อุทยานแห่งอนาคต

เรื่อง มิเชลล์ ไนฮัส
ภาพถ่าย คีท แลดซินสกี

บนผืนดินแคบๆยาว 60 กิโลเมตรนอกชายฝั่งรัฐแมริแลนด์และเวอร์จิเนีย อุทยานชายฝั่งแห่งชาติเกาะแอสซาทีก (Assateague Island National Seashore) ค่อยๆเคลื่อนไปทางตะวันตกทีละน้อย ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา เฮอร์ริเคนและพายุน้อยใหญ่พัดพาทรายจากชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามเกาะไปถมหนองน้ำที่อยู่ริมชายฝั่งอีกด้านหนึ่ง ส่งผลให้เกาะขยับเข้าใกล้ฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ

“เจ๋งใช่ไหมล่ะครับ” อิชเมล เอนนิส พูดขึ้น “วิวัฒนาการไงครับ!” เขายิ้มให้ชายหาดเบื้องหน้าที่มีตอไม้ กิ่งก้านหงิกงอ และเศษพีตกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งหมดนี้คือร่องรอยของหนองน้ำซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะ ก่อนพายุจะพัดทรายมาทับถม บัดนี้หนองน้ำปรากฏให้เห็นอีกครั้งทางตะวันออกเมื่อเกาะเคลื่อนขยับไปเรื่อยๆ

อุทยานแห่งชาติเกลเชียร์, รัฐมอนแทนา
แสงยามอรุณรุ่งอาบไล้ผาการ์เดนวอลล์ สันหินที่สลักเสลาขึ้นจากธารน้ำแข็งในสมัยน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งกรินเนลล์เคยปกคลุมทั่วแอ่งที่เห็นเบื้องล่างก่อนหดตัวลง ไม่ต่างจากธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ในโลกที่อบอุ่นขึ้น นับตั้งแต่ปี 1850 ธารน้ำแข็งกรินเนลล์สูญเสียพื้นผิวไปแล้วมากกว่าร้อยละ 75

เอนนิสผู้เพิ่งเกษียณจากการเป็นหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุงประจำอุทยาน เผชิญพายุที่นี่มานักต่อนัก จะว่าไปแล้ว อุทยานชายฝั่งแห่งนี้ก่อตัวขึ้นจากพายุน้อยใหญ่ที่พัดในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ย้อนหลังไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1962 พายุใหญ่พัดถล่มแอสซาทีกพร้อมกับลบชื่อของโอเชียนบีช รีสอร์ตตากอากาศใหม่เอี่ยม โดยทำลายถนนและอาคาร 30 หลังแรก รวมทั้งความฝันของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโครงการให้พังภินท์ นักอนุรักษ์อาศัยโอกาสนี้เสนอให้รัฐสภาออกกฎหมายปกป้องพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะในฐานะส่วนหนึ่งของระบบอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 1965 ทุกวันนี้ แอสซาทีกคือเกาะสันดอนปลอดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยาวที่สุดริมชายฝั่งของรัฐแถบแอตแลนติกตอนกลาง โด่งดังเรื่องม้าแคระป่าแหล่งดูดาวโล่งไร้สิ่งกีดขวาง และทัศนียภาพเงียบสงบของมหาสมุทร

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะทำให้พายุรุนแรงขึ้น ระดับทะเลสูงขึ้น และการเคลื่อนสู่ตะวันตกอย่างเนิบช้าของเกาะแอสซาทีกอาจเร็วขึ้น เอนนิสรู้จักเกาะนี้ดีพอที่จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเริ่มขึ้นแล้ว ที่ปลายเกาะด้านใต้ พายุพัดทำลายลานจอดรถไปหกครั้งในรอบสิบปี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวถูกซัดพังสามครั้ง

เอนนิสผู้มีหัวในการประดิษฐ์คิดค้น ตระหนักว่าสถานการณ์นี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางเครื่องจักรกล เขากับเพื่อนร่วมงานและสถาปนิกของอุทยานช่วยกันปรับแต่งห้องส้วม ห้องน้ำ และห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าริมหาดให้สามารถเคลื่อนย้าย ได้อย่างรวดเร็วก่อนพายุจะพัดเข้ามา พวกเขาทดลองใช้วัสดุต่างๆทำพื้นผิวลานจอดรถ จนมาลงเอยที่เปลือกหอยกาบโปร่งๆ มีรูพรุน เนื่องจากซ่อมแซมง่ายและใช้รถเกลี่ยดินดันไปไว้ที่ใหม่ได้หากจำเป็น “ต้องพึ่งสิ่งที่เรียกกันว่า ‘วิศวกรรมแบบบ้านๆ’ มหาศาลเชียวครับ” เอนนิสบอกกลั้วหัวเราะ “ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยครับ เราทำเพราะสถานการณ์บังคับ”

