100 ปีของการตามล่าอุปราคา (eclipse) เผยให้เห็นในภาพถ่ายแปลกประหลาด

เรื่อง เรเชล บราวน์

ความมืดกลืนกินกลางวัน ทันใดนั้นอากาศก็หนาวเย็น ดวงอาทิตย์หายไปจากท้องฟ้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรพบุรุษของเราจะต้องตื่นตระหนกต่อปรากฏการณ์สุริยุปราคา

หลายวัฒนธรรมเชื่อว่า สุริยุปราคาและจันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ถูกพลังเหนือธรรมชาติกลืนกิน เช่น สุนัขเพลิงของวัฒนธรรมเกาหลี หมาป่าแห่งท้องฟ้าของชาวไวกิ้ง หรือพระราหูที่มีแต่ร่างกายท่อนบน

ทว่าในที่สุดนักดาราศาสตร์ก็ได้คำตอบว่า สุริยุปราคาเกิดจากดวงจันทร์โคจรผ่านมาอยู่ในแนวเดียวกันระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และจันทรุปราคาเกิดจากโลกโคจรผ่านระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์

จากการสังเกตการณ์อย่างละเอียด นักดาราศาสตร์ยุคแรกๆจึงเรียนรู้ที่จะทำนายวันเวลาในการเกิดอุปราคา ชาวแคลเดียในเมืองบาบิโลนบันทึกการเกิดวัฏจักรซารอส (Saros cycle) หรือช่วงเวลา 18 ปี 11.3 วัน ที่จะเกิดอุปราคาซ้ำ เป็นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่เจ็ดก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม เราต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะคิดหาวิธีปกป้องลูกตาของเราจากการมองดูอุปราคาได้อย่างแท้จริง

ในปี 1896 นักดาราศาสตร์อาชีพและมือสมัครเล่นจากทั่วโลก 165 คนลงเรือเดินทางนานหนึ่งเดือนไปยังเมือง Vadsø ประเทศนอร์เวย์ เพื่อเฝ้าสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม ที่นี่ โจเซฟ ลันต์ จาก British Astronomical Association ปรับเปลี่ยนกล้องถ่ายภาพที่ออกแบบเป็นพิเศษซึ่งต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานสี่คน

Photograph by ALINARY, GETTY IMAGES

สมาชิกของ British Astronomical Association มาถึงเมือง Vadsø ประเทศนอร์เวย์ หนึ่งสัปดาห์ก่อนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในปี 1896 เพื่อให้มีเวลาพอที่จะติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ แม้ว่าภารกิจนี้จะล้มเหลว เพราะเมฆปกคลุมบดบังตลอด 106 วินาทีที่สุริยุปราคาเต็มดวง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับการสำรวจครั้งต่อๆมา

Photograph by ALINARY, GETTY IMAGES

กลุ่มนักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียเตรียมตัวเฝ้าสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 14 มกราคม ปี 1907 สถานที่นี้อยู่สูงขึ้นไปบนเทือกเขาเทียนชานในเอเชียกลาง เป็นที่สังเกตการณ์ซึ่งเหมาะสมที่สุด

Photograph by UIG, GETTY IMAGES

สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ซึ่งมองเห็นได้ในซีกโลกใต้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1919 ได้รับคุณูปการอย่างใหญ่หลวงจากฟิสิกส์สมัยใหม่ กล่าวคือในการทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ครั้งแรก เซอร์อาร์เทอร์ เอดดิงตัน นักดาราศาสตร์ วัดตำแหน่งของดาวบางดวงก่อนและระหว่างการเกิดอุปราคา เขาพบว่า ตำแหน่งของดาวแตกต่างกันไปในวิถีทางที่อธิบายได้ด้วยการที่แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์หักเหแสงของดาวเหมือนกับเลนส์เท่านั้น ด้วยผลลัพธ์นี้ เอดดิงตันช่วยปูทางให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

