ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา

กรุงนิวเดลีของอินเดีย เป็นอีกเมืองหนึ่งที่เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง
ภาพถ่ายโดย Altaf Qadri, AP

ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา

ข่าว ฝุ่นละออง PM 2.5 จางหายไปในสัปดาห์นี้หลังการมาของกรณีป้าทุบรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุด ทุกพื้นที่สื่อพร้อมใจกันนำเสนอประเด็นทางสังคมนี้ราวกับว่าปัญหามลพิษทางอากาศได้ลาจากชาวกรุงเทพมหานครไปแล้วจริงๆ

ข่าวร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุดข้อมูลจากเวทีเสวนา “ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” ที่ระดมบรรดานักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมมาร่วมพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุว่าปัญหาฝุ่นละอองจะยังคงปกคลุมและคุกคามชาวกรุงเทพมหานครต่อไปจนถึงเดือนเมษายน แม้ประเด็นนี้จะถูกแย่งพื้นที่ไปด้วยข่าวกระแสหลักแล้วก็ตาม ราวกับเป็นเจ้ากรรมนายเวรตามติดตัว

ทำไมต้อง PM 2.5? คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร นั่นหมายความว่าเจ้าฝุ่นอนุภาคเล็กจิ๋วเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปกติแล้วไส้ดินสอกดจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 ไมครอน เส้นผมของมนุษย์อยู่ที่ 100 ไมครอน ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กแค่ไหน? ลองจินตนาการเปรียบเทียบดู

ภาพเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละออง PM 2.5 (วงกลมสีชมพู) กับฝุ่นละออง PM 10 (วงกลมสีฟ้า), เม็ดทราย และเส้นผม
ภาพถ่ายโดย U.S. EPA

และด้วยความที่ขนาดของมันนั้นเล็กมากๆ ฝุ่นละออง PM 2.5 เหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหา เนื่องจากพวกมันสามารถเล็ดรอดผ่านการดักของขนจมูกเข้าไปสู่ภายในร่างกายของเราได้และจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้  และที่น่ากลัวก็คืออนุภาคของฝุ่นละอองที่ถูกสุดเข้าไปในร่างกายมีลักษณะขรุขระ ดังนั้นมันจึงพาเอาสารอื่นติดมาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้น หากสูดเขาไปในปริมาณมากๆ จนสะสมในร่างกาย

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายเขตของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561
ภาพจากเฟซบุ๊กกรมควบคุมมลพิษ

ตรวจเช็คปริมาณค่าฝุ่นละอองกับกรมควบคุมมลพิษได้ ที่นี่ 

 

ผู้คนบนท้องถนนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันสุขภาพของตนเองจากฝุ่นควัน
ภาพถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ จากสารคดีเรื่อง “เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน” ตีพิพม์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤษภาคม 2558

ผลสำรวจจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2561 ประชาชน 58.64% มองว่าปัญหามลพิษและฝุ่นละอองนี้คือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข และอีก 61.52% เชื่อว่าฝุ่นละอองเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ด้านกรมควบคุมมลพิษเองก็คอยออกมาอัพเดทสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายเขตของกรุงเทพมหานครทุกวัน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าปริมาณฝุ่นละอองนั้นเกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนสหรัฐฯ กำหนดที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นค่าไม่เกินมาตรฐานใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 กุมภาพันธ์ 2561 สถานการณ์ดีขึ้นมาก แม้จะยังคงมีฝุ่นละอองอยู่แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ในขณะที่ทางกทม.เองนำรถออกฉีดพ่นน้ำบนท้องถนนและฟุตบาธหลายจุดในช่วงกลางคืน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นผักชีโรยหน้า

“การนำรถออกมาฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นานค่ะ ตราบใดที่น้ำนั้นไม่ได้นำไปทิ้งหรือระบายลงท่อไป น้ำแค่ช่วยไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกไปในขณะที่ถนนยังเปียก แต่มื่อถนนแห้งฝุ่นก็จะกลับมาฟุ้งกระจายได้อีก” รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยรถฉีดพ่นน้ำผ่านอีเมล์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน

เจ้าหน้าที่กทม.ระดมกำลังฉีดน้ำลดฝุ่นละอองบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ภาพถ่ายจากสำนักข่าวไทยรัฐ

“ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5” นอกจากนั้น ดร. กัณฑรีย์ ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น รวมไปถึงดูแลรักษาต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เนื่องจากต้นไม้เหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ โดยเฉพาะกับเกาะกลางถนน แค่ลำพังหญ้าหรือพืชที่คลุมดินนั้นไม่เพียงพอ เมื่อมียานยนต์หนาแน่นจะเกิดฝุ่นขนาดใหญ่ (PM 10) ฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อผสมผสานกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะยิ่งทำให้สภาวะมลพิษรุนแรงขึ้น

ในต่างประเทศการปลูกต้นไม้บนเกาะกลางถนนทำโดยให้วัสดุปลูกและดินอยู่ต่ำกว่าขอบเกาะ รวมทั้งจะปิดหน้าดินด้วยวัสดุคล้ายเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วยให้ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายหรือไหลลงบนพื้นถนน ต่างจากในไทยที่นิยมพูนดินบนเกาะกลางถนนให้สูงไปกว่าขอบ เหล่านี้คือแนวทางที่บ้านเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อลดปัญหามลพิษ

ปัญหาฝุ่นละอองกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามสุขภาพของผู้คนในหลากหลายประเทศ ก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ในจีนและกรุงนิวเดลี ในอินเดีย ก็เผชิญกับวิกฤติดังกล่าว ร้ายแรงที่สุดคือในวันที่ฝุ่นและหมอกควันเข้าปกคลุมมากๆ คนอินเดียได้รับผลกระทบถึงขนาดไม่สามารถมองเห็นได้ไกลกว่าในระยะ 300 เมตร จนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กันมาแล้ว รัฐบาลต้องออกมาตรการป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่าเดิม รถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่รวมไปถึงรถ SUV เครื่องยนต์มากกว่า 2,000CC ถูกแบน รวมไปถึงรถแท็กซี่อีกหลายหมื่นคันที่ใช้น้ำมันดีเซลด้วย

เดือนสิงหาคม ปี 2016 กรุงนิวเดลีเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี การสูดอากาศนอกที่พักอาศัยมีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปริมาณถึง 2 แพ็คในวันเดียว
ภาพถ่ายโดย AP

ข้ามฝั่งไปที่ยุโรป ในกรุงปารีส รัฐบาลมีมาตรการแบนรถยนต์เก่าเช่นกัน รวมไปถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาให้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยานกันมากขึ้น ด้วยการเปิดให้ใช้บริการฟรีในช่วงที่ต้องต่อสู้กับปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลอดรถยนต์ เช่นบริเวณตามแนวแม่น้ำแซน ด้านประเทศเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า รัฐบาลเตรียมแบนบริษัทขายรถยนต์ที่ยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันภายในปี 2025 นี้ นั่นหมายความว่าในอนาคตรถยนต์ที่วิ่งในประเทศนี้จะมีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะประเทศนี้มีผู้ใช้จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว

ในระหว่างที่ต้องรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปควรที่จะป้องกันสุขภาพของตนเองไว้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณในวันที่ค่าปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ด้วยการหาหน้ากาก N95 หรือ P-100 respirators ที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 1 – 5 ไมครอนได้ร้อยละ 95 ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นไม่สามารถกรอง ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ใช้กรองได้เพียงฝุ่นขนาดใหญ่เท่านั้น

ตัวอย่างของหน้ากาก N95 จากเว็บไซต์ alibaba.com

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ

https://www.posttoday.com/social/general/540993

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/792871

http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/61132/

http://www.newtv.co.th/news/11832

https://www.voicetv.co.th/read/S1WjswFPG

https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/356323228184070

https://www.facebook.com/pg/PCD.go.th/photos/?ref=page_internal

https://news.thaiware.com/12547.html

http://www.csc-biz.com/thai/dust.html

https://www.theguardian.com/environment/2016/may/17/how-are-cities-around-the-world-tackling-air-pollution

 

อ่านเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์น่ารู้ : 10 ตัวการที่ก่อมลพิษทางอากาศสูงสุด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.