อุทยานแห่งชาติโอลิมปิก, รัฐวอชิงตัน
ดาวทะเลสีเหลืองผู้โดดเดี่ยวในดงดอกไม้ทะเลยักษ์สีเขียวกำลังกินหอยแมลงภู่กับเพรียง นับตั้งแต่ปี 2013 ดาวทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตายลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้ความต้านทานโรคของดาวทะเลลดลง

การปรับเปลี่ยนและประยุกต์ง่ายๆเหล่านี้ขยายไปสู่สิ่งที่กว้างกว่า ตอนนี้แอสซาทีกเป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกๆของสหรัฐฯที่พูดถึงและยอมรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเปิดเผย อุทยานชายฝั่งแห่งนี้จะไม่ฝืนต้านสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่จะปรับตามจังหวะการขยับของเกาะ และย้ายโครงสร้างต่างๆตามผืนทราย

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้น ธารน้ำแข็งในอุทยานแห่งชาติเกลเชียร์หดตัวลง ไฟป่าในอุทยานแห่งชาติซีคัวยาขยายวงกว้างขึ้น และอุทยานริมชายฝั่งก็เริ่มสูญเสียพื้นที่เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น ไม่นานหลังขึ้นศตวรรษใหม่ นักวิจัยที่อุทยานแห่งชาติเกลเชียร์ประกาศว่า พอถึงปี 2030 มีแนวโน้มว่า กระทั่งธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานก็อาจมลายหายไป

กรมอุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ National Park Service ซึ่งจัดตั้งขึ้นครบหนึ่งร้อยปีเมื่อปีที่ผ่านมา   หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องนี้อยู่พักใหญ่ ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเกลเชียร์เอ่ยถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงย่อๆ เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ยอมพูดถึงสาเหตุ เพราะถือเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง

 อุทยานชายฝั่งแห่งชาติแหลมแฮตเทอรัส, รัฐนอร์ทแคโรไลนา
ภาพถ่ายเส้นใยสาหร่ายที่กำลังเติบโตในบริเวณซึ่งปกติเป็นพื้นดินแห้งๆ ณ จุดกางเต็นท์เคปพอยต์บนเกาะแฮตเทอรัสภาพนี้ ถ่ายใต้น้ำ ในช่วงสี่วันของฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา หางพายุโซนร้อนบอนนีทำให้ฝนตกบนเกาะเกือบ 35 เซนติเมตร หรือราวหนึ่งในสี่ของปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปี

แต่ปัญหานี้ล้ำลึกกว่าเรื่องการเมืองอันผิวเผิน ผู้คนมาอุทยานแห่งชาติเพื่อพบกับสิ่งอันเป็นนิรันดร์ หรือขอเพียงได้เห็นธรรมชาติในสภาวะที่มั่นคง “ไม่ถูกทำลาย” เพียงชั่วแวบหนึ่ง แม้จะเป็นภาพลวงตาก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้กรมอุทยานนำเสนอภาพมายานี้ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครรู้ว่า อุทยานแห่งชาติควรนำเสนออะไรแทนกันแน่

เมื่อปี 2009 ผู้อำนวยการกรมอุทยาน โจนาทาน จาร์วิส ตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อเสนอเป้าหมายชุดใหม่ให้กรมอุทยานโดยเน้นการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับ “การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก” และพยายามปกปักรักษา “บูรณภาพทางนิเวศวิทยาและความถูกต้องแท้จริงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์” นักท่องเที่ยวจะได้รับ “ประสบการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง” แทนภูมิทัศน์อันงดงามคงที่ แต่บางทีสิ่งสำคัญที่สุดคือ อุทยานต่างๆจะ “ก่อตัวเป็นแกนกลางของการอนุรักษ์ภูมิทัศน์ทางบกและทางทะเลแห่งชาติ” โดยจะไม่ถูกบริหารจัดการแบบแยกส่วน แต่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่อนุรักษ์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.