทธิพลของพายุได้สร้างความเสียหายกับประเทศในภูมิภาค อาทิ ประเทศจีนซึ่งสื่อท้องถิ่นจีนเผยภาพบ้านเมืองในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งหลายจุดมีน้ำท่วมสูง ส่งผลให้ยานพาหนะของประชาชนหลายคันได้รับความเสียหายหรือเครื่องดับจนไม่สามารถสัญจรต่อได้ ท่ามกลางฝนที่ยังคงโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง มณฑลทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง ทางการจีนต้องระงับการให้บริการของท่าเรือเซินเจิ้น ขณะที่หน่วยดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยของเมืองเซินเจิ้น จัดเตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ที่จำเป็น เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ประเทศเวียดนาม อิทธิพลของพายุส่งผลให้เกิดลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วมเป็นวงกว้าง และมีรายงานไฟฟ้าดับในหลายจุด ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งพายุวิภาทำให้ฝนมรสุมทวีความรุนแรง เกิดน้ำท่วมสูงขณะที่ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่องในกรุงมะนิลาและพื้นที่รอบๆ

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “วิภา” และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 14 (200/2568)

เตือนน้ำล้นตลิ่ง เชียงราย-น่าน-แพร่-สุโขทัย

ขณะที่ประเทศไทย เริ่มมีรายงานถึงสภาพผลกระทบ เช่น หลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ซึ่งเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาตามลำน้ำแล้วเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรและพื้นที่การเกษตรตั้งแต่ช่วงเช้ามืด โดยเฉพาะที่ อ.เทิง สถานที่ราชการสำคัญได้แก่ บริเวณด้านหน้า สภ.เทิง ศาลจังหวัดเทิง โรงเรียนเทิงวิทยาคม และโรงพยาบาลเทิง เกิดน้ำท่วมขัง

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้สัมภาษณ์ National Geographic ฉบับภาษาไทยว่า จนถึงขณะนี้สิ่งที่ต้องระมัดระวังไม่ใช่เฉพาะพายุโซนร้อนอย่างเดียว เพราะแม้พายุวิภาไม่ได้เข้ามาปะทะกับประเทศไทยโดยตรง แต่สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบจนน่าเป็นห่วงและอาจเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันได้ อาทิ  พื้นที่ จ.เชียงราย ที่เชื่อมกับ แม่น้ำแม่สาย แม่น้ำกก พื้นที่ใน จ.สุโขทัย จ.แพร่ ที่เชื่อมกับแม่น้ำยม และ พื้นที่ จ. น่าน ที่เชื่อมกับ แม่น้ำน่าน ซึ่งมีรายงานว่าเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการเดินทางอย่างชัดเจน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 พบว่า เราจะเริ่มเห็นข้อมูลที่เทศบาลเมืองน่าน อำเภอท่าวังผาและอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อไปที่สุ่มเสี่ยงปรากฏการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในการมีแผนรองรับ และต้องสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ หากต้องมีการอพยพ  ขณะที่บางพื้นที่ที่ซึ่งมีน้ำท่วมสูงแต่ยังพออาศัยอยู่ได้ ต้องเตือนให้มีการเก็บของขึ้นที่สูงให้ทันเวลา นอกจากนี้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้บริเวณแถวแถวทะเลชายฝั่งอันดามันตอนบนแล้วก็อ่าวไทยตอนบนเนี่ยมีคลื่นสูง สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ในในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งมาจากอิทธิพลพายุโซนร้อนวิภาแล้วก็อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

“ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญคือสถานที่ที่ใช้รองรับหรือเป็นพื้นที่อพยพสำหรับกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องมีการเตรียมการและดูแลเป็นพิเศษในบางกรณี ตัวอย่างเช่น เด็กเล็กที่ต้องอยู่กับมารดาหรือสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยาประจำตัว หรือผู้ป่วยติดเตียงซึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด กลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเฉพาะทาง นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ศูนย์พักพิงสามารถจัดหาให้ได้”

อ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา


อ่านเพิ่มเติม : เชื่อมวิศวกรรมสู่สังคม ภารกิจพื้นที่เปราะบางของธนาคารโลก เพื่อสร้างชุมชนรับมือสภาพภูมิอากาศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.