หรือนี่คือโฉมหน้า “มนุษย์แห่งโลกอนาคต”

หรือนี่คือโฉมหน้า “มนุษย์แห่งโลกอนาคต”

นีล ฮาร์บิสสัน ศิลปิน วัย 34 ปี เติบโตขึ้นมาพร้อมความผิดปกติที่พบได้น้อยมากเรียกว่า ภาวะตาบอดสีทุกสี หรือภาวะสูญเสียการระลึกรู้สี (acromatopsia)  ซึ่งแปลว่า  เขาไม่สามารถรับรู้สีได้  แต่เสาอากาศซึ่งมีส่วนปลายเป็นตัวรับของเส้นใยนำแสงอยู่เหนือดวงตาของเขาพอดี ช่วยให้ฮาร์บิสสันรับรู้สีได้

ฮาร์บิสสันซึ่งมักได้รับกล่าวขวัญว่าเป็นมนุษย์ไซบอร์กคนแรกของโลกอย่างเป็นทางการ หลังรัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้เขาสวมอุปกรณ์พิเศษนี้ในภาพถ่ายหนังสือเดินทาง กล่าวว่า การขยายขอบเขตของเทคโนโลยีนี้ถือเป็นวิถีทางตามธรรมชาติ  และอาจเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นด้วยซ้ำหากมนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ฮาร์บิสสันให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากคาเฟ่ในสเปน โดยพูดถึงประโยชน์ของการมีสัมผัสพิเศษที่เทคโนโลยีหยิบยื่นให้

 

NG: รู้สึกอย่างไรกับการเป็นมนุษย์ไซบอร์ก

ฮาร์บิสสัน:  ผมไม่คิดว่ามีความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์กับสมองของผม หรือระหว่างเสาอากาศกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายผม การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไซเบอร์เนติกส์ (cybernatics) ทำให้ผมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยี คำจำกัดความของ “ไซบอร์ก” ที่นักวิทยาศาสตร์ แมนเฟรด ไคลน์ส คิดค้นขึ้นเมื่อปี 1960 มีอยู่ว่า เพื่อที่จะสำรวจแลเอาชีวิตรอดในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแทนที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และตอนนี้เราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว เราสามารถเพิ่มประสาทสัมผัสใหม่ๆ หรือแม้แต่อวัยวะใหม่ๆ

 

NG: ทำไมคุณถึงสร้างประสาทสัมผัสนี้ให้ตัวเอง 

ฮาร์บิสสัน: ผมไม่ได้ตั้งใจหรือมุ่งหวังที่จะเอาชนะอะไร การมองเห็นโลกรอบตัวเป็นสีเทามีประโยชน์หลายอย่าง ผมมองเห็นตอนกลางคืนดีกว่าคนอื่น จดจำรูปทรงอะไรต่างๆได้ง่ายกว่า และผมก็ไม่ถูกการพรางตัวหลอกง่ายๆ ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาทางกายภาพ และไม่เคยอยากเปลี่ยนแปลงการมองเห็นของตัวเอง ผมแค่อยากสร้างอวัยวะใหม่ในการมองเห็น

 

NG: คำถามอะไรที่คุณจำได้แม่นเวลาคนอื่นถามเกี่ยวกับเสาอากาศบนศีรษะ 

ฮาร์บิสสัน: ไม่มีคำถามอะไรเป็นพิเศษหรอกครับ แต่สิ่งที่คนคิดเกี่ยวกับเสาอากาศของผมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อปี 2004 คนคิดว่ามันเป็นไฟช่วยอ่านหนังสือ และพวกเขาจะถามว่า ผมเปิดมันได้ไหม พอปี 2007 มันกลายเป็นโทรศัพท์ที่ไม่ต้องใช้มือจับ จากนั้นในปี 2008 และ 2009 มันกลายเป็นกล้องโกโปร (GoPro)  ถัดมาในปี 2015 เด็กๆหลายคนคิดว่ามันเป็นเสาเซลฟียืดหดได้ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว มีคนตะโกนใส่ผมว่า “โปเกมอน” ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อิตาลี คุณตาคนหนึ่งถามว่า ผมใช้มันทำคาปูชิโนได้ไหม แต่ถ้าคนเริ่มจากคำถามว่า คุณรับสัมผัสอะไรได้จากมัน นั่นแปลว่า มันกลายเป็นสิ่งปกติและคนเริ่มเข้าใจว่า มันเป็นอวัยวะรับสัมผัสอย่างหนึ่ง

