พิทักษ์อัญมณีใต้ท้องทะเล

พิทักษ์อัญมณีใต้ท้องทะเล

ภายใต้ท้องฟ้าสดสวย แสงแดดทะลุเมฆลงมาเป็นหย่อมๆ เราขับเรือเข้าไปใกล้หน้าผาชันที่เต็มไปด้วยโขดหินตะปุ่มตะป่ำ เมื่อมองจากระยะไกลๆ ตรงตีนผาดูราวกับมีโขดหิน สีน้ำตาลเรียงอยู่เป็นแนว  จนเมื่อเราเข้าไปใกล้  หินบางก้อนก็ขยับตัว บางก้อนถูกทะเลดึงลงไป เราจอดเรือเล็กห่างจากฝั่งหนึ่งร้อยเมตร  สวมหน้ากากและท่อหายใจ  แล้วหย่อนตัวลงน้ำอย่างเงียบๆ  ทันใดนั้น ก้อนหินสีน้ำตาลเหล่านั้นก็มีชีวิตขึ้นมาพวกมันคือแมวน้ำขนปุยเกาะควนเฟร์นันเดซหลายร้อยตัวนอนเกลื่อนอยู่บนฝั่ง

แมวน้ำขนปุยเกาะควนเฟร์นันเดซซึ่งว่ากันตามจริงคือสิงโตทะเล  คือเรื่องราวความสำเร็จอันน่าทึ่งของการอนุรักษ์ท้องทะเล  เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน แมวน้ำชนิดนี้ถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์ ปัจจุบันบนเกาะโรบินสันครูโซ ของชิลีมีแมวน้ำชนิดนี้อยู่ดาษดื่น  และยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  เป็นไปได้อย่างไรที่ชิลีซึ่งเป็นประเทศ ที่จับปลาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กลับเป็นตัวอย่างชั้นเลิศของการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในทะเล

ชิลีเป็นประเทศรูปร่างยาวแคบมีเทือกเขาแอนดีสเป็นกระดูกสันหลังและผืนดินทอดตัวลงทางทิศตะวันตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ไปบรรจบกับชายฝั่งยาว 4,000 กิโลเมตร อาณาเขตนอกชายฝั่งของชิลีครอบคลุมพื้นที่ 3.6 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นเกือบห้าเท่าของดินแดนบนผืนแผ่นดินชิลีจึงเป็นประเทศมหาสมุทรอย่างเด่นชัด

ชิลียังเป็นชาติประมงด้วย  เมื่อปี 2010 ชิลีมีปริมาณการจับสัตว์ทะเลรวมเป็นอันดับที่เจ็ดของโลก ทว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อัตราการจับปลาเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป

ปูราชาแปลงถิ่นใต้นับพันตัวเกาะอยู่บนสาหร่ายเคลป์ยักษ์ ขณะกินหอยสองฝานอกชายฝั่งปลายใต้สุดของชิลี
ครอบครัวชาวประมงกุ้งมังกรแล่นเรือในน่านน้ำนอกชายฝั่งเกาะควนเฟรนันเดซ ชาวประมงในท้องถิ่น จัดการการประมงอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 1935 แล้ว นับเป็นการแสดงออกถึงการมองการณ์ไกลอย่างน่าทึ่ง
กุ้งมังกรเกาะควนเฟร์นันเดซเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของเกาะควเฟร์นันเดซและเดสเบนตูราดาส สามารถเติบโต จนมีขนาดใหญ่ถึง 54 เซนติเมตร ดังเช่นตัวนี้ซึ่งพบที่เกาะซานอัมโบรเซียว

โครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas Project)  ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มุ่งค้นหาสถานที่ธรรมชาติ แห่งสุดท้ายในมหาสมุทร อันเป็นบริเวณห่างไกลที่แสดงให้เห็นว่ามหาสมุทรเป็นอย่างไรเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ก่อนที่อุตสาหกรรมประมงจะตักตวงสัตว์มากมายจนหมดไปจากท้องทะเล  เราใช้ปัจจัยต่างๆ รวมถึงฐานข้อมูล จากทั่วโลกเกี่ยวกับประชากรมนุษย์ ระยะทางจากท่าเรือ และตำแหน่งของแหล่งประมง เพื่อรวบรวมและจัดทำรายชื่อสถานที่ที่มีศักยภาพในการค้ำจุนระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์  ด้วยประวัติการทำประมงอย่างโชกโชนชิลีดูไม่น่าจะเป็นตัวเลือกได้เลย

