รูปถ่ายที่ผู้อพยพชาวซีเรียพกติดตัว

รูปถ่ายที่ผู้อพยพชาวซีเรียพกติดตัว

ในค่ายผู้ลี้ภัยทั่วกรีซ  มูเฮเซน  หัวหน้าช่างภาพของสำนักข่าวเอพี  ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง ขอชาวซีเรียดูภาพถ่ายที่พวกเขาติดตัวมาด้วยในการเดินทางนับพันไมล์  ภาพถ่ายเหล่านี้ถ้าไม่ซุกอยู่ในกระเป๋าสตางค์  ก็ห่อไว้ในถุงพลาสติก  มีทั้งภาพถ่ายติดบัตร ภาพบุคคลที่ตัดให้มีขนาดเล็กเพื่อพกพาได้  ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงงานแต่งงาน การพักร้อนของครอบครัวและเด็กๆ ซึ่งตอนนี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรป

คุณพ่อวัย 55 ปีคนหนึ่งจากเมืองอะเลปโปถือภาพถ่ายของลูกสาวทั้งสองคนของเขา  หนึ่งในนั้นตอนนี้ถูกฝังอยู่ในซีเรีย “ผมบอกได้จากวิธีที่เขาถือภาพนั้นว่า  เขากำลังสัมผัสผิวของลูกสาว”  มูเฮเซนเล่า  ผู้ลี้ภัยอีกคนจากเมืองอะเลปโป ชื่อ รัสตัม อับดุลเลาะห์มาน บอกว่า  เขาตัดรูปภรรยา “ให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  มันจะไม่ได้รับความเสียหาย และผมจะไม่มีวันเสียมันไป”

อามิเนห์ ฮามัด อวดภาพถ่ายของตัวเองและสามีชื่อ อาลี อับดุลกาเดอร์  จากที่พักของเธอในค่ายผู้ลี้ภัยเมืองริตโซนาของกรีซ “ตอนนั้นเป็นครั้งล่าสุดที่เราไปเมืองโบราณยุคโรมัน Busra al-Sham “ เธอเท้าความหลัง “เป็นวันศุกร์ที่แดดแรงในฤดูร้อน ปี 2010  พวกเรากินบาบีคิว เดินเล่น และหัวเราะกันอย่างมีความสุข…  เราคิดถึงวันคืนเหล่านั้นมาก”

มูเฮเซนตั้งใจบันทึกภาพสิ่งของที่ชาวซีเรียนำติดตัวมาจากบ้าน  แต่น้อยคนจะมีสมบัติติดตัวมาด้วยมากมาย  “เกือบทุกคนที่ผมพบมีภาพถ่ายติดตัวมาด้วย” เขาเล่า   ก่อนขอดูภาพถ่ายเหล่านั้น  มูเฮเซนจะดื่มชาและฟังเรื่องราวจากเจ้าของภาพถ่าย  ภาพถ่ายเหล่านี้แทบจะอยู่ในสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์  และการได้ดูมันก็เรียกทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตาจากความทรงจำถึงชีวิตในวันคืนเก่าๆ “ภาพถ่ายเป็นเหมือนช่วงเวลาจากอดีตที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวที่เรานำพามาสู่ปัจจุบัน”

สำหรับชาวซีเรียในค่ายผู้ลี้ภัยทางเหนือของกรุงเอเธนส์  ทางเลือกมีน้อยมาก  พวกเขาต้องต่อสู้กับความหนาวเย็นในตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดตั้งเตียงสองชั้น และเครื่องทำความร้อนที่มักละลายเพราะใช้งานหนักเกินไป หลายคนรอคำตอบจากการขอสถานะผู้ลี้ภัย  พวกเขาไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ยุโรปตะวันตกได้  หลังจากพรมแดนบนเส้นทางจากกรีซถูกปิดในปี 2015 เนื่องจากไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำ  ผู้ลี้ภัยในค่ายเหล่านี้จึงมักฆ่าเวลาด้วยการทักทายเพื่อนบ้าน และแบ่งปันความทรงจำ

