“ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านเลนส์” ถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองด้านการอนุรักษ์โดยช่างภาพมืออาชีพ
ภาพทิวทัศน์เทือกเขาอันงดงามตระการตา หมู่สัตว์น้อยใหญ่ใช้ชีวิตในผืนป่าพงไพร ธารน้ำใสตัดผ่านโขดหิน ผู้คนใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่หลายคนจินตนาการออกมาเมื่อกล่าวถึง “ภาพถ่ายธรรมชาติ” แต่ในปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เกิดภาวะโลกรวน ธรรมชาติเสื่อมถอยลง ภาพธรรมชาติอันงดงามที่เคยเห็นเปลี่ยนแปลงไป แบบที่บางภาพก็มิอาจกลับไปถ่ายแบบเดิมได้อีกแล้ว
เพื่อเป็นการสื่อสารนี้ออกไปยังผู้คนถึงจุดยืนของตนและโลกที่อิงอาศัย ‘ช่างภาพ’ จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างการรับรู้ถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงผ่านการถ่ายทอดที่ทรงพลัง ผ่านเลนส์และมุมมองที่ช่างภาพได้ประสบ ไม่ต้องเชื่อ แต่ ‘รู้สึก‘ ถึงแรงกระเพื่อมบางอย่าง อาจเปลี่ยนความคิด และสามารถลงมือทำให้โลกนี้ดีขึ้นในฐานะที่เป็นผู้อยู่อาศัยร่วมโลกใบเดียวกัน
วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย ร่วมกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จึงได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่าย “การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ด้วยภาพถ่าย” นำเสนอมุมมองด้านการอนุรักษ์และความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัท วอลโว่ คาร์ ที่ประกาศตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (Climate-Neutral Company) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2040 เพื่อใช้พลังของภาพถ่ายพาทุกคนไปสัมผัสถึงความงดงามของธรรมชาติและชีวิต ขณะเดียวกันก็เห็นบางประเด็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในนั้น และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ว่าหากจะมีส่วนช่วยรักษาสิ่งที่งดงามนั้นให้คงอยู่ เราจะทำอย่างไร
ในวันเปิดนิทรรศการได้มีการจัดเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และความยั่งยืนผ่านภาพถ่าย” โดย 3 ช่างภาพสายอนุรักษ์ชื่อดังของประเทศไทย เจ้าของผลงานที่แสดงอยู่ ณ ที่นี้ ได้แก่ คุณกันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล ช่างภาพเจ้าของแฟนเพจ “กอล์ฟมาเยือน” คุณเริงชัย คงเมือง ช่างภาพสารคดีมืออาชีพ และคุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ National Geographic Thailand
ทั้ง 3 ท่านมีการทำงานด้วยแนวคิดที่แตกต่าง แต่สอดคล้องไปกับความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ Nature Wonders, Nature Conservation และ Life and Culture
โดยส่วนตัวแล้ว คุณกอล์ฟ – กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล เจ้าของแฟนเพจ Golfwashere, กอล์ฟมาเยือน เป็นคนที่ชอบท่องเที่ยว แรงบันดาลใจและความหลงใหลในการถ่ายภาพเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง กันตพัฒน์ เล่าว่า “สมัยผมเรียนจบใหม่ ๆ ผมเคยไปถ่ายรูปสะพานไม้กลางน้ำที่จังหวัดพังงา เป็นการถ่ายรูปเล่น ๆ แต่พอเวลาผ่านไป เรากลับมาที่เดิม สะพานไม้ตรงนั้นมันเปลี่ยนไปแล้วทำให้รู้ว่า รูปที่เราถ่ายไปมันมีความหมายเมื่อเวลาผ่านไป ภาพถ่ายจึงทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ ที่เมื่อผ่านไปแล้ว หลายสิ่งอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก”