Photograph by SSPL, GETTY IMAGES

เซอร์อาร์เทอร์ เอดดิงตัน ทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์จากเกาะปรินซิปี นอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ระหว่างการเกิดอุปราคาเมื่อปี 1919 ในกรณีที่เมฆปกคลุมทำให้การทดลองล้มเหลว เอดดิงตันยังได้จัดเตรียมให้นักดาราศาสตร์ทำการสังเกตแบบเดียวกันจากเมืองซูบราล ประเทศบราซิล ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ไว้ ความสำเร็จจากการสังเกตการณ์ทั้งสองแห่งเริ่มทำให้ทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นที่สนใจ

Photograph by SSPL, GETTY IMAGES

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 1923 สุริยุปราคาที่เกิดนานสามชั่วโมงบดบังแสงอาทิตย์ร้อยละ 90 ในนครลอสแอนเจลิส ฝูงชนที่ชมดูปรากฏการณ์สวมแว่นตาป้องกัน แต่ยังคงอันตรายต่อสายตา เพราะสีหรือฟิล์มเอกซเรย์กรองแสงที่มองเห็น แต่ไม่ได้ป้องกันรังสีอินฟราเรดและอัลตราไวโอเลต ซึ่งอาจเผาไหม้ประสาทจอตาอย่างถาวร

Photograph by CORBIS, GETTY IMAGES

เด็กๆมองดูสุริยุปราคาเมื่อปี 1923 ผ่านฟิล์มป้องกันในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย การมองดูด้วยตาเปล่าเป็นเรื่องปลอดภัยในช่วงที่สุริยุปราคาเต็มดวง คือเมื่อดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังทั้งดวง อย่างไรก็ตาม แว่นตาป้องกันแสงจากการเชื่อมหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์เป็นวิธีเดียวที่ปลอดภัยในการจ้องดูดวงอาทิตย์ระหว่างช่วงอื่นๆของสุริยุปราคา

Photograph by CORBIS, GETTY IMAGES

ประมาณกันว่าผู้คนราวหนึ่งหมื่นคนมาชุมนุมกันในสภาพอากาศที่อุณหภูมิติดลบ 17 องศาเซลเซียสในเมืองเวสเตอร์ลี รัฐโรดไอแลนด์ เพื่อชมสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 1925 ระหว่างเกิดปรากฏการณ์ บรรยากาศส่วนบนของดวงอาทิตย์ หรือคอโรนา (corona) มองเห็นเป็นวงแหวนของแสงรอบวัตถุทรงกลมที่มืดมิด

Photograph by JAMES L. CALLAHAN, THE BOSTON GLOBE, GETTY IMAGES

กลุ่มพยาบาลที่ใส่แว่นสีเข้มป้องกัน เฝ้าดูสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1927 ในมณฑลแลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งห่างจากเส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวง (path of totality) เพียงไม่กี่กิโลเมตร

Photograph by FOX PHOTOS, GETTY IMAGES

ฝูงชนโบกฟิล์มป้องกันดวงตาเพื่อชมสุริยุปราคาเมื่อปี 1927 จากสนามของ Stonyhurst College ในประเทศอังกฤษ

Photograph by FOX PHOTOS, GETTY IMAGES

กลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ห้าในหมู่บ้านเมย์วูด รัฐอิลลินอยส์ มองดูสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1963 ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “sunscope”โดยการเจาะรูขนาดสามมิลลิเมตรในกล่องกระดาษแข็งเพื่อสร้างกล้องรูเข็ม (pinhole camera) แบบคร่าวๆ พวกนักเรียนสามารถมองภาพสุริยุปราคากลับหัวจากภายในกล่องโดยไม่ทำร้ายสายตา

Photograph by FRANCIS MILLER, THE LIFE PICTURE COLLECTION, GETTY IMAGES

ภาพซ้อนภาพนี้แสดงให้เห็นดวงจันทร์เต็มดวงถูกเงาของโลกบดบัง ขณะกำลังขึ้นเหนืออาคารรัฐสภาสหรัฐฯในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี 1968

Photograph by GETTY IMAGES

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.