สำหรับมูเฮเซนซึ่งยังคงเดินหน้าบันทึกภาพการเดินทางของผู้ลี้ภัย  เรื่องราวของพวกเขาไม่ได้จบลงที่ค่ายผู้ลัยในยุโรป“ผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ตัวเลขหรือชาวซีเรีย หรือผู้ลี้ภัย” เขากล่าว “พวกเขามีชื่อเสียงเรียงนามและเรื่องราว พวกเขาเคยมีบ้าน เคยมีชีวิต แต่ตอนนี้พวกเขากลับถูกเรียกแบบเหมารวมว่า  ผู้อพยพ”

เรื่อง นีนา สตรอคลิก
ภาพถ่าย มุฮัมมัด มูเฮเซน

ดิลกาช ฮัสซัน ผู้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย Frakapor ในกรีซ ถือรูปถ่ายสมัยหนุ่มๆของพ่อของเขา “ผมเก็บรูปนี้มา 10 ปีแล้ว” เขาบอก “เป็นรูปถ่ายศักดิ์สิทธิ์สำหรับผม พ่อเป็นต้นแบบของผม”
ลูกๆของซาฮาร์ ดาร์กซินี กระจัดกระจายไปอยู่ทั้งในนอร์เวย์ ตุรกี และสวีเดน ส่วนตัวเธออาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ค่ายผู้ลี้ภัย Kalochori ในกรีซ ลูกสาวคนหนึ่งของเธอเพิ่งจะมีลูก และดาร์กซินีก็หวังว่า เธอจะได้ตั้งรกรากใหม่กับพวกเขาในนอร์เวย์“ฉันเก็บรูปของลูกๆ ไว้กับตัวตลอดเวลาค่ะ”

 

ไฟดาน คิรู ถือภาพถ่ายที่มีตัวเธอ สามี และลูกชายทั้งสามคน ซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 2004 ตอนนี้สามีของเธออยู่ในเยอรมนี ส่วนเธอติดค้างอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย Kalochori “นี่เป็นรูปถ่ายครอบครัวรูปเดียวที่เรามี” เธอบอก
กุลนาวาซ ยูซุฟ วัย 13 ปี อวดภาพถ่ายแม่ของเธอที่ชื่อ ซาอุด ในเต็นท์ที่พักภายในค่ายผู้ลี้ภัย Kalochori “พวกเราหนีออกจากบ้านโดยไม่มีอะไรติดตัวมาเลย” กุลนาวาซบอก “การมีรูปแม่อยู่กับตัวทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัย”
ฮาบีบา วากาส อวดรูปสามีของเธอที่ชื่อ มุฮัมมัด และพ่อตาชื่อ ซุลิมาน นี่เป็นรูปถ่ายเพียงรูปเดียวที่เธอนำติดตัวมาด้วยจากเมืองอะเลปโป เธอพูดถึงสามีในภาพว่า “ตอนนั้นเขายังหนุ่มและหล่อเหลาเชียวละ”
“ผมเก็บรูปนี้ไว้กับตัวตลอดครับ” รอสตัม อับดุลเราะห์มาน พูดถึงรูปถ่ายของภรรยาที่ชื่อ ซูซาน “ผมทำให้มันเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่เสียหายและผมจะไม่ทำมันหายไปไหน”
ลูกชายและสามีของซาอุด อับดุลมาชีด อยู่ในเยอรมนี แต่เธอยังติดอยู่ในกรีซกับรูปถ่ายครอบครัว “เราหนีตายมาจากบาชาร์ [อัล-อัสซัด] และไอซิส ไม่มีอะไรติดตัวมานอกจากความหวาดกลัว ” เธอกล่าว “เราแค่อยากมีชีวิตอย่างปลอดภัย”
อิบรอฮีม การีบ อวดรูปถ่ายลูกสาวสองคนที่ชื่อ มาเรียม และเลลา ตอนที่ทั้งคู่ยังเด็ก วันนี้มาเรียมใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนี ส่วนเลลาเสียชีวิตเมื่อปี 2004 ในซีเรีย “นี่เป็นความทรงจำที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวที่ผมมีของเลลา และมันไม่เคยห่างจากกายผม” อิบรอฮีมบอก

 

อ่านเพิ่มเติม

สรรพสัตว์ในสวนสัตว์ซีเรียเอาตัวรอดจากเมืองที่ล่มสลายอย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.