แพขยะพลาสติกแห่งแปซิฟิกไม่ใช่ในแบบที่คุณคิด

แพ ขยะพลาสติก แห่งแปซิฟิกไม่ใช่ในแบบที่คุณคิด

แพขยะแห่งแปซิฟิก คือชื่อของวงขยะขนาดยักษ์ที่ลอยตัวอยู่ ณ ผิวมหาสมุทรบนพื้นที่ระหว่างฮาวายและรัฐแคลิฟอร์เนีย สาเหตุที่มันโด่งดังก็เพราะขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของมัน ซึ่งหากจะถามว่าใหญ่ขนาดไหน? ขยะพลาสติก แห่งแปซิฟิกมีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกาเสียอีก แต่ยังคงไม่สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ

อย่างไรก็ดีแม้จะขาดคุณสมบัติของผืนดิน แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดยั้งนักโฆษณาในการสถาปนาแพขยะแห่งนี้ให้เป็นประเทศใหม่ไปได้ ด้วยความกว้างของดินแดนขยะสุดลูกหูลูกตาพวกเขาตั้งชื่อให้มันว่าประเทศ “Trash Isles” และขณะนี้มีพลเมืองอย่างเป็นทางการแล้วหนึ่งคน คือ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

แพขยะแห่งแปซิฟิกถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1977 โดย Charles Moore ผู้ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขับเรือยอร์ชฝ่าขวดน้ำพลาสติก เพื่อเดินทางกลับบ้านในลอสแอนเจลิส Curtis Ebbesmeyer นักสมุทรศาสตร์ชาวซีแอตเทิลเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ให้แก่มัน โดยตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินสมุทรและตามรอยสินค้าที่หล่นหายระหว่างการขนส่ง เช่น น้องเป็ดเหลืองของเล่นยอดฮิตในห้องน้ำ หรือรองเท้ากีฬาไนกี้เป็นต้น และ ณ ตอนนี้แพขยะแห่งแปซิฟิกยังกลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญของแคมเปญทำความสะอาดมหาสมุทรสุดยิ่งใหญ่มูลค่า 32 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งก่อตั้งโดยวัยรุ่นชาวเนเธอร์แลนด์ Boyan Slat ที่ปัจจุบันตัวเขาอายุ 23 ปีแล้ว และเป็นเจ้าของบริษัท Ocean Cleanup บริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

นอกเหนือจากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น อันที่จริงเรื่องราวของแพขยะแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ใช่ว่าจะทราบกระจ่างชัดมากนัก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

 

มีอะไรกันแน่ภายในแพ?

ไมโครพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 94% ของขยะจำนวน 1.8 ล้านล้านชิ้นของแพขยะแห่งแปซิฟิก แต่หากวัดกันที่น้ำหนักแล้ว ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีสัดส่วนเพียงแค่ 8% เท่านั้น จากการศึกษานักวิทยาศาสตร์พบว่า ในขยะปริมาณ 79,000 เมตริกตันของแพแห่งนี้ ส่วนใหญ่ของขยะแล้วเป็นอุปกรณ์ประมงทั้งสิ้น ไม่ใช่ขวดพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์หีบห่อแบบที่เรามักคุ้นชินจากภาพข่าว

ผลการศึกษาใหม่โดยทีมนักวิจัยของ Slat นี้ถูกเผยแพร่ลงใน Scientific Reports สรุปได้ว่าเจ้าแพขยะปริมาณ 79,000 ตันนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ 4 – 16 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนั้นพวกเขายังพบว่าอวนจับปลาปริมาณมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 46% ของขยะที่เกิดจากอุปกรณ์ประมง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในจำนวน 20% ของอุปกรณ์เหล่านี้ถูกพัดพามาจากเหตุสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อปี 2011

Laurent Lebreton นักสมุทรศาสตร์ของบริษัท Ocean Cleanup ผู้นำการศึกษาครั้งนี้เล่าว่า ทีมวิจัยเองกำลังพยายามประเมินข้อมูลของบรรดาขยะชิ้นใหญ่ภายในแพ “เรารู้กันดีว่ามีอุปกรณ์ประมงจำนวนมากที่กลายเป็นขยะ แต่ 46% เป็นอะไรที่สูงกว่าที่เคยคิดกันไว้” เขากล่าว “ในตอนแรกเราประเมินกันว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 20% นั่นคือจำนวนที่ยอมรับได้สำหรับอุปกรณ์ประมงที่กลายมาเป็นขยะในทะเล 20% ในทะเล และ 80% ในแผ่นดิน”

อวนตกปลาที่ถูกทิ้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนี้กระจัดกระจายไปทั่วผืนมหาสมุทร วาฬ แมวน้ำ หรือเต่าอาจหลงมาติดพันเข้า ซึ่งประมาณกันว่าทุกๆ ปีมีสัตว์น้ำราว 100,000 ตัวที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะเหล่านี้

