เมืองไทยในอดีต : สีสันย่านนิยม

เมืองไทยในอดีต : สีสันย่านนิยม

กรุงเทพฯประกอบด้วยย่านต่างๆมากมายซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีลำดับขั้น หลังการย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปีพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริจะสร้างกรุงเทพฯให้รุ่งเรืองเฉกเช่นกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยก็เพื่อเช็ดคราบน้ำตาแห่งความโศกสลดของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ที่ยังระทมทุกข์จากสงครามเสียกรุง

เดินทีฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นย่านพักอาศัยของชาวจีนภายใต้การปกครองของพระราชาเศรษฐี ชาวจีน(แต้จิ๋ว)เหล่านี้อพยพจากเขมรมาตั้งเรือนแพค้าขายอยู่ตามริมน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชประสงค์จะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดให้ชาวจีนย้ายลงไปทางใต้บริเวณวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) จรดทางเหนือของคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) วิถีค้าขายของชาวจีนก่อให้เกิดย่านสำเพ็งซึ่งกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในเวลาต่อมา

ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ในตลาดย่านปากน้ำ ตลาดเก่าชานพระนคร แสดงให้เห็นการกระจุกตัวของกิจกรรมการขายสินค้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีเมืองพุทธของสยามอย่างแนบแน่น ย่านดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “ย่านป่าผ้าเหลือง” ในเกาะเมืองอยุธยา หรือร้านสังฆภัณฑ์บนเรือนแพของก๊กท้าวคุณเนย ย่านปากคลองบางกอกน้อย

ความโหยหาอดีตราชธานีส่งผลให้การสร้างเมืองยึดแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในนั้นคือย่านช่างฝีมือซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการรวมกลุ่มวิชาชีพเช่นเดียวกับชุมชนช่างฝีมือสมัยอยุธยา ตัวอย่างเช่นบ้านบาตร (ทำบาตรพระ) บ้านบุ (ทำขันลงหิน) บ้านช่างหล่อ (หล่อพระพุทธรูป) บ้านดอกไม้ (ผลิตดอกไม้ไฟ) บ้านหม้อ (ทำภาชนะหุงต้ม) บ้านช่างทองหรือถนนตีทอง (ทำทองคำเปลว) และบ้านพานถม (ทำเครื่องถม)

ทว่าในยามที่บ้านเมืองยังระส่ำระสาย การเอาใจใส่เพียงงานฝีมืออาจไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคง เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร พระบรมราโชบายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จึงค่อนข้างเปิดรับการตั้งรกรากของชาวต่างชาติ รวมทั้งการเทครัวพลเมืองมายังพระนครยามยกทัพไปทำศึกสงคราม นโยบายนี้ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมือง ย่านชาวต่างชาติกระจุกตัวกันตามรูปแบบวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งตามตำแหน่งที่ดินพระราชทาน เช่น ย่านชาวมลายูหน้าวัดชนะสงคราม ย่านชาวมอญบริเวณสะพานมอญ ย่านชาวเขมรริมคลองรอบกรุง เยื้องปากคลองตลาดย่านชาวทวายที่ตำบลคอกควาย (ยานนาวา) และย่านชาวญวนบริเวณบ้านหม้อและพาหุรัด

ร้านขายเครื่องประดับและอัญมณีย่านวัดเกาะ เขตสัมพันธวงศ์ ส่วนใหญ่เป็นของชาวซิกข์จากอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 5 แขกซิกข์ส่วนใหญ่ประกอบกิจการค้าและเครื่องเทศ พวกเขายังคงรักษาขนบธรรมเนียมและวัตรวิถีดั้งเดิมมาจนปัจจุบัน

นับแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ชาติตะวันตกพยายามติดต่อค้าขายกับสยามมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2361 สยามจึงเปิดโอกาสให้โปรตุเกสเป็นชาติแรก ทูตโปรตุเกสจากมาเก๊าเข้ามาเจริญสัมพันธ์ด้านการค้าได้สำเร็จ อันเป็นผลจากการที่สยามต้องการปืนจำนวนมากเพื่อป้องกันพระนคร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2363 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัยทรงตอบรับไมตรีของโปรตุเกสด้วยการพระราชทานที่ดินทางใต้ของพระนครบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานที่ตั้งสถานกงสุล (บริเวณตรอกกัปตันบุช บางรัก) นับเป็นสถานกงสุลแห่งแรกและมีอายุเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ

 


ชมภาพเมืองไทยในอดีตเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ศรัทธาและศาสนา


 

