แม้ว่าความเจริญทางวัตถุจะงอกงามดุจดอกไม้ป่าฤดูวสันต์ และช่วยบำบัดความต้องการของมนุษย์ได้ แต่เบื้องลึกในจิตใจของพวกเขากลับแห้งผากดั่งท้องทะเลทรายร้อนระอุ เราไม่เห็นว่าอาชญากรรมมีแนวโน้มจะลดลง ความขัดแย้งยังมีให้เห็นเรื่อยๆมีการเอารัดเอาเปรียบ ผู้คนยากจนและหิวโหย เกิดการเสื่อมสลายของวัฒนธรรม ฯลฯ ส่วนสงครามระหว่างมนุษย์กับความทุกข์นั้นเล่าไม่มีทีท่าว่าจะสงบง่ายๆ ความหมายมาดปรารถนายังคงไร้ขอบเขต และศีลธรรมเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขก็ดูจะเป็นปัญหาแรกสุดนับแต่มนุษย์เริ่มอยู่ด้วยกันเป็นสังคม
คริส บราเซียร์ เจ้าของผลงานเรื่อง The No-Nonesense Guide to World History เขียนไว้ว่า “เป็นไปได้ว่าความเจริญในยุคของเราเองอาจจะได้รับการจดจำน้อยยิ่งกว่าการกำเนิดของศาสดาที่เริ่มต้นโดยไม่มีใครรู้จักองค์หนึ่ง ทว่าชนะใจคนทั้งโลกในยุคสมัยต่อมาและยืนยงนับจากนั้น” และนั่นเป็นปริศนาที่ว่า เหตุใดศรัทธาประสาทะที่มีต่อศาสนาต่างๆในโลกจึงยังทรงอิทธิพลต่อมนุษยชาติมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
นับตั้งแต่ชีวิตมนุษย์อุบัติขึ้นในครรโภทร ความปรารถนาในอิสระได้บ่มเพาะมนุษย์พิสมัยการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เราใช้องคาพยพและทรัพยากรมากมายออกสำรวจตรวจตราโลก พิชิตจุดหมาย และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้หรือแบ่งบันให้สังคม ทารกใช้รยางค์แขนขาคว้าประสบการณ์จากครรภ์และถันของมารดา ของเล่น และสิ่งแวดล้อมฉันใดย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับการเดินทางไกลของมาร์โค โปโล จากยุโรปสู่จีนและอินเดียฉันนั้น ประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นเสมือนอาหารชีวิตและหล่อหลอมความทะเยอะทะยานของมนุษย์มาทุกยุคและมนุษย์ก็คิดว่าเพราะการเดินทางนี้เองที่ทำให้มนุษย์มีความคิดแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นๆ
พวกเขาอาจจะคิดไปเอง กระทั่งเมื่อมนุษย์ได้สำรวจปริมณฑลในจิตใจของตนอย่างลึกซึ้งจึงพบว่า แท้จริงแล้วพวกเขาเองกลับมิได้แตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นๆเลย พวกเขาทั้งหิวโหย บ้าคลั่ง ตื่นกลัว และบางครั้งก็ทุกข์ระทมอย่างน่าเวทนา ความอ่อนแอของมนุษย์เป็นสาเหตุหนึ่งของการกำเนิดศาสนา ซึ่งอาจเป็นพัฒนาการทางจิตใจในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ศาสนาเข้ามาปลอบโยนปริเทวนาการของมนุษย์ บ่มเพาะสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมให้ผุดผาดขึ้นในท้องทุ่งจิตใจอันแห้งผาก ชักนำพวกเขาออกจากถ้ำของความขลาดเขลา และขยายขอบเขตการเดินทางในโลกสู่การเดินทางในจิตใจ มนุษย์ออกสำรวจตัวตนและจิตวิญญาณ จนค้นพบว่าศาสนาได้เจาะกะเทาะถ้ำแห่งความขลาดเขลาจนแสงสว่างพอเล็ดลอดเข้ามาได้บ้าง บางคนแหวกขยายช่องเหล่านั้นเพื่อแสวงหาหนทางออกไปภายนอก หากแต่บางคนกลับหวาดกลัวแสงสว่างเหล่านั้นแทนและเร้นหนีไปคุดคู้อยู่ที่มุมถ้ำ ศาสนามอบข้อเสนอให้มนุษย์และพวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่าจะพึ่งพาศาสนาอย่างไร เช่นเดียวกับจะหาประโยชน์จากศาสนาได้ด้วยวิธีใด
