ถอดบทเรียนสู้วิกฤตโลกร้อนจากเวที GCNT Forum 2021

ได้ยินกันมานานเรื่องภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและรอไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่ได้ส่งผลแค่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดผลกระทบวงกว้างต่อทุกคน

คำถามสำคัญคือ เราจะป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสภาวะเหล่านี้อย่างไร แล้วประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง

ภาพโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) และสหประชาชาติ จึงร่วมกันจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำของไทยเป็นครั้งแรกในงาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ เมื่อวันเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวก่อนการประชุม COP26 หรือการประชุมสุดยอดผู้นำโลกในเรื่องนี้ ที่แสดงถึงความกระตือรือร้นของภาคเอกชนไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกว่า 80 องค์กร ครบครันทุกกลุ่มธุรกิจทุกขนาด ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

ในงานนี้ มีการเสวนาใน 5 หัวข้อ โดยตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประสังคม สหประชาชาติ และสมาชิก GCNT เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด หาทางออกร่วมกัน และเร่งสร้างยุคใหม่ของการลงมือทำ (A New Era of Accelerated Actions) ให้เกิดขึ้น

เรื่องเร่งด่วนและสำคัญเช่นนี้ เราจึงชวนมาถอดบทเรียนและแนวทางการป้องกันปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน

 

ประเด็นที่ 1
การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย
ผู้ร่วมเสวนา : ตัวแทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ United Nations Environment Programme หรือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เรายังคงตั้งเป้าเพื่อบรรลุตามการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตั้งใจไปให้ถึง Net-Zero Thailand หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยงานด้านพลังงาน และการรักษาระดับการปล่อยก๊าซในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร

ส่วนของภาครัฐก็มีส่วนร่วมโดยการออกมาตรการต่างๆ ทั้งการลงทุนในเทคโนโลยี การส่งเสริมพลังงานทดแทน ส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ จนถึงการกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้แนวทางตามนโยบาย BCG หรือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับภาคเอกชน มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไปอีกทางหนึ่ง

ภาพโดย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถนำจุดแข็งที่มี ทั้งความมั่นคงทางอาหาร หรือทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มาใช้เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นการจัดสรรและใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงตอบโจทย์อีกหนึ่งเป้าหมาย อย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนคืนสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ภาพโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

 

ประเด็นที่ 2
ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสามกลุ่มธุรกิจ
ผู้ร่วมเสวนา :
กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และ โครงการข้าวไทย NAMA
กลุ่มพลังงาน – บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด
กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป – ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน),  บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)

จากความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ทำให้ทั้งสามกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหารและการเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมทั่วไป มาร่วมกันคิดหาทางออกร่วมกัน

โดยในกลุ่มแรกอย่าง ธุรกิจอาหารและการเกษตร ลงความเห็นเช่นเดียวกันว่า ควรเริ่มจากการลดและเพิ่มการดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นจากการกระบวนผลิตนี้ ถูกแก้ไขได้ด้วยการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานชีวมวลเพิ่มมากขึ้น การทำงานให้ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และการปลูกป่า

ภาพโดย ธนาคาร เอชเอสบีซี

กลุ่มที่สอง เน้นการพัฒนาพลังงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานสำหรับภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีก ซึ่งประกอบไปด้วย

ภาพโดย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป มองในภาพใหญ่ว่าทางออกสำหรับวิกฤต ในภาวะที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด คือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุดตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำ โดยคำนึงความสมดุลของต้นทุนที่มีกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การพิจารณาการลงทุน การออกแบบ และการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงความยั่งยืน การปรับตัว และเพิ่มสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกันให้ได้ด้วย ซึ่งพวกเขาคิดว่าการพิจารณาการลงทุนในอนาคต ต้องมี Climate risk assessment หรือ การประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมด้วยเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

เพราะ “Climate Crisis เกิดขึ้นแล้ว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องจัดการวิกฤตนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด อาจถือว่าเราลงมือทำ ‘สาย’ แต่ไม่ช้าเกินไป และเป็นภารกิจท้าทายมากที่พวกเราต้องร่วมมือกัน” หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวทิ้งท้าย