ทัศนคติของชนชั้นนำมีผลต่อการกำเนิดย่านฝรั่งในกรุงเทพฯอย่างยิ่ง แม้ว่าเดิมทีฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ย่านกุฎีจีนจะเป็นชุมชนขุนนางโปรตุเกสสมัยอยุธยาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้มาอาศัยอยู่รวมกัน กระทั่งชุมชนขยายตัวและมีการสร้างโบสถ์คาทอลิกอยู่ก่อนแล้ว ทว่าทัศนคติของพระมหากษัตริย์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังไม่เปิดรับชาวตะวันตกเท่าที่ควร เนื่องจากโลกทัศน์ของสยามมีเพียงพม่าและจีนเป็นสองอารยธรรมยิ่งใหญ่ จนกระทั่งอังกฤษพิชิตพม่า และสยามทำสนธิสัญญาเบอร์นี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสยาม

เมื่อปี พ.ศ.2421 เบิร์ดฮาร์ด กริมม์ เภสัชกรชาวเยอรมัน และเออร์วิน มิลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรียร่วมหุ้นกันเปิดร้านขายยา “สยามดิสเปนซารี่” บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้โรงแรมโอเรียนเต็ล กิจการของทั้งสองรุ่งเรืองจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ร้านนี้เป็นผู้จัดยาตะวันตกถวายราชสำนัก ต่อมาทั้งสองขยายกิจการด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น นาฬิกา แว่นตา โคมไฟ หรือแม้แต่กระเบื้องที่ใช้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดอรุณราชวราราม ห้างของพวกเขามีชื่อว่า “บี.กริมแอนโก”

พ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกที่ตั้งรกรากถาวรในไทยเดินทางมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาคือนายหันแตร (รอเบิร์ต ฮันเตอร์) ผู้เช่าห้างค้าขายอยู่บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสย่านกุฎีจีน ตึกแถวสามชั้นแบบตะวันตกของเขาได้ฉายาว่า “ตึกฝรั่ง” ภายหลังได้พัฒนาเป็นศูนยืการค้าและที่พำนักของชาวตะวันตก นับเป็นศูนย์กลางย่านฝรั่งในยุคนั้น

ต่อมาหมอสอนศาสนาได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ( เดิมอยู่ย่านวัดเกาะ ใกล้สำเพ็ง เพื่อสอนศาสนาให้ชาวจีน ) เพราะหาที่เช่าพักย่านพระนครได้ยากเย็น เนื่องจากราษฎรเกรงในหลวงจะไม่พอพระทัยหากปล่อยให้ชาวต่างชาติมาเช่าที่พักอาศัย ชนชั้นปกครองในยุคนั้นค่อนข้างเห็นด้วยกับการย้านย่านฝรั่งมาอยู่ฝั่งธนบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นฐานของเสนาบดีตระกูลบุนนาคซึ่งมีอิทธิพลและรับราชการในวังมายาวนาน จึงง่ายต่อการปกครองควบคุมฝรั่งเหล่านี้

 

เส้นสายคดเคี้ยวของถนนเยาวราชในย่านสำเพ็งแสดงให้เห็นถึงเขตการค้าเก่าแก่ของชาวจีน ซึ่งคึกคักมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สองฝากฝั่งถนนสายนี้มีร้านทองเรียงรายอยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ จนได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายทองคำ” ร้านแรกที่เปิดขายในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ “ตั้งโต๊ะกัง”

ในสมัยสยามเปิดประเทศ ชาวตะวันตกมีส่วนอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางของการเมืองและการกำเนิดย่านต่างๆ การตัดถนนเจริญกรุงตามเสียงเรียกร้องขอของฝรั่งชักนำวิถีคมนาคมทางบกมาสู่แผ่นดินกรุงเทพฯ แม้จะยังมีผู้ใช้บริการถนนไม่มากนักและลำคลองยังเป็นเส้นทางสัญจรหลัก แต่ทุกแห่งหนที่ถนนตัดผ่าน วิถีความเป็นเมืองค่อยๆคืบคลานอย่างช้าๆ

การค้าที่กระจุกตัวอยู่ในย่านสำเพ็งขยายตัวออกไปจนเกิดตลาดน้อยและตลาดวัดเกาะ ย่านชาวจีนแห่งนี้มีทวีความเจริญมากขึ้นมีการตัดถนนเจริญกรุง ถนนดังกล่าวทอดขนานไปกับย่านสำเพ็งจนถึงบางคอแหลม ส่งผลให้ย่านสำเพ็งขยายตัวออกไปตั้งแต่บริเวณวัดจักรวรรดิราชาวาส วัดปทุมคงคา วัดสัมพันธวงศ์ เรื่อยไปจนถึงริมถนนเจริญกรุง ต่อมาแผ่ไปยังแถบถนนบำรุงเมือง กระทั่งมีการตัดถนนเยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างตึกแถวของพระคลังข้างที่เพื่อเก็บค่าเช่าก็ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของย่านค้าขาย ตึกแถวก่อกำเนิดวิถีพาณิชย์ริมถนนกระจายไปตามถนนตัดใหม่เกือบทุกสาย แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวสยามบนลำน้ำจะยังปรากฏอยู่ทั่วไปก็ตาม

