เรื่องโดย ไมเคิล เกรทโก
ในขณะที่ทุกคนกำลังออกผจญภัยไปยังกาแล็กซีอันไกลโพ้นอีกครั้งกับหนังภาคล่าสุดของมหากาพย์แห่งสงครามระหว่างดวงดาวอย่าง สตาร์วอร์ส อุบัติการณ์แห่งพลัง (Star Wars: The Force Awakens) คงไม่มีใครตื่นเต้นไปกว่าเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากหนังเรื่องนี้
“หนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิทยาศาสตร์หลายคน มันทำพวกเขาคิว่าบางทีสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จริง” เอลิซาเบ็ธ โฮล์ม นักวัสดุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าว “พวกมันทำให้ฉันคิดนอกกรอบ จากกระแสของสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต”
เหล่านักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจและวิเคราะห์เรื่องราวและสิ่งประกอบจากในหนัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้จากหลักและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องฟิสิกส์พลาสมาไปจนถึงจิตวิทยา การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่ใจรัก แต่มันเป็นสื่อการเรียนที่ดีที่สุดในจักรวาล
“ถ้าคุณสามารถเชื่อมโยงบางจุดของเรื่องเข้ากับหลักทางวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุสมผล คุณจะร้อง อะ-ฮ้า!” จิม คาคาลีออสกล่าว เขาเป็นนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop culture) “มันเป็นหนทางในการสร้างความเชื่อมโยง”
ในวันนี้เราได้รวบรวมการค้นพบที่ดีและใหม่ที่สุดจากเหตุการณ์ตลอดหนทางของการเป็นมหากาพย์แห่งนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นสื่อการเรียน แรงบันดาลใจ และคำแนะนำสำหรับตัวละครจากกาแล็คซี่อันไกลโพ้นทั้งหลาย
การล่มสลายของดาวมรณะ
ไม่เพียงได้มีเพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์นโยบายเท่านั้นที่ถูกดาวมรณะขายฝันในหัวข้อของการใช้พื้นที่อันมหาศาลของกาแล็กซีอย่างไรให้เกิดประโยชน์ แต่อาวุธชิ้นเทพของจักวรรดิเอมไพร์ชิ้นนี้ยังได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรอีกด้วย
กาย วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์วิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ สกอตแลนด์ ได้นำการระเบิดของดาวมรณะดวงแรกมาวิเคราะห์เป็นกรณีตัวอย่างของความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในงานวิศวกรรมขนานใหญ่ให้กับนักเรียนของเขา หลังได้รับหนังสือ คู่มือแบบละเอียดของดาวมรณะ (Death Star Owner’s Technical Manual: Star Wars: Imperial DS-1 Orbital Battle Station) วอล์กเกอร์และเพื่อนร่วมงานใช้เวลาสี่วันตามเวลาที่ฝ่ายกบฎวางแผนก่อนโจมตีในหนัง ตรวจสอบและวิเคราะห์ความบกพร่องของสถานีรบดวงนี้โดยวิธีที่ต่างกันสองวิธี
วิธีแรกเป็นเทคนิคการตรวจสอบความมั่นคงและปลอดภัยขององค์ประกอบจากปี 1970 วิธีนี้ส่วนประกอบทุกชิ้นจะถูกนำมาวิเคราะห์หาข้อบกพร่องอย่างละเอียด แม้กระทั่งด้ามยิงซูเปอร์เลเซอร์ ส่วนวิธีที่สองคือการจำลองภาพยานออกมาในรูปแบบของเครือข่าย ซึ่งส่วนที่เป็นศูนย์กลางหรือมีการเชื่อมต่อแบบพิเศษ นับเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงสูง
ในด้านผลลัพธ์ เทคนิคแรกไม่ระบุว่าช่องระบายความร้อนจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในหนังมีความเสี่ยงใดๆ เป็นเพียงโพรงธรรมดาเท่านั้น แถมยังใช้เวลาในการตรวจสอบถึงสิบวัน ซึ่งหากใช้เทคนิคนี้ในหนังฐานยาวิน 4 คงกลายเป็นจุณไปแล้ว ส่วนเทคนิคที่สองนั้นใช้เวลาสี่วันตามที่กำหนดไว้และช่องระบายความร้อนก็ถูกนับเป็นจุดเสี่ยงจุดหนึ่งร่วมกับข้อบกพร่องอื่นๆ อีกมากมายของดาวมรณะ อาทิความเสถียรของระบบควบคุมแรงโน้มถ่วงของยานและการขาดระบบป้องกันอาวุธชีวภาพ
จากการวิเคราะห์ วอล์กเกอร์พบว่าแผนที่ดีที่สุดในการทำลายดาวมรณะคือ “ให้ R2D2 เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของดาวมรณะ แล้วปล่อยไวรัสเข้าไป แต่ถ้าทำแบบนั้นหนังเรื่องนี้จะกลายเป็น สงครามวันดับโลก (Independence Day) ซึ่งสนุกไม่ได้เสี้ยวของสตาร์วอร์ส”
“คุณคิดว่านักเรียนจะชอบสิ่งไหนมากกว่ากันระหว่างสูตรสมการกับเพลงประกอบอิมพีเรียลมาร์ช” วอล์กเกอร์กล่าว
สุขภาพทางกายของชาวกาแล็กซี
นอกจากวิทยาศาสตร์ไซไฟแล้ว สตาร์วอร์สยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยงเข้ากับการแพทย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งเรื่องของมิดิคลอเรียน หรือบาดแผลที่เกิดจากกระบี่แสง (Light Saber) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลสกายวอล์คเกอร์ ที่ดูเหมือนจะต้องเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่ตลอด และตัวอนาคินก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
โรแนน เบิร์ก และรอนนี พลอฟซิง สองอายุรแพทย์ชาวเดเนมาร์กประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนได้นำการพูดรัวเร็ว อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของดาร์ธเวเดอร์มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจ ให้กับนักศึกษาแพทย์ พวกเขาบอกว่าดาร์ธเวเดอร์มีครบทุกอาการ
จากการวิเคราะห์ฉากต่อฉาก พวกเขาสันนิษฐานว่าปอดของท่านดาร์ธนั้นได้รับแก๊สร้อนและเถ้าภูเขาไฟบนดาวมุสตาฟาร์ อันเป็นสถานที่ที่เขาปราชัยแก่ โอบีวัน เคโนบิ (ในภาคซิธชำระแค้น) มากเกินไป ซึ่งแก๊สร้อนทำให้ปอดของเขาเหมือนถูกเผาไหม้ตลอดเวลา
จากการสังเกตของเบิร์กพบว่า แม้ชุดสีดำของดาร์ธ เวเดอร์จะไม่เหมาะแก่การสวมใส่ แต่มันทำหน้าที่คล้ายกับห้องปรับบรรยากาศ หรือ hyperbaric chamber [เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไว้ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ] และช่วยป้องกันผิวหนังของท่านดาร์ธจากความร้อน แต่ชุดก็ไม่ใช่ตัวเลือกทางการรักษาที่เบิร์กแนะนำอยู่ดี เขากล่าวว่า “ตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับผมคือปลูกถ่ายปอดใหม่” ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องกล้วยๆ สำหรับผู้รวบรวมจักรวรรดิเอ็มไพร์ “ปอดสุขภาพดีคู่ใหม่คงหาได้ไม่ยาก ทันทีที่เขาออกคำสั่ง” เบิกร์กเสริม
นอกจากสุขภาพทางกายแล้ว ตัวละครในเรื่องยังได้รับเชิญไปเป็นหัวข้อสนทนาชั้นเยี่ยมในห้องเรียนด้านจิตวิทยาอีกด้วย
“พวกเขาคือต้นแบบสำหรับตัวละครที่คนดูสามารถเข้าถึงได้” ไรอัน ซี. ดับเบิลยู. ฮอล์ล จิตแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา กล่าว “พวกเราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่ตกต่ำและหวังว่าจะก้าวข้ามมันไปได้ด้วยดี เหมือนอย่างตัวละครเหล่านี้”
