เตรียมพบกับโลกของเราในแบบที่ต่างออกไปจากเดิม ด้วยความงามอันน่าทึ่งของ ภาพโลกจากอวกาศ ที่ได้จากดาวเทียมตรวจสภาพอากาศในอนาคต
ดาวเทียม GOES-16 เป็นดาวเทียมดวงล่าสุดในชุดดาวเทียมตรวจตราโลกของ U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA ที่ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปัจจุบัน ดาวเทียมดวงนี้สำรวจโลกของเราจากระยะทางราว 35,888 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน
ดาวเทียมดวงนี้ส่งภาพถ่ายชุดแรกจากอุปกรณ์ถ่ายภาพเส้นฐานขั้นสูง (Advanced Baseline Imager instrument) ซึ่งแสดงให้เห็นโลกและบรรยากาศด้วยรายละเอียดคมชัดเป็นพิเศษ “ดาวเทียม GOES-16 ทำงานได้ดีกว่าที่เราคิดเสียอีกครับ” สตีฟ กู๊ดแมน เจ้าหน้าที่โปรแกรมดาวเทียมจาก NOAA กล่าว
อุปกรณ์ถ่ายภาพของดาวเทียมให้ภาพที่คมชัดของทั้งซีกโลกด้วยความละเอียดมากกว่าที่ยานอวกาศ GOES อื่นๆบันทึกได้ถึงสี่เท่า อุปกรณ์ใหม่ๆที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วนี้ยังให้ภาพแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯแบบเต็มทุกห้านาที และภาพโลกแบบเต็มทุก 15 นาที
ความก้าวหน้าอื่นๆประกอบด้วยอุปกรณ์ทำแผนที่สายฟ้าซึ่งมี “สมรรถนะในการทำงานใหม่เอี่ยม และอุปกรณ์ตรวจสภาพอากาศในอวกาศซึ่งมีความไวมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันครับ” กู๊ดแมนบอก
นักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้ภาพถ่ายและข้อมูลอื่นๆที่รวบรวมได้จากดาวเทียมเพื่อปรับปรุงการตรวจสอบ การพยากรณ์ และการเตือนภัยสภาพอากาศ รวมถึงการติดตามพายุท้องถิ่น เฮอร์ริเคน ไฟป่า พายุฝุ่น การปะทุของภูเขาไฟ และอื่นๆ ได้ดีขึ้น
“อุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมดช่วยปรับปรุงข้อมูลให้ทันเวลาและแม่นยำ ซึ่งจะทำให้นักพยากรณ์อากาศพยากรณ์และเตือนภัยได้แม่นยำและล่วงหน้ามากขึ้นครับ” กู๊ดแมนบอก นั่นน่าจะก่อให้เกิดแบบจำลองที่ดีขึ้นสำหรับทำความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของเรา
“ดาวเทียม GOES-16 และข้อมูลที่ตามมาจะค่อยๆกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบจำลองการพยากรณ์สภาพอากาศ และขณะที่แบบจำลองในอนาคตมีความละเอียด ความทันเวลา และความแม่นยำมากขึ้น… ก็จะมีความต้องการสมรรถนะที่สูงขึ้นเพื่อให้ทันกับการสังเกตการณ์ ตรวจสอบ และพยากรณ์ผลกระทบที่มีต่อพวกเราทุกคน”
เรื่อง อเล็กซานดรา อี. เพทรี
อ่านเพิ่มเติม