ปี 2022 ประชากรโลกไม่ได้เจอแค่โควิด-19 เท่านั้น เพราะจนถึงวันนี้ เรากำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงานสูง แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย ไม่นับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขยะล้นโลก มลพิษ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และอีก ฯลฯ ที่ถูกสั่งสมมานานจากการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว
ลองคิดถึงฤดูกาลที่แปลกไปจากอดีต อากาศเย็นในเดือนเมษา ฝนตกในฤดูหนาว ซึ่งเป็นผลจาก Climate Change ซึ่งส่งผลไปถึงเศรษฐกิจปากท้อง เพราะเมื่อผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ราคาอาหารก็ย่อมสูงขึ้น และนับวันช่องว่างทางสังคมก็ยิ่งห่างขึ้นๆ ทุกที
โลกที่เราคุ้นเคยกำลังเผชิญกับสารพัดปัญหา และจากโลกที่เคยปกติธรรมดา ก็กลายเป็นสถานการณ์ไม่ธรรมดาแบบที่เราเรียกกันว่า “โลกรวน” และเมื่อความจริงมันเป็นเช่นนั้น คำถามจากนี้จึงมีอยู่ว่า เราจะรับมือสภาพโลกรวนที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร?
ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability คืออีกหนึ่งเวทีเพื่อตั้งคำถามถึงการรับมือสภาวะโลกรวน ซึ่งการรวมพลังจากกลุ่มธุรกิจ องค์กรต่างๆ กลุ่มพลังหญิง คนรุ่นใหม่ รวมถึงเอสซีจี โดยหวังว่าจะช่วยส่งต่อแนวคิด ประสบการณ์ ขับเคลื่อนความยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental-Social-Governance) จากผู้ทำงานจริง
เนื้อหาในงานจึงเชื่อมโยงไปถึงการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน จากผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ การเชื่อมโยงถึงการสร้างพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน พลังหญิง และคนรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การสนับสนุนเงินทุนจากรัฐและเอกชน การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะ และการออกแบบที่ยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องอาศัยการเชื่อมโยงต่อกันและกัน
ใครบ้างที่จะร่วมหาทางออกในวันที่ “โลกรวน” เอสซีจี ในฐานะเจ้าภาพ ESG Symposium คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ซึ่งเป็นสปีกเกอร์คนแรกบนเวที ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และให้ข้อมูลว่า เอสซีจีได้ยกระดับ SD Symposium ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 สู่ ESG Symposium เพื่อขยายพลังความร่วมมือตามแนวทาง ESG ซึ่งเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วน และเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่กำลังเผชิญอยู่อย่างเป็นรูปธรรม
คุณรุ่งโรจน์ ให้มุมมองว่า หลังจากโควิด-19 มีแนวโน้มจะลดความรุนแรงไปบ้าง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลลดน้อยลง แต่หลายประเทศก็เผชิญปัญหาเงินเฟ้อรวมถึงเศรษฐกิจถดถอยตามมา และที่สำคัญยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปในลักษณะวิกฤติซ้อนวิกฤติตามมาแบบนี้อีกเรื่อยๆ
“โลกรวน” วันนี้ สะท้อนจากการมีมีโรคระบาดใหม่ที่พร้อมก่อตัว รวมถึงเงินเฟ้อ ความยากจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ขณะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศา หากไม่เร่งความร่วมมือแก้ไขจนอุณภูมิโลกร้อนเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศา โลกจะเปลี่ยนแปลงจนเราไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แบบเดิม
“เราจะเห็นคลื่นความร้อนในยุโรป เห็นปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือนที่เราไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้” ผู้บริหารเอสซีจี อธิบายถึงความไม่เหมือนเดิมของโลก
คุณรุ่งโรจน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรม ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ดีกว่าเดิม ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ตลอดจนมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก อย่างไรก็ตามยังไม่ทันต่อวิกฤตโลกที่ทวีความรุนแรงและใกล้ตัวมากขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง น้ำท่วม ทรัพยากรที่เริ่มไม่เพียงพอ เกิดภาวะวิกฤตอาหารและพลังงานขาดแคลนทั่วโลก
เมื่อการรวมพลังช่วยโลกยังต้องเดินหน้าต่อ การจัดงาน ESG Symposium ครั้งนี้ จึงรวบรวมความร่วมมือ และสัมมนาทั้งในและข้ามอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดใช้คาร์บอน คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และมากไปกว่านั้น น่าจะทำให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อน เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ และนำไปสู่การพัฒนาโลกที่ยั่งยืน ซึ่งในท้ายที่สุดนอกจากความร่วมมือแล้ว จะต้องนำไปสู่การลงมือทำจริงๆในท้ายที่สุดต่อไป
คุณรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง ESG Symposium 2022 จึงมีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤตโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคมเหลื่อมล้ำ (Social) โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance) เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน
อย่างที่เล่าในข้างต้นว่า “โลกรวน” มาจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสภาพปัญหาในหลายปัจจัย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ และในงาน ESG Symposium 2022 ก็มีเหล่าสปีกเกอร์คนสำคัญที่สะท้อนภาพถึงความสำคัญและการร่วมมือที่คนทั่วโลกต้องส่งแรงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งถือเป็น “มุมมอง ESG ในบริบทโลก”
เริ่มที่ คุณดาโตะ ลิม จก โฮย (H.E. Dato Lim Jock Hoi) เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ในนโยบายอาเซียน 2025 ซึ่งเน้นย้ำการปกป้องสิ่งแวดล้อม และรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเทคโนโลยี ซึ่งวิสัยทัศน์อาเซียนจะนำไปสู่การตอบสนองวิสัยทัศน์ของสหประชาชาติใน 4 ประเด็น 1.ความยากจน 2. คมนาคม 3. บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ 4.ล้มแล้วก้าวกระโดดได้
สำหรับอาเซียนนั้น มีแผนในการพัฒนา 3 ส่วนคือ 1. เกษตรกรรม 2. พลังงาน และ 3. คมนาคม และกลุ่มอาเซียนจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซ์คาร์บอนไดออกไซด์ เพราะโลกตะวันตกให้ความสำคัญกับการปล่อยคาร์บอนมาก หากยังผลิตในรูปแบบเดิมๆ อาจจะทำให้ถูกแบนผลิตภัณฑ์บางอย่างได้ ดังนั้น ทิศทางต่อไปของอาเซียน คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ส่วน คุณบอนนี่ เหลียง (Bonnie Leung) Director, Head of BlackRock, Sustainable Investing มองว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการเงิน ทำให้เงินเฟ้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นแรงกดดันทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซัพพลายระดับโลก เพื่อยกระดับความเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบาย ในปัจจุบันความยั่งยืนถือเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะช่วยนักลงทุนจัดการความเสี่ยง
ด้านองค์กรระดับโลกและนักลงทุนมีมุมมองอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชนนั้น ในหัวข้อ “ESG กรณีศึกษา” ฉายภาพให้เห็น ไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มที่ คุณอลิซาเบธ บรินตัน (Elisabeth Brinton) Corporate Vice President, Sustainability, Microsoft ซึ่งกล่าวว่า การเดินทางไปสู่ความยั่งยืนจะต้องลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ โดยสร้างผลกำไรและความยั่งยืนไปควบคู่กัน ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจต้องทำคือการสามารถวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้อยู่ได้อย่างชัดเจน
และสำหรับไมโครซอฟต์เองที่ผ่านมาได้มีการจัดทำ อีโคแลป ซึ่งเป็นโซลูชั่นและบริการด้านน้ำ สุขอนามัย และการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นเชื่อมโยงข้อมูลกับประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้ลูกค้าก้าวหน้าด้านความปลอดภัยของอาหาร รักษาสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ขณะที่ คุณโธมัส กิลโย (Thomas Guillot) Chief Executive of the Global Cement and Concrete Association (GCCA) อธิบายภาพในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตว่า ซีเมนต์และคอนกรีตเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโลก เช่น การสร้างอาคาร สะพาน ถนน เขื่อนเก็บน้ำต่างๆ เนื่องจากมีความคงทนแข็งแรง ซึ่งทางสมาคมก็ตระหนักดีถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้ทำจัดโรดแมปการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (GCCA Net Zero Concrete Roadmap 2050) เช่น ยกระดับออกแบบการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ การผลิตคอนกรีตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกในการผลิต เป็นต้น ซึ่งเปิดตัวไปแล้วในการประชุม COP 26 ที่เมือง กลาสโกว์ประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่เปิดตัวโรดแมปการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นผลสำเร็จ ของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sectors) โดยโรดแมปดังกล่าวได้รับการรับรองและสนับสนุนจาก UN
