แผนกลยุทธ์สีเขียวร่วมลดโลกร้อนฉบับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของ ‘ ซีพีเอฟ ‘

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change กลายเป็นวาระของประชาคมโลกที่ทุกคนต้องร่วมมือกันหาทางออก การตระหนักรู้ในเรื่องนี้ นำไปสู่การปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ในประเทศไทย ตามนโยบายที่รัฐบาลเชิญชวนทั้งคนไทยและภาคเอกชนให้มาร่วมกันลงมือทำ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร ที่มีการลงทุนมากถึง 17 ประเทศ และส่งออกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งมอบสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ ทั้งทางโภชนาการ รสชาติและความปลอดภัย ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบรับกับแผนดังกล่าวด้วยวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน

นั่นคือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม สร้างระบบอาหารหมุนเวียน (Circular Food System) ให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ในประเทศ สู่ความตั้งใจปลูกป่า 20,000 ไร่ ให้ได้ภายในปี 2030 สอดรับกับการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ เพื่อการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

เป็นที่มาของกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action และเกิดเป็นโครงการ “Sustainability in Action : ยั่งยืนได้ด้วยตัวเรา” ที่มีเป้าหมายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้แนวคิด “จากภูผาสู่ป่าชายเลน” สานต่อการดำเนินโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลน ในโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม พื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่ดำเนินการไปแล้ว 6,971 ไร่ โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ดำเนินการไปแล้ว 2,388 ไร่ และโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ” ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ ฟาร์ม และโรงงานทั่วประเทศรวม 5,000 ไร่ ซึ่งดำเนินการไปแล้วมากกว่า 1,720 ไร่

ทั้งยังสนับสนุนให้พนักงานปลูกไม้ยืนต้นและไม้กระถาง ผ่านกิจกรรม “กล้าจากป่า พนาในเมือง” ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยดักฝุ่น PM2.5 แต่ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย โดยในโครงการมีการสอนและถ่ายทอดการปลูกต้นไม้อย่างถูกวิธี รวมถึงการบันทึกการเติบโตของต้นไม้ บันทึกดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการนำมาวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนของเหล่าต้นไม้น้อย-ใหญ่ที่ปลูก และยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายของพวกเขาที่ขยายใหญ่ขึ้น มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ถึง 20,000 ต้น ภายในปี 2564 และจะกลายเป็น 100,000 ต้น ภายในระยะเวลา 5 ปี

จากความร่วมมือของ ซีพีเอฟ ชุมชน และกรมป่าไม้ ในโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ผลการดำเนินโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2559-2563) ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ได้มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทำแนวกันไฟ ซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ กำจัดเหล่าวัชพืชเพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างแข็งแรง รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เกิดโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจาก 8 หมู่บ้าน และสำหรับโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน มีชุมชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วถึง 11 หมู่บ้านด้วยกัน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังจับมือร่วมกับชุมชน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จนถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2561 เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนทั้งหมด 2,388 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่อีกกว่า 325 ไร่ใน 5 จังหวัด อย่างระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา ส่วนในปี 2562 จนถึงปี 2566 มีเป้าหมายจะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มป่าในอีก 3 จังหวัด คือสมุทรสาคร ระยอง และตราด ไม่น่าเชื่อว่าป่าปลูกใหม่เพิ่มเติมในปีนี้ จะมีต้นกล้าเพาะลงดินไปแล้วถึง 100 ไร่ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะได้เห็นป่าชายเลนอีกถึง 266 ไร่อย่างแน่นอน

จากการดำเนินการที่ผ่านมา นำมาซึ่งความสำเร็จของ ซีพีเอฟ ที่ล้วนการันตีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่พวกเขาได้ทำ ทั้งรางวัล Thailand Sustainability Investment (THSI) ในฐานะธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และรางวัลความยั่งยืนจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบอีกด้วย

แต่รางวัลที่พวกเขาได้รับ ยังไม่เท่าผลเชิงบวกที่องค์กรกระเพื่อมแรงต่อส่งไปถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ตามความมุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า จนสร้างสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดขึ้น นั่นคือฟื้นคืนและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้อย่างที่ตั้งใจไว้

ในด้านสังคม การฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน นอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ยังเพิ่มแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ รวมถึงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มมากขึ้น และด้านเศรษฐกิจ ยังมีการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้สำหรับชุมชน อย่างถ่านไบโอชาร์ เกลือสปา จนถึงสบู่หอม โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น จากความสมบูรณ์ของป่าชายเลน ซึ่งทำให้สัตว์น้ำ อย่างกุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าพื้นที่สีเขียวอย่างป่านั้นสำคัญอย่างไร แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพื่อคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งนี้ยังส่งผลเชื่อมโยงถึงมนุษย์ในทุกมิติรอบด้านตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงโลกใบนี้ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.