 

Charles Moore แสดงตัวอย่างของน้ำทะเลที่เก็บมาจากแพขยะแห่งแปซิฟิกให้ดู แพแห่งนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1977 โดย Moore เอง
ภาพถ่ายโดย Jonathan Alcorn, Bloomberg/Getty

ขณะนี้บริษัท Ocean Cleanup กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อกำจัดขยะที่เกิดจากอุปกรณ์ประมง โดยเทคโนโลยีการกำจัดขยะระบบใหม่ของพวกเขามีแผนที่จะเปิดตัวภายในปีนี้

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กว่าครึ่งของขยะที่พวกเขาพบนั้นไม่ได้มาจากพลาสติกในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แต่กลับกลายเป็นอุปกรณ์ประมงไปเสียนี่” George Leonard นักวิทยาศาสตร์ประจำองค์กร Ocean Conservancy กล่าว “การศึกษานี้ช่วยยืนยันแล้วว่าขยะอุปกรณ์ทำประมงเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และเราควรที่จะขยายการสนทนาในประเด็นนี้ให้กว้างมากขึ้น เพื่อแน่ใจว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข”

Marcus Eriksen ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะในมหาสมุทร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน 5 Gyres ชี้ถึงข้อควรระวัง เนื่องจากการศึกษานี้ตั้งอยู่บนข้อจำกัดของการสำรวจ ทำให้เป็นการยากที่จะประเมินขนาดของแพได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีอุปกรณ์ประมงกลายเป็นขยะเป็นปริมาณมากก็เช่นกัน

 

ทะเลพลาสติก?

การเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับแพขยะแห่งแปซิฟิกล่าสุดนี้มีทิศทางเดียวกันกับรายงานใหม่จากองค์กร Foresight Future of the Sea ในอังกฤษ พวกเขาพบว่าปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะขยายใหญ่ขึ้นอีกเป็นสามเท่า ภายในปี 2050 นี้ หากปราศจากนโยบายตอบสนองแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นในรายงานยังระบุว่า ขยะพลาสติกกลายมาเป็นปัญหาหลักที่กำลังคุกคามมหาสมุทร และเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นหรืออุณหภูมิของมหาสมุทรที่กำลังอุ่นขึ้น

รายงานล่าสุดนี้ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ จากการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 ด้วยภาพถ่ายจำนวน 7,000 ภาพของพื้นผิวมหาสมุทร และการสำรวจภาคพื้นด้วยเรืออีกจำนวน 652 ลำ ในเดือนกรกฎาคม, สิงหาคม และกันยายนในปี 2015

ในตัวอย่างขยะพลาสติกจำนวน 50 ชิ้นที่ถูกเก็บมาระหว่างการสำรวจ มีหนึ่งชิ้นที่ระบุช่วงเวลาผลิตเมื่อปี 1977, อีกเจ็ดชิ้นมาจากช่วงทศวรรษ 1980, สิบเจ็ดชิ้นจากช่วงทศวรรษ 1990, ยี่สิบสี่ชิ้นจากทศวรรษ 2000 และอีกหนึ่งชิ้นที่ผลิตในปี 2010 นักวิจัยยังพบขยะอีกจำนวน 386 ชิ้น ถูกพิมพ์ด้วยภาษาอื่นที่แตกต่างกันอีก 9 ภาษา โดยหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น และอีกหนึ่งในสามเป็นภาษาจีน และหากจะหาว่าขยะเหล่านี้ถูกผลิตในประเทศใด นักวิจัยรายงานว่ามีขยะ 41 ชิ้นที่สามารถอ่านได้ชัดเจน และพวกมันมาจาก 12 ประเทศ

รายงานดังกล่าวสรุปว่าปัญหาขยะพลาสติกภายในแพกำลัง “เพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว” ทั้งยังเปลี่ยนโฉมหน้าของภาพจำที่ใครหลายคนมีต่อขยะพลาสติก ปกติแล้วผู้คนมักคิดว่าขยะพลาสติกน่าจะกองรวมกันอยู่ที่ริมชายฝั่ง ไม่ใช่รวมกันอยู่ที่กลางมหาสมุทร

ด้าน Leonard กล่าว ตัวเขาค่อนข้างประทับใจกับการศึกษาครั้งนี้ “มันเข้มข้นมากครับ” เขากล่าว “แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งเราวิจัยกันหนักแค่ไหน ยิ่งพบขยะมากขึ้นเท่านั้น”

เรื่อง Laura Parker

 

อ่านเพิ่มเติม

จะช่วยมหาสมุทรต้องเลิกใช้กากเพชร?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.