และคุณโทมัสได้เปิดเผยบนเวทีว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่โรดแมปในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตไทยที่จัดทำร่วมกับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก เป็นโรดแมปที่มีความพร้อมและคืบหน้ามากที่สุด พร้อมเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศอียิปต์ ถือเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศต่อไป
ส่วน คุณปีเตอร์ แบคเกอร์ (Peter Bakker) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) กล่าวว่า เอสซีจีเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำให้ ESG เป็นจริงและขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืนโดยมีแผนปฏิรูป 3 ด้านคือ 1. ภัยธรรมชาติ 2. การสูญเสียธรรมชาติ 3. ความเท่าเทียม ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ประเทศยั่งยืนโดย ESG นั้น ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มกลยุทธ์การตัดสินใจที่ดีและถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปสู่อนาคต
ปิดท้าย เซสชั่นนี้ ด้วยตัวแทนจากธุรกิจไทย คุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ CEO of Vulcan Coalition สตาร์ทอัพ AI เพื่อคนพิการ ได้เล่าถึงที่มาของการทำสตาร์ทอัพเพื่อสังคมนี้ว่า เกิดจากมองเห็นปัญหาการโอกาสเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียมของผู้พิการในสังคมไทย ประเทศไทยมีคนพิการจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสทำงาน จึงสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่ไม่เพียงสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้ผู้พิการ แต่ยังตอบโจทย์ภาคธุรกิจทั้งทางพาณิชย์และ CSR ซึ่งหลังจากพยายามมานาน ในที่สุด Vulcan ก็สามารถสร้าง AI ใช้ทักษะและความสามารถของผู้พิการมาขับเคลื่อน และสร้างแพลตฟอร์มที่ผู้พิการสามารถทำงาน เป็นที่พึ่งของตัวเองได้จริง
เราอาจเคยมองว่าโลกร้อน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถึงตรงนี้ ESG Symposium 2022 ก็ได้เชื่อมโยงว่า ในฐานะประชาคมโลกเราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ ยิ่งโดยเฉพาะจากเวทีเสวนา “โลกป่วยขั้นวิกฤต จะกู้โลกได้อย่างไร” ซึ่งมาจากการ Workshop ก่อนหน้านี้ เป็นการสะท้อนรายละเอียดของนิยามว่า “โลกรวน” ในระดับย่อยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีตัวแทนจากหลายแวดวง ได้แก่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตัวแทนในภาควิชาการ , คุณภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนในภาคธุรกิจเอกชน, คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด(มหาชน) ตัวแทนของพลังผู้หญิง และคุณคณาเนศ เวชวิธี ทีมพัฒนาโปรแกรมแปลภาษามือ และเกมส์ออนไลน์ เพื่อการศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่
วงเสวนานี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติของสังคม และคุณคณาเนศ ตัวแทนของคุณรุ่นใหม่ ก็ได้นิยาม “โลกรวน” ในแบบของเขาว่าคือ ความรวนในมิติทางการศึกษา ซึ่งไม่ว่าโลกจะก้าวหน้าไปอย่างไร แต่แนวทางการศึกษาในไทยก็ยังมีแนวทางเดิมไม่ต่างจากอดีต
“แม้ว่าไม่นานมานี้รูปแบบการเรียนออนไลน์จะแพร่หลายมากขึ้น แต่ก็เป็นการเรียนแบบฟังอาจารย์เป็นหลัก และเป็น One-Way Communication ที่นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วม นั่นจึงเป็นที่มาของการคิดค้นเกมส์ออนไลน์ ที่ผสมผสานความรู้ในแต่ละหมวดหมู่เข้าไป ให้ผู้เรียนสนุกสนานและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันก็ยังทำโปรแกรมแปลภาษามือที่ช่วยสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยินอีกด้วย” ตัวแทนจากคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้านการศึกษากล่าว
ขณะที่คุณศุภจี ในฐานะตัวแทนกลุ่มพลังหญิง ก็ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า วิกฤตโลกรวนที่สรุปได้จาก Workshop คือความไม่เท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะการให้โอกาสผู้หญิงในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชาย จนนำมาสู่กติกาที่องค์กรต่างๆ พยายามปรับปรุง เช่น การให้ผู้หญิงอยู่ในกรรมการบริหารอย่างน้อย 1 คน
สิ่งที่อยากผลักดันในประเด็นนี้จึงคือการส่งเสริมให้เพศหญิงมี Mindset เชื่อมั่นในตัวเอง การเสริมทัศนคติว่าผู้หญิงสามารถทำงานได้ เป็นผู้บริหารได้ มีระบบซัพพอร์ต เกิดเครือข่ายที่แข็งแรงทางสังคมจนมีต้นแบบ หรือ Role Model ที่เป็นแบบอย่างให้ได้
