“เราสามารถมองเห็นความวิเศษของโลกทั้งใบได้ในเม็ดทราย
อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นไหม
งานที่เราทำคือการพาไปให้เห็นความวิเศษนั้น
ทุกคนมีความสามารถที่จะเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติได้อยู่แล้ว”
ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว
ผู้ริเริ่มโครงการนักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด และนักสืบสายลม ซึ่งเป็นโครงการ “ตรวจสุขภาพ” ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้แก่ ตัวอ่อนแมลงที่อยู่ในแม่น้ำลำธาร สัตว์และพืชที่อยู่ตามชายหาด และไลเคนบนต้นไม้ จากความเชื่อที่ว่าหากเราทุกคนสำรวจและ “อ่าน” ธรรมชาติด้วยตัวเองแล้ว จะมองเห็นความเป็นไปและเฝ้าระวังความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ด้วย เป็นนักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากขับเคลื่อนเรื่องจักรยานและเมืองน่าอยู่แล้ว สิ่งที่ทำมาตลอดคือเป็นนักเขียนบทความด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเปิดโลกธรรมชาติใกล้ตัว ด้วยงานเขียนภาษาสนุก เข้าใจง่าย เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และสนับสนุนให้คนออกไปสัมผัสธรรมชาติด้วยประสบการณ์ตรง
เนื่องในโอกาสที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้รับรางวัล Explorer Awards 2019 นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จึงขอนำทรรศนะของ ดร.สรณรัชฎ์ ว่าด้วยการสำรวจและการอนุรักษ์มานำเสนอดังนี้
ทรรศนะว่าด้วยการสำรวจ
ส่วนมากที่เราสำรวจมักจะเป็นโลกใบเล็กรอบตัวเรามากกว่า ไม่เน้นการสำรวจไปที่แปลกๆที่ยิ่งใหญ่ แน่นอน เราสามารถสำรวจเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ภูเขาน้ำแข็งยิ่งใหญ่ ทุ่งดอกไม้กลางทะเลทรายที่ไม่ได้บานพรึ่บทุกปี อันนั้นคือวิเศษมาก แต่ความจริง ความวิเศษเกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเราในสเกลที่ต่างกัน ในมิติที่แตกต่างกันไป ดังนั้น งานที่เราทำมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด นักสืบสายลม ซึ่งมักจะดูสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จนมาถึงการคืนดี ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติ เราเน้นให้คนเห็นถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ กับธรรมชาติใกล้ตัว
ความวิเศษเกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเราในสเกลที่ต่างกัน ในมิติที่แตกต่างกันไป
เราชอบโคลงบทหนึ่งของวิลเลียม เบลก มาก ที่ว่า “To see a world in a grain of sand.” หมายถึงเราสามารถมองเห็นความวิเศษของโลกทั้งใบได้ในเม็ดทราย อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นไหม งานที่เราทำคือการพาให้เห็นความวิเศษนั้น คิดว่าทุกคนมีความสามารถที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เราได้มาจากแม่ (ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัฒน์) คือเปิดประตูบ้านออกไปปั๊บ ยังไม่ทันไปไหนเลย แต่ก็เหมือนไปสู่ป่าวิเศษแล้ว