 

NG: ประสบการณ์เกี่ยวกับโลกของคุณเปลี่ยนไปมากแค่ไหนตั้งแต่ได้รับการปลูกฝังอุปกรณ์นี้ 

ฮาร์บิสสัน: ความเข้าใจในโลกของผมลึกซึ้งขึ้น ยิ่งคุณขยายประสาทสัมผัสออกไปเท่าไร คุณก็ยิ่งตระหนักว่า โลกยังมีอะไรอีกมากที่เราไม่รู้ เหมือนกับว่าถ้าคุณอยู่ในบ้านหลังหนึ่งมาหลายปี คุณรับรู้อะไรที่ซ้ำๆ แต่ถ้าคุณมีประสารทสัมผัสใหม่ซักอย่างหนึ่ง บ้านหลังนั้นกลับกลายเป็นบ้านใหม่อีกครั้ง

NG: มีเทคโนโลยีอะไรอย่างอื่นอีกไหมที่อาจช่วยทลายอุปสรรคหรือปราการของความเป็นมนุษย์

ฮาร์บิสสัน: โครงการส่วนใหญ่ที่ผมเห็นมักเป็นพวกชิป ซอฟต์แวร์ หรือไม่ก็แอปพลิเคชั่น ที่ช่วยให้คุณฉลาดขึ้น แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องประสาทสัมผัสเลย เรามัวแต่ให้ประสาทสัมผัสแก่จักรกลเหล่านี้แทนที่จะให้กับตัวเอง เช่น รถยนต์ที่รู้หรือตรวจจับได้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหลัง ขณะที่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ลองคิดจินตนาการถึงตุ้มหูที่สามารถช่วยให้คุณได้ยินโลกรอบตัวแบบ 360 องศาดูสิ ผมอดรู้สึกแปลกใจไม่ได้ว่า เรื่องธรรมดาๆ แบบนี้ไม่ยักเกิดขึ้น

 

NG: ควรมีข้อจำกัดอะไรบ้างไหมที่มนุษย์จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง 

ฮาร์บิสสัน: ผมคิดว่าเราทุกคนควรมีเสรีภาพที่จะออกแบบตัวเองได้มากตามที่เราต้องการ ประสาทสัมผัสแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทำนองเดียวกับที่เราทุกคนมีตาและหู และใช้มันแตกต่างกันไป ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี

 

NG: คุณเชื่อหรือไม่ว่า การขยายขอบเขตความสามารถของมนุษย์ท้ายที่สุดจะมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์

ฮาร์บิสสัน: ผมคิดว่าถ้าถึงปลายศตวรรษนี้  เราเริ่ม “พิมพ์” อวัยวะรับสัมผัสของตนเองได้ โดยฝังดีเอ็นเอไว้  แทนที่จะเป็นชิปคอมพิวเตอร์ ถ้าเช่นนั้น ความเป็นไปได้ของการมีลูกที่เกิดมาพร้อมประสาทสัมผัสเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นเรื่องจริง ถ้าพ่อแม่ของพวกเขาปรับแต่งยีนหรือสร้างอวัยวะใหม่ๆ ขึ้นมา คำตอบคือ ใช่ครับ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการเกิดใหม่ของเผ่าพันธุ์ของเราก็เป็นได้

 

อ่านเพิ่มเติม

โลกอนาคต : หรือนี่คือโฉมหน้าของเมืองในอีกร้อยปีข้างหน้า

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.