ย้อนหลังไป 50 ปีที่แล้ว การแพทย์แผนไทยที่หายไปจากท้องถิ่น การใช้ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราแพทย์ของไทยภาคกลางในการสอบประกอบโรคศิลปะตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ทำให้หมอพื้นบ้านจากภาคอื่นๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับการรักษาและสมุนไพรเฉพาะถิ่นสอบตก หยุดรักษา และบางคนอาจถึงกับต้องเผาตำราทิ้ง เพราะกลัวทางการจับกุม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการล่มสลายของการ แพทย์แผนไทย
หากถอยหลังกลับไปไกลกว่านั้น หลังก่อตั้ง “โรงศิริราชพยาบาล” เมื่อ พ.ศ. 2431 โรงเรียนราชแพทยาลัยเพื่อผลิตแพทย์ก็เกิดขึ้นในอีกสองปีต่อมา ในช่วง 25 ปีแรก มีการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับแพทย์แผนตะวันตก แล้วยุติการสอนแพทย์แผนไทยใน พ.ศ. 2458 การแพทย์แผนไทยจึงจำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึงองค์ความรู้และคนที่เข้าไม่ถึงการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พอมีความรู้การแพทย์พื้นบ้านเท่านั้น
แต่ทุกวันนี้ เมื่อหันมาสังเกตรอบตัวจึงพบว่า สมุนไพรเริ่มกลับมาเป็นของประจำบ้านในรูปบรรจุภัณฑ์ทันสมัย เมื่อผสมรวมเข้ากับข่าวคราวเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เช่น โครงการเมืองสมุนไพร การตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย การให้การบริการแพทย์แผนไทยในระดับตำบล ก็ชวนให้คิดว่า ยุคนี้เป็นยุคที่การแพทย์แผนไทยกำลังหวนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง จนฉันอยากเรียกเล่นๆ ว่า เป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของแพทย์แผนไทยเลยทีเดียว
พทป. ทวิช ปรีดี แพทย์แผนไทยประยุกต์ประจำร้านขายยาโพธิเงิน-อภัยภูเบศร โอสถ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าถึงวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนไทยของที่นี่ว่า “ตามกระบวนการเริ่มจากซักประวัติ ตรวจร่างกายและวินิจฉัยโรค การตรวจอาการจะมีหลายแบบ และสามารถใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่างเครื่องวัดความดันและหูฟังแพทย์ร่วมด้วยได้ ตรวจธาตุเจ้าเรือน ดูว่าเป็นคนธาตุอะไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร กินอาหารอย่างไร ถ้าคนไข้มาโดยมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะซักถามอาการ และบางทีอาจจับชีพจรเพื่อช่วยประเมินโรค การจับชีพจรแบบแผนไทย เราจะมองเป็นธาตุ ดูว่าธาตุอะไรเสียไป แล้วจึงจัดยาหรือหัตถการปรับสมดุลธาตุ”
“ตามทฤษฎีธาตุ วาตะคือลม ปิตะคือไฟ และเสมหะคือดินกับน้ำ หลักการสำคัญคือต้องมีชีวิตที่สมดุล อะไรที่สูงต้องดึงลง อะไรที่ต่ำต้องดึงขึ้น อะไรที่พอดีต้องรักษาไว้ เช่น ผู้หญิงเสมหะเยอะ ตอนท้องผู้หญิงจะอ้วน จะลดเสมหะได้ก็ต้องอยู่ไฟ และเมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัยมีลมเป็นเจ้าเรือน ผู้เฒ่าผิวจะแห้ง นอนหลับยาก มีคนไข้คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนจะหมดประจำเดือนถึงขนาดคิดจะฆ่าตัวตาย ซึมเศร้ามากเพราะลมกำเริบ และค้นพบว่า การสวดมนต์ช่วยบรรเทาได้ บางวัฒนธรรมจึงให้ผู้หญิงอายุ 40 ปีไปถือศีลเป็นแม่ขาว ถ้าเราอยู่กับความโลภโกรธหลงคือความคิด ลมก็จะเติบโต ทำให้เราไม่มีสมดุลในตัวเองการมีวินัยมีศีลเกาะยึดจะช่วยได้” เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ หรือ “หมอต้อม” อธิบายเพิ่มเติม
เมื่อฉันสืบค้นข้อมูลลึกขึ้นจึงรู้ว่า การแพทย์ในซีกโลกตะวันออก เช่น การแพทย์แผนจีน อายุรเวทของอินเดีย การแพทย์อิสลาม และการแพทย์แผนไทย ล้วนมีหลักการเดียวกันคือ สรรพสิ่งในโลกนี้ประกอบด้วยธาตุ ความเจ็บป่วยใดๆ ล้วนเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุ ใน คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์ของ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ กล่าวว่า ความแปรปรวนของธาตุซึ่งเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยมี 5 ประการคือ ธาตุพิการ ธาตุกำเริบ ธาตุหย่อน ธาตุแตก และธาตุออกจากร่างกาย ทั้งหมดนี้มีมูลเหตุสำคัญ 12 ประการ ได้แก่ อาหาร อิริยาบถ อากาศร้อน อากาศเย็น อดนอน อดข้าว อดน้ำ กลั้นอุจจาระ กลั้นปัสสาวะ ทำงานเกินกำลัง ความโศกเศร้าเสียใจ โทสะมาก จะเห็นได้ว่า มูลเหตุแห่งโรคล้วนเป็นเรื่องของวิถีชีวิตทั้งสิ้น และเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้คนสมัยนี้เจ็บไข้ได้ป่วย
สมัยเรียนชั้นมัธยม ฉันส่งคำขวัญเข้าประกวดในงานสัปดาห์สมุนไพรไทยของโรงเรียนและได้รับรางวัลชนะเลิศ คำขวัญนั้นคือ “สมุนไพรไทย เพชรในวงการแพทย์” เมื่อต้องค้นหาข้อมูลเขียนบทความเรื่องนี้จึงเพิ่งรู้ว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยกับยุคแห่งการฟื้นฟูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2520 ที่ประชุมเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศจัดการด้านสาธารณสุขให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพในอีก 20 ปีข้างหน้า ภายใต้คำขวัญ “สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543” ประเทศไทยก็รับลูกโดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (2520-2524) เป็นต้นมา แล้วคลอดนโยบายการสาธารณสุขมูลฐาน หมายถึงการสาธารณสุขระดับชุมชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัยเพื่อผลิตแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่อีกครั้ง