ในด้านจิตวิทยาแล้ว อนาคินคือเป็นชื่อที่ปรากกฎอยู่บนบทความทางวิชาการบ่อยที่สุด บทความทางด้านนี้ส่วนใหญ่ล้วนแต่มุ่งไปที่ สภาพจิตใจและอารมณ์ของเจไดผู้ตกต่ำและพลิกผันเข้าสู่ด้านมืดจนเป็นดาร์ธเวเดอร์ในที่สุด
ในปี 2011 ทีมจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศษนำโดย อีริค บุย ได้ร่วมกันเขียนบทความวิจัยลงในวารสารไซไคอาทริ รีเสิร์ช
(Psychiatry Research) อ้างว่า อนาคิน สกายวอล์คเกอร์มีอาการของผู้ป่วยโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง หรือ borderline personality disorder ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางใจ เห็นได้จากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่ไม่ค่อยดี พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และอารมณ์ที่ไม่คงที่
งานวิจัยหลายชิ้นพยายามที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของอนาคิน สกายวอล์กเกอร์ เจไดผู้ทะเยอะทะยานก่อนร่วงหล่นอย่างน่าเศร้ากลายเป็นดาร์ธเวเดอร์ การถกเถียงยังคงอยู่บนหัวข้อว่า เขามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งหรือไม่ เพราะผลลัพธ์จะส่งผลต่อชาวอเมริกันอีกสามล้านคน เพราะจริงๆ แล้ว อนาคิน สกายวอล์กเกอร์ ในชีวิตจริงนั้นมีอยู่กลาดเกลื่อน จากการประเมินของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกันกว่าสามล้านคนมีลักษณะนิสัยแบบอนาคิน
บุยกล่าวว่า “แม้ว่าการวินิจฉัยโรคของตัวละครในภาพยนตร์ให้ถูกต้องจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังคงเป็นไปได้ จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการหากรณีตัวอย่างที่อาจเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต”
เหมือนที่โอบิวันว่าไว้ “มีเพียงซิธลอร์ดเท่านั้นที่ (สามารถ) จัดการกับความเด็ดขาดหนึ่งเดียวได้”
ภัยซ่อนเร้น
อนาคินไม่ใช่ตัวร้ายเพียงคนเดียวที่ตกเป็นเป้าถกเถียงเชิงการแพทย์ ก่อนหน้านี้ ฮอล์ลและซูซาน แฮทเทอร์ ฟรีดแมน แห่งมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ได้ตีพิมพ์บทความหนาปึ้กที่วิเคราะห์เกี่ยวกับบรรดาตัวละครในสตาร์วอร์ส ตั้งแต่ตัวเดินเรื่องหลักไปยังตัวละครสมทบมากมาย
ยกตัวอย่างเช่น แจบบ้า เดอะฮัตต์ ที่ดูคล้ายจะมีอาการทางจิต ( psychopath) แลนโด คัลลิสเซี่ยน นักพนันตัวยง หรือแม้แต่อาจารย์เจไดผู้สุขุมอย่าง โอบิวัน เคโนบิ ก็แสดงอาการของโรคซึมเศร้าอย่างอ่อน
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีตัวละครที่สุขภาพจิตดีเยี่ยมเหลือยู่ในบทความบ้าง ฟรีดแมนและฮอล์ลพบว่า จักรพรรดิพัลพาทีน หรือซิธลอร์ด ผู้โหดเหี้ยมและหยาบช้าแห่งจักรวรรดิกาแลคติคนั้นเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม เห็นได้จากความสามารถในการสร้างความเดือนร้อนและหยิบยื่นความชั่วร้ายไปทั่วทุกแห่งหนโดยตัวเขาเอง
ในกรณีของพัลพาทีนนั้นเป็นอะไรที่แตกต่าง “เพราะโดยปกติแล้ว ผู้คนมักตัดสินว่าเหตุการณ์ที่น่ากลัวนั้นเกิดจากความผิดปกติทางจิต แต่ผู้ป่วยหรือมีปัญหาทางด้านจิตใจนั้นมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าจะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง”