ตึกแถวส่วนใหญ่มีผู้เช่าเป็นพ่อค้าคหบดีมีฐานะ เจ้าของส่วนใหญ่มักไม่ใช่คนไทย แต่เป็นนายทุนชาวจีนหรือนายห้างฝรั่ง สนธิสัญญาเบาว์ริงชักนำทุกขนาดใหญ่เข้ามา และย่านการค้าที่นายทุนเหล่านี้เลือกก็คือบริเวณที่ถนนตัดผ่าน โยเฉพาะถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ราชดำเนิน และถนนสาขา ถนนเหล่านี้เป็นที่ตั้งของห้างร้านมากมาย อาทิ ห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี ห้างสรรพสินค้ารุ่นแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 แห้งแกรเลิตที่รับทำทองรูปพรรณ ห้างบางกอกด๊อกรับต่อเรือ ห้างไซแอมอิมปอร์ตและไซแอมมอเตอร์ จำกัด จำหน่ายรถยนต์ และห้างยอนแซมสันรับตัดสูท ห้างเหล่านี้นำสินค้าจากตะวันตกเข้ามาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็เผยโฉมวิทยาการใหม่ๆสู่สายตาชาวเมือง

สะพานนรรัตน์ทอดข้ามคลองบางลำพูซึ่งเรียงรายด้วยเรือพายจำนวนมาก ย่านคลองบางลำพูเป็นย่านสำคัญทางเหนือของพระนครและมีตลาดที่สำคัญตั้งใกล้กันถึง 3 แห่ง คือตลาดนานา ตลาดทุเรียน และตลาดยอด นอกจากนี้ย่านดังกล่าวยังเป็นแหล่งนันทนาการของพระนคร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงมหรสพชั้นนำ อาทิ โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โรงละคร และโรงลิเกอีกหลายแห่ง ปัจจุบัน บางลำพูยังเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ

หลายย่านแสดงถึงความรุ่งเรืองทางวัตถุและสิ่งใหม่ที่เข้ามาทดแทนตามกาลเวลา เป็นต้นว่าโรงแก๊สบริเวณข้างวัดสุทัศนเทพวรารามถูกทุบทิ้งเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น และแปรมาเป็นตลาดเสาชิงช้า ซึ่งในเวลาต่อมามีอันต้องรื้อลงเช่นกัน ส่วนชื่อย่านหลายแห่งมีที่มาน่าระลึกถึง อาทิ คลองโอ่งอ่าง ตลาดค้าโอ่งและอ่างดินเผาที่ชาวมอญล่องเรือมาขาย เช่นเดียวกับย่าน อีเลิ้ง ที่มีตุ่มอีเลิ้งวางขายเรียงราย ตรรกะของท่านผู้นำในยุคต่อมาเปลี่ยนชื่อย่านดังกล่าวเป็นนางเลิ้ง ให้สมกับความเป็นชนไทยผู้ศิวิไลซ์ ตลาดพลู ตลาดค้าส่งใบพลูขนาดใหญ่ ตรอกโรงเลี้ยงเด็กที่ตั้งสถานสงเคราะห์รับเลี้ยงเด็กแห่งแรกของสยาม สะพานช้างโรงสี สะพานข้ามคลองสำหรับช้างที่อยู่ใกล้โรงสีหลวง และตรอกกัปตันบุช ที่ตั้งบริษัทบางกอกด๊อกของชาวอังกฤษชื่อจอห์น บุช หรืออีกนามหนึ่งคือ พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์แห่งกรมเจ้าท่า

จากเมืองไทยในอดีตถึงกรุงเทพฯ ในวันนี้ที่กอปรด้วยย่านสารพัน อำนาจเศรษฐกิจบีบให้ย่านเหล่านี้เติบโตแตกต่างกันไป แต่ปัจจัยทางการเมืองก็ตีกรอบให้แต่ละย่านมีทิศทางของตนเอง สีสันของวันวานทอผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบัน บ้านบาตรยังคงก้องเสียงเคาะบาตรพระทำมือ ตึกแถวย่านสำเพ็งยังคงเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เสมอ ย่านสีลมแปรเปลี่ยนเป็นย่านแห่งเม็ดเงินและเสียงหัวเราะ และอาร์ซีเอก็ร้องรำทำเพลงในคืนที่หนุ่มสาวบางคนโศกศัลย์ กระนั้น ลองนึกภาพดูเถิดว่า ย่านคลองมหานาคแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์ ยามที่ชาวเมืองมาชุมนุมกันเพื่อชมการเล่นเพลงเรือและสักวาในคืนเดือนเด่นนั้นจะงดงามเพียงไร และพอครึกครื้นเทียบกับคอนเสิร์ตเรียลลิตีในปัจจุบันได้ไหม

 

ชมภาพถ่ายเมืองไทยในอดีตเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ไพร่ฟ้าสามัญชน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.