ในช่วงนั้น สมุนไพรถือเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขเริ่มทำโครงการสมุนไพรกับสาธารณสุขมูลฐานเมื่อปี พ.ศ. 2524 เป็นช่วงเวลาเดียวกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง (ปัจจุบันคือมูลนิธิสุขภาพไทย) และนักวิชาชีพด้านสาธารณสุขหัวก้าวหน้าเริ่มฟื้นฟูสมุนไพรและการนวดไทย พอถึงปี พ.ศ. 2526หมอต้อมเริ่มศึกษาข้อมูลสมุนไพรจากฐานข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้ก่อนหน้าและจากหมอพื้นบ้าน และเริ่มออกเดินป่าเพื่อตามหาสิ่งที่เธอเรียกว่า “ขุมทรัพย์ชีวภาพ” นับตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์สำคัญที่ขับเคลื่อนให้สมุนไพรไทยได้รับความนิยม คือวิกฤติเศษฐกิจช่วงปี พ.ศ. 2540 สมุนไพรได้รับการวางบทบาทเป็นผู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชนและระดับประเทศ ขณะนั้นโรงพยาบาลอภัยภูเบศรซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตยาสมุนไพรใช้ในโรงพยาบาล เริ่มขยายสายการผลิตจากยาไปสู่เครื่องดื่มและเวชสำอางแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชุมชนและภาคเอกชนหันมาปลูกและทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างคึกคัก หนึ่งในสมุนไพรอภัยภูเบศรที่สร้างปรากฏการณ์ระดับประเทศคือมะขามป้อม “พอขึ้นทะเบียนยาแก้ไอมะขามป้อม ก็มีผลิตภัณฑ์มะขามป้อมอื่นๆ ตามมา จนมะขามป้อมขาดตลาดไปทั้งประเทศ”
คนไทยรู้จักสมุนไพรอย่างกว้างขวาง การพัฒนาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคพื้นฐานบรรลุผล เมื่อยาสมุนไพรปรากฏในบัญชียาหลักแห่งชาติ 19 รายการ ซึ่งครอบคลุมทุกโรคพื้นฐาน
ทว่าประเทศชาติคาดหวังกับสมุนไพรไทยมากกว่านั้น แผนปฏิบัติการ 5 ปีในยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลประกาศเมื่อปลายปีที่แล้ว ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้ 3.2 แสนล้านบาท และสร้างเมืองสมุนไพรซึ่งหมายถึงเมืองที่มีการใช้สมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือปลูก ผลิต ใช้ และจำหน่าย
ครั้งหนึ่งศาสตร์การนวดที่เป็นของเก่าแก่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนานถูกตัดออกไปจากสารบบการแพทย์แผนไทย โดยหล่นหายไปจากพระราชบัญญัติการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2479 อย่างไม่มีใครรู้ การนวดไทยเพิ่งจะได้รับการฟื้นฟูเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนและระบบสาธารณสุขบ้านเราเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และสภาการแพทย์แผนไทยรับรองให้การนวดไทยเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์แผนไทยเมื่อ พ.ศ. 2544 นี่เอง
“ปัจจุบันมีนักเรียนนวดปีละประมาณ 5,000 คน เป็นคนไทยร้อยละ 60 และชาวต่างประเทศร้อยละ 40 นักเรียนไทยส่วนใหญ่มีเป้าหมายไปทำงานต่างประเทศอยู่แล้วจึงมาเรียนนวด” เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน เล่า กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โรงเรียนนวดวัดโพธิ์ฯ อยู่ใต้ร่มโรงเรียนแพทย์แผนโบราณพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ซึ่งมีอายุ 60 ปีแล้ว ช่วงเจ็ดปีแรก กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้ตั้งโรงเรียนสอนนวดไทย เนื่องจากสมัยนั้นการนวดแผนโบราณมีภาพลักษณ์ตกต่ำและถูกมองในเชิงค้าประเวณี จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดโพธิ์เมื่อปี พ.ศ. 2504 และตรัสถามว่า มีการสอนนวดหรือไม่ ต่อมาทางการจึงอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนนวดวัดโพธิ์ขึ้น โดยเริ่มการเรียนการสอนเมื่อกลางปี พ.ศ. 2505 และเป็นรู้จักในระดับโลกเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา หลังนิตยสารท่องเที่ยวและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเริ่มตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับโรงเรียน และประมาณปี พ.ศ. 2535 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า หมอนวดไทยที่ไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านปีละประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ทำให้มีชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเรียนที่นี่มากขึ้น โรงเรียนนวดวัดโพธิ์จึงเป็นแหล่งผลิตหมอนวดไทย “ส่งออก” ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยและกาลเวลา เช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทยที่แม้จะเป็นศาสตร์เก่าแก่มีหลักคิดและวิธีการใช้ที่ระบุไว้ในตำราดั้งเดิม แต่เมื่อนำมาใช้ ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทและความต้องการของยุคสมัย
สามารถติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2560
เรื่อง ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพถ่าย ภานุพงศ์ ช่างฉาย