ยังมีอีกตัวอย่างที่ขาดไม่ได้คือ จาร์ จาร์ บิงคส์ ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือ attention-deficit hyperactivity disorder ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีของแฟนหนังที่ว่า จาร์ จาร์ บิงคส์ อาจจะกลาย ดาร์ธ จาร์ จาร์ ในภาคเจ็ด เพราะนำพลัง (Force) ไปใช้ในทางที่ผิด เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับจักรพรรดิพัลพาทีน
ฮอล์ลเชื่อว่าจาร์ จาร์ บิงคส์ คงไม่สามารถทำงานแบบนั้นได้ และหากบิงคส์เป็นซิธ อยู่ข้างพัลพาทีนและลูกศิษย์คนอื่น “กฎที่ว่าซิธมีพร้อมกันได้เพียงสองคนเท่านั้นจะถูกแหก”
ตามหาทาทูอิน
สตาร์วอร์ส ภาคแรกนั้นเปิดฉากกมาด้วยภาพลุคท่ามกลางกองขยะและความชั่วร้ายบนดาวทาทูอิน แต่ถึงจะเป็นเป็นดาวท่าอันโดดเดี่ยวห่างไกล ทิวทัศน์ของทาทูอินก็ยังคงดูสวยแปลกตาสำหรับชาวโลก อาจะเพราะพระอาทิตย์ตกดินทั้งสองดวง
ทาทูอินนับเป็นดวงดาวที่มี ดาวฤกษ์คู่ [หรือดาวสองดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ไปพร้อมกัน เรียกสั้นๆ ว่าดาวคู่] ซึ่งนักดาราศาสตร์ในปัจจุบันก็กำลังตามล่าหาดาวที่มีลักษณะคล้ายกันนี้อยู่ สิ่งที่ทำให้ดาวคู่เป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์คือแรงดึงดูดที่มีสภาพแปรปรวนมาก ซึ่งสภาพนี้ส่งผลให้ทฤษฎีการกำเนิดดวงดาวจากการตัวของผงธุลีระหว่างดวงดาวกลายเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก
อ้างอิงจาก แมตทิว มูตแอสเพากห์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเทนเนสซี ดาวที่มีระบบดาวฤกษ์คู่นั้นไม่ได้หายาก กว่าครึ่งของดวงดาวที่มองเห็นจากโลกคือพวกมัน เมื่อกลางปี 2000 แมตทิว มูตแอสเพากห์ และแมทซีจ์ คอนแนสกี จาก Polish Academy of Sciences ได้ทำโครงการตามล่าหาดาวคู่ ที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความมีอารมณ์ขัน แมตทิวจึงตั้งชื่อโครงการเป็นภาษาอังกฤษว่า The Attempt To Observe Outer-planets In Non-single-stellar Environments ซึ่งมีตัวย่อเป็น TATOOINE (ทาทูอิน) ผลจากการตั้งชื่อนี้ทำให้จอร์จ ลูคัส เชิญมูตแอสเพากห์ไปเยี่ยมชมสกายวอล์กเกอร์แรนช์ (Skywalker Ranch) หรือศูนย์บัญชาการใหญ่อันเงียบสงบของลูคัสฟิล์ม
คอนแนสกีบอกว่าชื่อย่อของมัน ”น่าประทับใจไม่ต่างกับตัวโครงการเอง” ซึ่งใช้วิธีการแสกนหาการสั่นโคลงในสเปกตรัมแสง อันเป็นจากดาวดวงอื่นที่กำลังโคจรอยู่ แม้ว่าผลการค้นหาในระยะแรกจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่นัก แต่กล้องเคปเลอร์ก็ได้คอนเฟิร์มแล้วว่ามีดาวนี้อยู่จริง ส่วนคอนแนสกีเองก็ยังคงสานต่อความฝันในการหาดาวคู่ของเขา ด้วยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน ชื่อว่า “โซลาริส” (Solaris) ตามนิยายไซไฟคลาสสิกของโปแลนด์
นักดาราศาสตร์สงสัยว่าจักรวาลยังมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าบ้านเกิดของสกายวอล์กเกอร์ให้เราค้นหา พวกเขารักษาความอยากรู้อยากเห็นนี้ไว้เหมือนกับพวกนักวิทยาศาสตร์ กูรูเรื่องสตาร์วอร์สคนอื่นทั้งก่อนหน้าและนับจากนี้
“จักรวาลนั้นน่าพิศวงกว่าสตาร์วอร์สยังมีหลายสิ่งที่มหัศจรรย์เกินกว่านักสร้างหนังคนไหนจะคิดได้ซ่อนอยู่ในนั้น”