ถ่านหิน กับ “คาร์บอนที่มองไม่เห็น”
เมื่อปี 2014 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเมินงบประมาณการปล่อยก๊าซออกมาด้วย นั่นคือปริมาณคาร์บอนรวมที่เราสามารถปล่อยสู่บรรยากาศโลกได้ หากไม่ต้องการให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกินสององศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากถือเป็นหมุดหมายที่จะนำไปสู่หายนะร้ายแรง การประเมินนี้เริ่มนับจากศตวรรษที่สิบเก้าตอนที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มขยายวงออกไป ไอพีซีซีสรุปว่า ที่ผ่านมาเราปล่อยคาร์บอนออกมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณคาร์บอนที่เรามีแล้ว และหากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไป เราจะปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือจนเต็มเพดานในเวลาไม่ถึง 30 ปี
ในการจำกัดผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อนตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าเป็นต้นมาไม่ให้เกินสององศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า เราจะต้องจำกัดการปล่อยคาร์บอนในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสะสมไม่เกินหนึ่งล้านล้านตัน ตัวเลข ณ ปี 2012 เผยว่า เราปล่อยคาร์บอนไปแล้ว 545,000 ล้านตัน จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน ฯลฯ) การผลิตซีเมนต์ การตัดต้นไม้ และสาเหตุอื่นๆ เรากำลังอยู่ในวิถีทางที่จะปล่อยครบหนึ่งล้านล้านตันภายในปี 2040
ปัจจุบัน อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 1950 ถึง 2010 คือ 108% กลางปีที่ผ่านมา โลกมีความเข้มข้นของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูงเกิน 400 ส่วนในล้านส่วนและไม่ลดลงอีกเลย โลกไม่เคยมีคาร์บอนไดออกไซด์สูงเท่านี้มาก่อนในรอบแปดแสนปี ถ่านหินเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 39 ทั่วโลก
สัดส่วนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ณ ปี 2011
ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการเผาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงคงที่ แต่ตัวเลขกลับพุ่งทะยานในจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่ส่งไปขายในโลกตะวันตก การบริโภคถ่านหินของโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 54 ระหว่างปี 2000 ถึง 2011 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเหมือนถ่านหินหลายพันคน และมากกว่านั้นจากมลพิษทางอากาศ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด เราเผาถ่านหินปีละแปดพันล้านตัน ซึ่งก่อผลกระทบร้ายแรงมากขึ้นทุกที โลกกำลังเผชิญกับคำถามสำคัญที่วา “ถ่านหินจะสะอาดได้จริงหรือ”
ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายทางสังคมสูงลิบ เป็นแหล่งพลังงานที่ทั้งสกปรกและอันตรายที่สุดที่เรามี แต่ในอีกหลายมุม ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดด้วย และเรายังต้องพึ่งพามันอยู่ คำถามข้อใหญ่ในทุกวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ถ่านหินจะมีวันเป็นเชื้อเพลิง “สะอาด” ได้หรือไม่ เพราะมันไม่สามารถเป็นได้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าถ่านหินจะมีวันสะอาดพอ หรือถึงระดับที่ไม่เพียงป้องกันหายนะที่อาจเกิดกับท้องถิ่นต่างๆ แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกขั้นรุนแรงด้วย น้ำแข็งอาร์กติกจะละลายเร็วแค่ไหน ระดับทะเลจะสูงขึ้นเท่าไร คลื่นความร้อนจะร้อนขึ้นเพียงใด ปัจจัยแห่งอนาคตอันไม่แน่นอนทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า โลกจะจัดการกับถ่านหินที่มีอยู่อย่างไร
การเปลี่ยนวิถีดังกล่าวโดยการดักจับคาร์บอนและกักเก็บเอาไว้ใต้ดินจะต้องใช้ความพยายามใหญ่หลวง การดักจับและเก็บกักคาร์บอนเพียงหนึ่งในสิบของปริมาณการปล่อยทั้งโลกในปัจจุบัน ต้องอาศัยการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ดินคิดเป็นปริมาณเทียบเท่ากับน้ำมันที่เราสกัดออกมาได้ในเวลานี้ การจะทำเช่นนั้นได้ต้องใช้ท่อส่งและบ่ออัดฉีดจำนวนมาก และอาจต้องใช้พลังงานมากถึงหนึ่งในสี่ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าบวกกับเงินอีกก้อนโต วิธีการนี้จะไม่กลายเป็นบรรทัดฐาน หากรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นเช่นนั้น
อ่านเพิ่มเติม