การถ่ายภาพตามแบบฉบับของกันตพัฒน์ มิได้เป็นเพียงการถ่ายทอดเรื่องราวที่เราบังเอิญไปเจอ แต่เป็นการวางแผนและเตรียมตัวให้ดี เพื่อที่จะเก็บภาพที่จะนำเสนอเรื่องราวสะท้อนความความทรงจำและอดีตของสถานที่นั้น ๆ เอาไว้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นภาพถ่ายธรรมชาติ
แต่ก็มีเรื่องที่น่าทึ่งของบางสถานที่อย่างไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม เขาพบว่าไม่ว่าจะกลับไปอีกสักกี่ครั้ง สถานที่นั้นก็ยังคงถูกรักษาสภาพเดิมไว้อย่างบริสุทธิ์ ไม่มีการท่องเที่ยวที่ล้นเกินเข้ามาทำลาย ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับอีกหลายแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เมื่อขาดมาตรการควบคุม ก็ยากที่จะดูแลให้คงความสมดุลได้
ความสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติได้พบระหว่างท่องเที่ยวคือสิ่งที่เขาตั้งใจบันทึกไว้ ด้วยการทักษะและการเฝ้ารอจังหวะเวลา เมื่อรวมความหลงใหลในการถ่ายภาพและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาไว้ด้วยกัน นำมาสู่แนวคิด Nature Wonders อัศจรรย์ธรรมชาติ ที่ทำให้เราอยากออกไปค้นหา จนท้ายที่สุดก็ตกหลุมรัก แล้วอยากจะปกป้องความงดงามนี้ไว้ แต่ละครั้งที่เขาไปถ่ายภาพจะหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและชุมชนให้มากที่สุด เพื่อแสดงให้ผู้ที่ติดตามเพจหลักล้านของเขาเห็นว่า การท่องเที่ยว ทำงาน และการอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วยกันได้อย่างเป็นเรื่องปกติ
“ผมอยากให้คนอื่นเห็นเหมือนที่ผมเห็น รูปที่ผมถ่ายเป็นเหมือนจุดหยุดเวลาของธรรมชาตินั้น ๆ อยากให้คนอื่นได้สัมผัสเหมือนที่เราสัมผัส ถ้าทำให้ธรรมชาติเหล่านั้นคงอยู่ไปกับเราได้เหมือนในรูปถ่าย เราต้องรักษาธรรมชาติไว้” กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล
เป็นที่รู้กันดีว่า คุณอ้อ – เริงชัย คงเมือง ช่างภาพสารคดีมือฉมังนั้นมีผลงานภาพถ่ายทางธรรมชาติออกมามากมายและหลากหลาย เป็นงานสารคดีที่นำเสนอผ่านสื่อมากมาย รวมถึง National Geographic ผลงานเด่นของเขาคือหนังสือเรื่องต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ และในนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ เริงชัยได้คัดสรรภาพถ่ายของตนออกมานำเสนอภายใต้แนวคิด Nature Conservation หรือการอนุรักษ์ธรรมชาติ
เขาเชื่อว่าปัจจุบันคนหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าในอดีต จึงต้องการผลักดันการอนุรักษ์ธรรมชาติในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ผืนป่า แม่น้ำ สิ่งมีชีวิต และผู้คนผ่านภาพถ่าย ภาพที่เขานำเสนอจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายที่แฝงสารอะไรบางอย่างเอาไว้เสมอ แต่จุดที่เขาเน้นเป็นหลักคือ ต้องการแสดงให้เห็นความเป็นธรรมชาติจริงที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ
“คนส่วนใหญ่จะสัมผัสได้ด้วยตามากกว่าอย่างอื่น สิ่งแรกที่คนเราสัมผัสและรับรู้ได้นั้นมาจากการมองเห็น” เริงชัย คงเมือง