“ไม่ได้บอกว่าเพศหญิงดีกว่า ประเด็นคือการเปิดโอกาสให้เท่าเทียม แต่ละเพศมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน และสำหรับผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน มีความ Empathy (เข้าอกเข้าใจ) มากกว่าผู้ชาย ซึ่งความหลากหลายนี้คือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้องค์กรก้าวหน้าได้ยิ่งขึ้น”
ในมุมมองของนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ดร.กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ให้มุมมองในการเสวนานี้ว่า ปัญหาเรื่อง Climate Change กระทบทั้งตัวเราเอง เศรษฐกิจ และการเกษตร และเป็นปัญหาสากลที่ต้องแก้จากทุกภาคส่วน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก
ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราทำได้หลายอย่างในการดูแลโลก หนึ่งในนั้น คือ นวัตกรรม เพราะทำให้เรามีหนทางใหม่ในการแก้ไข ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ หากจะแก้ปัญหาได้ด้วยนวัตกรรม ต้องมีกลไก 3 อย่าง คือ
“ความร่วมมือต่อจากนี้ คือทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะสนับสนุน และใช้นวัตกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยการทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS – Carbon Capture, Utilization and Storage) การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching) พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้”
มาถึงมุมมองของผู้ประกอบการ คุณภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากการระดมความเห็นของผู้บริหารกว่า 60 องค์กร ทั้งภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์ บรรจุภัณฑ์ การเงิน ในเชิงของธุรกิจผู้ที่เข้าร่วมกว่า 69% จาก 60 องค์กร มองว่า สภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินกิจกรรม กิจการการผลิตเพิ่ม 29% มองว่ากระทบปานกลาง และเกือบ 100% มองว่ากระทบตั้งแต่ระดับกลางถึงมาก
ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีหลังนี้ ผู้บริหารจำนวน 46% มองว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม จำนวน 21% มองว่าส่งผลต่อรายได้ และที่น่าสนใจ คือมีความเห็น 13% ซึ่งพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังจะกลายเป็นโอกาส
ตัวแทนจาก ผู้บริหารธุรกิจ ให้ข้อสรุปว่า จากการประชุม Workshop ได้ข้อสรุปในแง่ของทางออก แบ่งเป็น 3 มิติของสังคม ได้แก่
“ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมพลาสติก สิ่งที่ฟันฝ่ามา 3 ปีและประสบความสำเร็จแล้ว คือ ขวดน้ำดื่ม ในที่สุดก็สามารถปลดล็อกให้สามารถนำวัสดุรีไซเคิล นำไปผสมและใช้ขวดน้ำดื่มได้ ภายใต้มาตรฐาน เป็นตัวอย่างของกฎหมาย กฎระเบียบ ที่อดีตทำไม่ได้ แต่ความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทำให้เกิดขึ้นได้จริง”
ทั้งหมดข้างต้นเป็นเนื้อหาสำคัญที่เหล่าสปีกเกอร์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างให้มุมมองถึงการขับเคลื่อนวิถีธุรกิจรับมือกับภาวะโลกรวน ซึ่งปิดท้ายเนื้อหาจากเวที ได้มีการแถลงข่าว “ผนึกพลังขับเคลื่อน ESG สู่อนาคตที่ยั่งยืน”
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCG มองว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022 ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065
ข้อแรกคือ การจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero ผ่านรูปแบบของ Industrial and Academic Consortium ครั้งแรกในไทย และข้อสองคือการผนึกกำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของภาคเอกชน 60 องค์กร ผ่านความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน
การรวมพลังจากเวที ESG Symposium 2022 จะเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐ เอกชน ผู้หญิง คนรุ่นใหม่ จึงเป็นพลังของการขับเคลื่อนหลัก และเป็นไฮไลท์ของ ESG Symposium 2022 ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นฮีโร่ซึ่งต้องทำเรื่องพิเศษเหนือมนุษย์ หากแต่เป็นคนธรรมดาที่ล้วนขับเคลื่อนผลงานที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลก กล้าที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของเอสซีจีเอง เช่น นวัตกรรมโซลาร์เซลล์ โซลาร์ลอยน้ำ รถพลังงานไฟฟ้า การปลูกป่า การใช้นวัตกรรมลดของเสียในกระบวนการผลิตคอนกรีต หรือจากไอเดียของการประกาศรางวัล “ESG ไอเดียเปลี่ยนโลก” ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ส่งผลงานไอเดียที่จะช่วยเปลี่ยนโลกได้