สำรวจจึงเป็นได้หลายมิติ หลายสเกล เรามองเห็นความมหัศจรรย์ของโลกทั้งใบได้ แค่เรามองเห็นใบไม้ใบแรกเวลาเราเปิดประตูออกมานอกบ้านได้ ก็เป็นการสำรวจธรรมชาติแล้ว
การสำรวจช่วยพลิกมุมมอง
สิ่งสำคัญคือมันเป็นการพลิกจิตสำนึกบางอย่าง กระตุ้นความตระหนักบางอย่างขึ้นมา เป็นการพลิกวิธีมองโลกหรือ shift consciousness เช่นการเห็นความงามของบางสิ่งบางอย่าง เห็นความงามของชีวิต เห็นว่าต้นไม้จริงๆเป็นสิ่งมีชีวิต
เราก็รู้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต เราเรียนมาตั้งแต่ ป.1 ป.2 [แต่การเปลี่ยนแปลงความนึกคิดคือ] ถ้าเขาเห็นชีวิตของต้นไม้อย่างที่มันเป็น being เสมือนที่ตัวเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตในโลก ทั้งที่เป็นการสำรวจง่ายๆ รอบบ้านตัวเอง ทัศนคติที่เกิดขึ้น ความตระหนักรู้แท้จริงนี้ จะนำไปสู่การการะทำ
ถ้าเขาเห็นชีวิตของต้นไม้อย่างที่มันเป็น being เสมือนที่ตัวเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตในโลก ทั้งที่เป็นการสำรวจง่ายๆ รอบบ้านตัวเอง ทัศนคติที่เกิดขึ้น ความตระหนักรู้แท้จริงนี้ จะนำไปสู่การการะทำ
จากการสำรวจสู่การอนุรักษ์
การอนุรักษ์ที่สำคัญได้มากมายหลายอย่าง ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปเป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือสร้างเอ็นจีโออันยิ่งใหญ่ มีพลังในการอนุรักษ์ มันมีแอ็คชันหลายอย่างที่ทุกคนทำได้ เช่นที่อเมริกา เด็กน้อยพากันปลูกดอกไม้ที่อยู่ในวงศ์มิลค์วีต แม้แต่ระเบียงคอนโดก็มีกระถางดอกไม้นี้ได้ ดอกของมิลค์วีตเป็นอาหารของผีเสื้อโมนาร์ก ซึ่งเป็นผีเสื้อที่อพยพข้ามทวีป 4,000 กิโลเมตร และประชากรลดฮวบฮาบใน 20 ปี เนื่องด้วยระหว่างทางอพยพ มันไม่มีอาหาร คือในระหว่างการอพยพนั้นผีเสื้อก็เปลี่ยนไปหลายรุ่นมาก ดักแด้ต้องกินใบมิลค์วีต ตัวเต็มวัยก็กินน้ำหวาน เพราะฉะนั้นแค่เราช่วยสร้างส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร เป็นเหมือนปั๊มน้ำมันตามเส้นทางให้ผีเสื้อ ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสูญพันธุ์อันยิ่งใหญ่ได้ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหญ่โต แพง และใช้เวลานาน สิ่งสำคัญคือเรารู้หรือเปล่าว่าสิ่งที่เราทำซึ่งดูเหมือนว่าเล็กๆ แต่สำคัญเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อย่างไร
ในลักษณะนี้ ถ้าดูในเมืองไทย แม้เรายังไม่มีข้อมูล เราไม่รู้ว่ามีอะไรสูญพันธุ์บ้างหรือมีชะตากรรมอย่างไร เพราะไม่ได้มีการเฝ้าติดตาม แต่เราก็ยังสามารถปลูกต้นงวงช้าง ซึ่งเป็นพืชเล็กๆ แต่ไม่ใช่วัชพืช เป็นพืชที่ผีเสื้อชอบกินไว้บนระเบียงได้
การไม่ทำอะไรเลยก็สำคัญ