ภาพถ่ายทำหน้าที่สื่อสารต่อสังคมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามสิ่งที่ช่างภาพได้รับรู้มา ในฐานะช่างภาพสารคดีผู้รักการถ่ายภาพธรรมชาติ คุณอ้อเชื่อว่าภาพภาพหนึ่งมีพลังมากพอที่จะสื่อสารกับผู้คน ให้เกิดความตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมและหันมาอนุรักษ์อย่างจริงจัง
“ชีวิตของคนเราเกิดมาคือศิลปะ ภาพถ่ายก็เป็นแขนงหนึ่ง การที่เราทำให้คนสัมผัสในสิ่งที่เราจะพูดผ่านภาพถ่าย เราสามารถสร้างความตระหนักในบางประเด็นได้ โดยไม่ต้องบังคับว่าใครต้องเชื่อเรา เพราะเราถ่ายทอดจากข้อเท็จจริง จากความจริง”
“ภาพถ่ายไม่ได้ให้คำตอบเสมอไป แต่หลายครั้งก็เป็นการตั้งคำถามกลับไปยังผู้ชมเช่นกัน” เอกรัตน์ ปัญญะธารา
“เพราะมนุษย์เป็นกลไกสำคัญในการรักษ์โลกและสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกใบนี้” เป็นความเชื่อของ คุณฟี่ – เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพของ National Geographic Thailand ผู้ชื่นชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความแตกต่างของคนในสังคม และความเป็นมนุษย์
แนวคิดในการนำเสนอภาพถ่ายของเขาจึงเป็น Life and Culture ชีวิตและวัฒนธรรม ที่มีแรงบันดาลใจมาจาก ‘คน’ กล่าวได้ว่าภาพถ่ายของเขาจะเป็นไปในเชิงมานุษยวิทยาเป็นหลัก ทุกภาพมักมีเรื่องราวคนเข้ามาแทรกด้วยเสมอ และ ‘คน’ นี่แหละที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์ธรรมชาติ
“ผมพยายามเข้าถึงทุกอย่างผ่านคนนะ คนเป็นอะไรที่คนด้วยกันรับมือได้ ถึงแม้จะเป็นรูปธรรมชาติแต่ก็เป็นฝีมือการถ่ายของคน”
ในฐานะช่างภาพคนหนึ่ง เอกรัตน์มองว่าการถ่ายภาพของเขาขับเคลื่อนด้วย ‘ความไม่รู้’ ของตัวเอง เพราะไม่รู้จึงเข้าไปลงพื้นที่ ไปสำรวจ ศึกษาและถ่ายทอดชีวิต วัฒนธรรม และการกระทำของผู้คนออกมาผ่านภาพ เขายังเชื่อด้วยว่า บางทีผู้ที่ชมภาพหรือผู้ที่อยู่ในภาพเองก็มีสิ่งที่ตัวเองไม่รู้เช่นเดียวกัน มีความไม่รู้หลายอย่างที่คนเราบังเอิญกระทำลงไป สิ่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ ให้ผู้คนตระหนักและตั้งคำถามว่าตนกำลังไม่รู้และละเลยบางสิ่งที่ตนกำลังกระทำต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า
ภาพถ่ายจึงเป็นดั่งตัวกลางการสื่อสารระหว่างช่างภาพและผู้ชม ช่วยขับเคลื่อนกลไกมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการสร้างความยั่งยืนแก่ทุกสรรพชีวิตผ่านวัฒนธรรมของพวกเรา
“ความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของภาพภ่ายสำคัญมาก บางทีเราพูดตรง ๆ ไม่ได้ ภาพถ่ายนี่แหละที่เป็นเครื่องผลักดัน หล่อหลอมให้เราใฝ่รู้ ใฝ่ค้นหาหนทางในด้านการอนุรักษ์และความยั่งยืน”
ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่มีพลังในการถ่ายทอดสารให้แก่ผู้รับชมผ่านการมองเห็น ในด้านการอนุรักษ์และความยั่งยืน ภาพถ่ายก็ยังคงมีบทบาทในการส่งสารไปในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความตระหนัก เข้าใจ และเล็งเห็นถึงปัญหาของธรรมชาติรอบตัว ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของดาวเคราะห์สีฟ้าแห่งสรรพชีวิตใบนี้ หากทุกคนช่วยกันคนละเล็กละน้อยก็จะเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่
ชมผลงานของพวกเขาในนิทรรศการ ‘ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านเลนส์ – Sustainability through the Lens” ณ Volvo Studio Bangkok @ ICONSIAM ชั้น 3 เข้าชมฟรีได้ทุกวัน ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2565