เมื่อมนุษย์เชิดชูศาสนาและแผ่อิทธิพลความสำเร็จออกไป ความอัศจรรย์ของศาสนาก็บังเกิด นั่นคือความสามารถในการรังสรรค์พลังศรัทธา และยึดโยงเข้ากับวิถีมนุษย์อย่างกลมกลืน แม้ว่าหลักคำสอนและวัครปฏิบัติของแต่ละศาสนาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทว่าศาสนาก้ได้ใช้ศรัทธาชี้ทางให้มนุษย์ก้าวเดินอย่างมั่นคง อุ่นใจ และไปในทิศทางที่เหมาะสม
ขั้นตอนสำคัญยิ่งของกระบวนการสร้างศรัทธาในศาสนิกชนคือการสร้าง “ความหวาดกลัว” ในแต่ละศาสนา พุทธศาสนาตอกย้ำเรื่องการวียนว่ายตายเกิดซึ่งต้องผจญทุกข์อย่างไรที่สิ้นสุด ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ชี้ว่าพวกนอกศาสนาจะต้องถูกพิพากษาอย่างรุนแรงในวันสิ้นโลก ศาสนาฮินดูสร้างนรกภูมิให้สยดสยองและน่าเกลียดน่ากลัว ในทางกลับกันศาสนาก็สร้าง “การหลุดพ้นจากความหวาดกลัว” ผ่านมรรคาต่างๆ พุทธธรรมตอบโจทย์การดับทุกข์ที่ต้นเหตุด้วยการแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ศาสนาอิสลามและคริสต์เข้าหาพระเจ้าเพื่อความปลอดภัยในวันแตกดับของโลก ศาสนาฮินดูบูชาเทพเจ้าเพื่อมุ่งสู่สวรรคาลัยและชีวิตอันเป็นนิรันดร์
เป้าหมายของศาสนาจึงช่วยให้มนุษย์มีความหวังจากความหวาดกลัว และมันก็คุ้มค่าทีเดียวสำหรับการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตอันแสนสั้นของพวกเขาหลุดพ้นจากความหวาดกลัวเหล่านั้น แม้จะเป็นความหวังที่ริบหรี่เต็มที แต่ก็นับว่าเป็นการตลาดที่แยบยลและทรงอนุภาพไม่น้อย
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแสวงบุญเป็นการประกาศศรัทธาอันแรงกล้าของศาสนา ผู้แสวงบุญนับไม่ถ้วนยอมละทิ้งชีวิตสุขสบายทางโลก ออกเรือข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อจาริกไปยังแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสดาของพวกเขาเคยประกาศศาสนา หรือยอมจ่ายค่าบินลัดฟ้าไปยังอีกฟากโลกเพียงเพื่อดื่มด่ำกับจิตวิญญาณอันขรึมขลังครั้งบุร่ำบุราณเมื่อคราวศาสดาประสูติ การแสวงบุญซึ่งเริ่มต้นจากการค้นหาเพื่อหลุดพ้นจากความมืดมนอนธการในหัวใจ จึงนำไปสู่อุตสาหกรรมทัวร์ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ปลายทางของการแสวงบุญคือการไปถึงจุดหมายเท่านั้นหรือ…นักศาสนวิทยาวิเคราะห์การแสวงบุญว่า เป็นกุศโลบายที่สอนให้มนุษย์รู้จักเสียสละและอดทน ผู้มีศรัทธาแรงกล้าสนับสนุนว่า ไม่มีการเสียสละใดยิ่งใหญ่และชอบธรรมเท่ากับการเสียสละให้กับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์คฤงคารของคฤหัสถ์ผู้มั่งมีหรือเศษสตางค์แดงของยาจกคนโซ รวมถึงหยาดเหงื่อของสัปปุรุษผู้ละทิ้งความสะดวกสบายถวายแด่ศรัทธา ผู้เสียสละทุกคนคือผู้มีเกียรติและมีใจให้ศาสนา
แต่อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ห่างไกลต้องใช้ทุนรอนพอสมควร การอดทนเพื่อเก็บหอมรอบริบอาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคขัดขวางการแสวงบุญในโลกสมัยใหม่ เปรียบได้กับเส้นทางอันขรุขระและโตรกผาสูงชันในอดีต และความเย้ายวนของกิเลสทางโลกียะก็เปรียบดั่งขุมโจร สัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติ ที่คอยรังควานขวางกั้นการประกาศศรัทธาของผู้แสวงบุญเมื่อครั้งโบราณกาล อุปสรรคของการแสวงบุญได้เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย
แม้การปวารณาตนของผู้แสวงบุญจะไม่สามารถพิสูจน์ว่า ท้ายที่สุดจะได้ไปเสวยสุข ณ สวรรคาลัยหรือไปสู่เป้าหมายสูงสุดของศาสนา แต่เรื่องราวของเหล่านักแสวงบุญได้จารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์