เราสามารถตัดสินใจไม่ทำอะไรเลยก็ได้ การไม่ทำอะไรเลยก็สำคัญ เพราะเรารู้ว่าบางครั้งการกระทำต่างๆ ก็ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อโลก การไม่ทำด้วยความรู้ เช่น การอยู่เฉยๆ และเชื่อมั่นในธรรมชาติ เห็นลำธารและมีปิติกับการไหลของลำธาร แค่ช่วงสั้นๆ เมตรเดียว คุณสามารถเรียนรู้การขนตะกอน มันอยู่ที่ว่าเราสังเกตหรือเปล่า โดยที่ไม่ต้องคิดว่าฉันต้องทำความดีแล้วสร้างฝาย
การตัดสินใจไม่สร้างฝายตามแฟชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในซอกมุมการไหลของน้ำแบบนั้น มันสร้างบ้านให้สัตว์ เป็นเมืองใต้น้ำของสัตว์ต่างๆ อย่างไร มีความสำคัญต่อปลา นก ต่อสิ่งมีชีวิตบนบกอย่างไร คือหากมีความละเอียดอ่อนในการมองเห็นมิติต่างๆ สเกลต่างๆ คุณก็จะเข้าใจโลกใบใหญ่ได้ บางครั้งก็ดีกว่าคนเที่ยวรอบโลก ปล่อยคาร์บอนเต็มไปหมด แล้วกลับบ้านมาสร้างฝาย ไม่เคยสังเกตว่าการสร้างฝายในลำธารที่ดีอยู่แล้วมันทำลายบ้านสัตว์อย่างไรบ้าง สัตว์ต่างๆ ที่คุณอ้างว่ารักมากมาย สูญเสียบ้านและอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ไปไม่รู้เท่าไหร่ไม่ทราบได้
การตัดสินใจไม่สร้างฝายตามแฟชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในซอกมุมการไหลของน้ำแบบนั้น มันสร้างบ้านให้สัตว์ เป็นเมืองใต้น้ำของสัตว์ต่างๆ อย่างไร มีความสำคัญต่อปลา นก ต่อสิ่งมีชีวิตบนบกอย่างไร
เมื่อเห็นชีวิตรอบตัวเป็นปัจเจก
ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก แม่เราเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เขามองเห็นชีวิตรอบตัวเป็นเพื่อน เขาเปิดประตูออกไปแล้วทักทาย แม่จะคุยกับสรรพสิ่ง ทั้งสัตว์ทั้งพืช เป็นเรื่องปกติ เราจึงซึมซับคุณค่านี้มาด้วย
การที่เรามีจุดจุดหนึ่งที่จะสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติได้ทุกวัน เราจะได้ความรู้ ได้ข้อมูลมากมาย แน่นอน เราได้ฝึกการสังเกตสังกาจนเป็นนิสัยบางอย่าง จนทำให้เราได้เห็นถึงความมหัศจรรย์ตลอดเวลา และมันทำให้เราเข้าถึงเรื่องราวมากมายในธรรมชาติที่ปกติมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เราไม่ได้สังเกต ซึ่งถ้าเราไม่ได้สังเกตอยู่ทุกวัน เราจะไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดของสัตว์ เช่นนกกระจาบทำรังต่างกัน เราจะเห็นนกเป็นกลุ่มก้อนของสังคมแบบหนึ่งที่มีเรื่องราวที่อ่านได้ในตำรา แต่การที่เราได้ดูมันอย่างใกล้ชิดทุกวัน เราเห็นว่าทุกชีวิตเป็นปัจเจกเหมือนคน มีนิสัยต่างๆนานา มีความชอบไม่ชอบ ทำให้เราเอ็นดูมัน แต่ก็ทำให้เกิดความเคารพ เกิดความทึ่งในทุกชีวิต ในขณะเดียวกันก็เห็นความเหมือนกันของทุกชีวิตมากขึ้น ความเหมือนนี่หมายความว่ามันต่างกันมาก ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วย
การที่เราได้ดูมันอย่างใกล้ชิดทุกวัน เราเห็นว่าทุกชีวิตเป็นปัจเจกเหมือนคน มีนิสัยต่างๆนานา มีความชอบไม่ชอบ ทำให้เราเอ็นดูมัน แต่ก็ทำให้เกิดความเคารพ เกิดความทึ่งในทุกชีวิต ในขณะเดียวกันก็เห็นความเหมือนกันของทุกชีวิตมากขึ้น
ความจำเป็นของการมีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติ
คิดว่าการมีไกด์ มีเมนทอร์ มีผู้นำ มันช่วย [ให้เห็น/ตระหนักถึงความเป็นปัจเจกของสิ่งมีชีวิตอื่น] นับเป็นลักษณะเด่นของสัตว์สังคมแบบมนุษย์ เพราะในสังคมเรา ปัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการสะสมตลอดวิวัฒนาการ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตกผลึกกันมา ทำไมเราไม่ต้องมาเริ่มเรียนว่าจะจุดไฟอย่างไร เพราะฉะนั้นการมีไกด์ ช่วยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคุณจะเรียนรู้เอง สิ่งสำคัญคือ ถ้าเรียนรู้อะไรด้วยประสบการณ์ตรง มือหนึ่ง ไม่ใช่มือสอง ไม่ใช่แค่ดูจากภาพ ไม่ใช่แค่ดูจากสารคดี ซึ่งแม้จะช่วยในการสื่อสารถึงความยิ่งใหญ่ถึงระบบความสัมพันธ์ของโลก แต่ไม่มีอะไรมาทดแทนประสบการณ์ตรงได้ เราไม่ได้ใช้แค่ตาดู หูฟังอย่างในสารคดี แต่มันมีทั้งกลิ่น ความรู้สึก คำว่าความรู้สึกไม่ใช่แค่ร้อนเย็น ทำไมบางคนขนลุกวาบ มีความรู้สึกนู่นนี่นั่น การที่เราปล่อยให้ร่างกายได้เปิดผัสสะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราคิดว่ามันสำคัญมากที่นำมาสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อชีวิตอื่นๆ
โลกสมัยใหม่กับการใช้ผัสสะที่เปลี่ยนไปของมนุษย์
ในโลกสมัยใหม่ทุกวันนี้ จำเป็นต้องฝึกเปิดผัสสะกับธรรมชาติ สมัยก่อน เราต้องใช้มันเพื่ออยู่กับธรรมชาติ ต้องใช้ผัสสะต่างๆ ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมคนป่า ถ้าคุณไม่หัดใช้ผัสสะ คุณหาอาหารไม่ได้ แล้วคุณอาจจะกลายเป็นอาหารของตัวอื่นไปด้วย มันฝึกโดยอัตโนมัติ เราใช้ร่างกายของเราทั้งร่างอย่างคุ้มค่ามากในการเรียนรู้ความเป็นไปในโลกนี้ทั้งหมด 99.99% ของวิวัฒนาการมนุษย์นั้นเราใช้ร่างกายเราทั้งร่าง เราวิวัฒนาการร่วมกับชีวิตต่างๆ รอบตัว ร่วมกับธรรมชาติ แต่ภายในน้อยกว่า 0.01% เราเพิ่งมามีเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วง 20-30 ปีหลังนี้ เป็นจอมือถือ มีความสะดวกสบายมากมาย และเราใช้สายตาเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ระบบสัมผัสอื่นๆ เลย ร่างกายของเราจึงไม่สามารถวิวัฒนาการได้เร็ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งทางสุขภาพจิตสุขภาพกายมากมายหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ และมีงานวิจัยออกมาเรื่อยๆ ว่าเกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ
เราทุกคนมีความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรอบตัวอยู่แล้ว มันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราเปิดประตูหรือเปล่า ประตูคือประตูประสาทสัมผัส เมื่อเปิดออก มันจะทำงานอย่างรวดเร็วมากในการเชื่อมโยงเรากับจิตวิญญาณของโลกทั้งใบ และเมื่อเราโยงได้ เราจะไม่เหงา
เราทุกคนมีความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรอบตัวอยู่แล้ว มันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราเปิดประตูหรือเปล่า ประตูคือประตูประสาทสัมผัส เมื่อเปิดออก มันจะทำงานอย่างรวดเร็วมากในการเชื่อมโยงเรากับจิตวิญญาณของโลกทั้งใบ