 

ประเด็นที่ 3
บทบาทของภาคการเงินและการลงทุนในการป้องกันแก้ปัญหาด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้ร่วมเสวนา : ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย, โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน (UNEP FI) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

ในภาคการเงินไทยเอง ก็ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยเริ่มพัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ทั้งหมดนี้ ธนาคารไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ได้มีการยกกรณีตัวอย่าง การดำเนินการของธนาคารแต่ละประเทศขึ้นมา พวกเขามีการจัดการความเสี่ยงภายใต้หลัก PRB (Principles for Responsible Banking) ซึ่งช่วยลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้ อย่างการปล่อยกู้ด้านการเกษตรเอง อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งนี้ก็สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเช่นกัน ดังนั้นธนาคารเองจึงต้องหาแนวทางการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้

นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินงานด้านการเงินยั่งยืน (Green Financing) รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดขึ้นภายในปี 2050 และจะเริ่มเห็นผลในอีก 9 ปีข้างหน้า เน้นไปยังลูกค้ากลุ่มน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนทุกภาคส่วนสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนร่วมกัน

 

ประเด็นที่ 4
บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  
ผู้ร่วมเสวนา : บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

Digital Power Technology เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ ในยุค Digital transformation หรือ 4th Industrial Revolution นี้ จะช่วยสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases – GHGs) ในขั้นตอนการผลิตและบริโภคต่างๆ

ภาพโดย ธนาคาร เอชเอสบีซี

แม้จะมีความเร็วเป็นความท้าทาย เพราะต้องสร้างเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นได้จริงและทันต่อความต้องการ แต่หากองค์กรมีความเชื่อมั่นและบ่มเพาะให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับลงมือทำ นวัตกรรมเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยได้มาก

ตั้งแต่การสร้างระบบนวัตกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินการอย่างครอบคลุมร่วมกัน โดยให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมวางนโยบาย กำหนดทิศทางการลงทุน และเข้าถึงนวัตกรรมอย่างเป็นธรรม

การเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขององค์กร ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร เพื่อเห็นปริมาณและความเสี่ยงของการปล่อย GHGs ก่อนนำไปสู่การวางแผน การพัฒนา และการจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงต่อไป

การรับฟังมุมมองจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินงานองค์กร อาจเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพขององค์กรจากภายใน ด้วยการสนับสนุนความคิดริเริ่มของคนในองค์กรก่อน ออกแบบการวิจัยและพัฒนาต่อ จึงจะสามารถขยายผลสู่เป้าหมาย Net Zero ได้

และข้อสำคัญ คือองค์กรต้องมีความมุ่งมั่น (Commitment) ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงผู้ปฏิบัติงาน เพื่อสร้างแนวร่วมเครือข่ายความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้จริง

 

ประเด็นที่ 5
ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง (Real Transformation)
ผู้ร่วมเสวนา : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ศูนย์วิจัย และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)

ในช่วงสุดท้าย เพื่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างจริงจัง จึงมีการสะท้อนมุมมองและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

อย่างภาคเอกชนที่กำลังมองหาจุดสมดุลทั้ง 3P อย่าง ผลกำไร (Profits), ผู้คน (People) และ ผืนโลก (Planet) เพื่อมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงไม่ใช่ภาระของภาคเอกชน แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่องค์กรจะได้แก้ปัญหาไปพร้อมกับสร้างตลาดทางธุรกิจอย่างมีคุณภาพ การปรับเปลี่ยนกลไกธุรกิจใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเปลี่ยนธุรกิจจากเดิมที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นธุรกิจที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแทน

โดยการพลิกโฉมองค์กรต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระบบนิเวศที่เหมาะสม กลไกทางการเงิน กลไกการวัดและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้และมีต้นทุนไม่สูงจนเกินไป รวมทั้งต้องมีมาตรการจูงใจต่างๆ ไปจนถึงกลไกการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้จึงจะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

นี่คือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนด้วยเป้าหมาย  Net-Zero Thailand คงไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน หากทุกฝ่ายเร่งลงมือทำกันอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.