ทว่าเรากลับต้องประหลาดใจ  เมื่อจุดสีเขียวเล็กๆ จุดหนึ่งปรากฏขึ้นบนแผนที่  ห่างจากชายฝั่งทางตอนเหนือ ของชิลีไป 850 กิโลเมตร นั่นคือหมู่เกาะเดสเบนตูราดาส (ภาษาสเปนแปลว่า โชคร้าย)  เกาะหนึ่งคือซานเฟลิกซ์ เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์  อีกเกาะหนึ่งคือซานอัมโบรเซียว ไม่มีผู้อยู่อาศัยเว้นก็แต่ชาวประมงจำนวนหยิบมือหนึ่งที่เดินทางไปที่นั่นตามฤดูกาลเพื่อจับกุ้งมังกรมาตั้งแต่ปี 1901 แล้ว

เมื่อปี 2013 เราร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติโอเชียนา (Oceana)  ในการส่งคณะสำรวจไปยังเดสเวนทูราดาส โดยตั้งเป้าสำรวจถิ่นอาศัยทางทะเลรอบเกาะเหล่านี้ และประเมินความสมบูรณ์ ตลอดจนถ่ายทำสารคดีเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เพื่อแบ่งปันการค้นพบของเรากับชาวชิลี

หมึกสายล่าเหยื่อที่เกาะโรบินสันครูโซ ระบบนิเวศที่ได้รับการคุ้มครองจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์จะได้รับ การอนุรักษ์ไว้ นับเป็นการช่วยฟื้นฟูแหล่งประมงใกล้เคียง และรับประกันความอยู่รอดของอุตสาหกรรมสำคัญ

เรามาถึงซานอัมโบรเซียวหลังล่องเรือจากท่าเรืออันโตฟากัสตามาสองวัน  เมื่อทอดสมอแล้ว เราขึ้นฝั่งไปเยี่ยมกระท่อมชาวประมงหลังหนึ่ง  แต่ปรากฏว่าปิดตายและว่างเปล่า  รอบกระท่อมมีลอบดักกุ้งมังกร วางอยู่เรียงราย  ลอบเหล่านั้นมีขนาดใหญ่โตคือยาวกว่าหนึ่งเมตร แต่สิ่งที่ทำให้เราตกตะลึงคือขนาดช่องที่เปิด ให้กุ้งมังกรเข้าไปในลอบซึ่งใหญ่พอจะสอดมือเข้าไปได้ ถ้าลอบใหญ่ขนาดนั้น  กุ้งมังกรต้องตัวใหญ่ขนาดไหน

ในช่วงสองสัปดาห์ต่อมา เราดำน้ำแบบสกูบาและด้วยยานสำรวจรอบซานอัมโบรเซียวในช่วงเช้าและบ่าย ค้นพบโลกที่เต็มไปด้วยสรรพชีวิต  ในการดำน้ำแต่ละเที่ยว ฝูงปลาที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนว่าพบในน่านน้ำของชิลี เวียนว่ายอยู่รอบตัวเรา  ปลาไม่เพียงมีอยู่มากมาย แต่ยังรวมกันเป็นองค์ประกอบซึ่งไม่พบในที่อื่น  การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 96 ของปลาที่พบระหว่างการสำรวจเป็นชนิดพันธุ์ที่พบเฉพาะในเดสเบนตูราดาสและควนเฟร์นันเดซเท่านั้น

เราแบ่งปันการค้นพบกับรัฐบาลชิลีและชุมชนควนเฟร์นันเดซ รวมถึงชาวประมงกุ้งมังกร และในที่สุด ชุมชนก็เสนอให้จัดตั้งอุทยานทางทะเลที่ห้ามกิจกรรมประมงทุกชนิดรอบหมู่เกาะ  พอถึงเดือนกันยายนปี 2014 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของชิลี เอรัลโด มูโญซ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โคเซ อันโตเนียว โกเมซ เดินทางไปเกาะซานเฟลิกซ์เพื่อชมความอุดมสมบูรณ์นี้ด้วยตนเอง

วันที่ 5 ตุลาคม ปี 2015 ประธานาธิบดีชิลี มิเชล บาชเลต์ ประกาศเตรียมการจัดตั้งอุทยานทางทะเลนาซกา-เดสเบนตูราดาส (Nazca-Desventuradas Marine Park)  ด้วยเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 303,000 ตารางกิโลเมตร  อุทยานแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา  ด้วยการลงมือทำเพียงเรื่องเดียวนี้ ชิลีได้เพิ่มการปกป้องน่านน้ำของตนจากร้อยละสี่เป็นร้อยละ 12 ในอุทยานต่างๆ ที่ห้ามการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล

เรื่อง เอนริก ซาลา และอเล็กซ์ มูญอซ

ภาพถ่าย เอนริก ซาลา

 

อ่านเพิ่มเติม

มหาสมุทรเป็นพิษ: ภาพถ่ายที่ช่วยย้ำเตือนถึงสถานะน่ากังวลของทะเลในปัจจุบัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.