ไม่มี อารยัน และ ดราวิเดียน แท้ในอินเดีย

ไม่มี อารยัน และ ดราวิเดียน แท้ในประเทศอินเดีย

หากลองถามชาวอินเดียว่าบรรพบุรุษของพวกเขามาจากไหน? บ้างคงบอกว่าพวกเขาคือลูกหลานของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ที่รุ่งโรจน์อยู่เมื่อ 2,000 ปี ก่อนคริสต์กาล บ้างคงเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพวกเขาตามคัมภีร์พระเวท หรือรามายณะ ที่บอกเล่าถึงการสู้รบครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างสองเผ่าพันธุ์คือยักษ์กับมนุษย์ ซึ่งหลายคนเชื่อกันว่าเป็นภาพแทนของชาวอารยันจากอินเดียเหนือ และชาวดราวิเดียนจากอินเดียใต้

เป็นที่รู้กันดีว่าอินเดียประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ในองค์ประกอบดังกล่าวมีส่วนผสมของชาติพันธุ์ใดบ้าง และใครกันที่เป็นบรรพบุรุษเดิม ผู้มาถึงดินแดนอนุทวีปอินเดียแห่งนี้เป็นกลุ่มแรก ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดได้เผยข้อมูลใหม่ต่อประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน

ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 92 คน จากสถาบันชื่อดังไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือ MIT ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบนี้ พวกเขาวิเคราะห์จีโนมของมนุษย์โบราณจำนวน 612 คน ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน โดยตัวอย่างที่พวกเขาเลือกนำมาวิจัยประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายจากทั้งอิหร่านตะวันออก, อุเบกิซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, คาซัคสถาน รวมไปถึงในเอเชียใต้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 362 ตัวอย่างที่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบมาก่อน ผลการวิเคราะห์ที่ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างจีโนมของชาวอินเดียในปัจจุบันจำนวน 246 คน จากแหล่งที่มาซึ่งแตกต่างกัน

อินเดียประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งเป็นสองกลุ่มประชากรหลัก คืออินโด-อารยัน และดราวิเดียน
ขอบคุณภาพจาก Sciencemag.org

การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยมีสองกลุ่มประชากรหลักที่สำคัญซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือชาวอารยัน (บรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือ) และชาวดราวิเดียน (บรรพบุรุษของชาวอินเดียใต้) โดยผลการวิจัยครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสามกลุ่มประชากรหลักที่ผสมปนเปกันในอดีต และให้กำเนิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือและใต้ตามมา

กลุ่มแรกคือประชากรนักล่าสัตว์ชาวเอเชียใต้ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอนุทวีปแห่งนี้ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมา และมีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย กลุ่มที่สองคือเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขา Zagros ในอิหร่านปัจจุบัน พวกเขาเดินทางมายังอนุทวีปอินเดียและนำเอาภูมิปัญญาการปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์มาด้วย และกลุ่มสุดท้ายคือชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ในเอเชียกลางและทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งเรารู้จักกันดีในนาม “ชาวอารยัน”

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ประชากรชนพื้นเมืองของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเกิดขึ้นจากการผสมกลมกลืนกันของกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง (นักล่าสัตว์ชาวเอเชียใต้ + เกษตรกรในอิหร่าน) จากนั้นราว 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล ชาวอารยันได้อพยพลงใต้จากทุ่งหญ้าสเตปป์มาผสมกลมกลืนเข้ากับประชากรในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุด้วย ต่อมาประชากรกลุ่มหนึ่งจากลุ่มแม่น้ำสินธุอพยพลงไปทางอินเดียตอนใต้และผสมเข้ากับชนพื้นเมืองซึ่งเป็นนักล่าสัตว์อีกครั้ง ก่อให้เกิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียใต้ ซึ่งในขณะเดียวกันการมาถึงของชาวอารยันซึ่งผสมปนเปเข้ากับประชากรเดิมของลุ่มแม่น้ำสินธุก็ได้ก่อให้เกิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปลูกหลานของทั้งบรรพบุรุษชาวอินเดียเหนือและใต้เผชิญหน้ากันอีกครั้ง และผสมผสานกันจนกลายมาเป็นประชากรของชาวอินเดียดังปัจจุบัน

ภาพแสดงการอพยพย้ายถิ่นฐานและแพร่กระจายภาษา วัฒนธรรมของประชากรในลุ่มแม่น้ำสินธุ, นักล่าสัตว์จากเอเชียใต้ และชาวอารยันจากทุ่งหญ้าสเตปป์

 

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?

รายงานจาก Tony Joseph อดีตบรรณาธิการ Businessworld การค้นพบครั้งนี้เป็นดั่งเส้นทางใหม่ของปริศนาที่ถกเถียงกันมานาน เนื่องจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของผู้คนในยุคโบราณจำนวน 612 คน เพื่อเทียบกับดีเอ็นเอของผู้คนในอินเดียปัจจุบันนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการศึกษาก่อนหน้า ซึ่งด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบจีโนมที่พัฒนาขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ที่เรามีต่อโบราณคดีมากขึ้น และไม่ใช่แค่ในเอเชียใต้เท่านั้น เช่นในยุโรป มีการค้นพบว่าการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่สองครั้งในอดีตมีผลต่อประชากรศาสตร์ หรือในสหรัฐอเมริกา มีการค้นพบว่าก่อนการมาถึงของชาวยุโรป เคยมีประชากร 4 กลุ่มใหญ่จากเอเชียที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอดีต

นอกจากนั้น ผลการศึกษาล่าสุดนี้ยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีกลุ่มประชากรไหนที่เป็นชาติพันธุ์นั้นๆ อย่าง “แท้จริง” “เราทุกคนคือผลผลิตของการผสมปนเปจากการอพยพของมนุษย์ ซึ่งในอินเดียเองก็เช่นกัน” Joseph กล่าว ซึ่งผลจากการศึกษาทางพันธุกรรมได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์มีความเชื่อมโยงต่อกันทั่วทั้งโลก

พระรามประทับบนไหล่หนุมานเข้ารบกับทศกัณฑ์ ภาพวาดศิลปะอินเดีย จากทศวรรษที่ 1820 โดยพิพิธภัณฑ์บริติช นักวิชาการหลายท่านเชื่อกันว่ารามายณะบอกเล่าถึงการต่อสู้ระหว่างชาวอารยัน (มนุษย์) และชาวดราวิเดียน (ยักษ์) ในอดีต

ด้าน David Reich นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หนึ่งในผู้ร่วมการวิจัยซึ่งเคยรายงานการศึกษาก่อนหน้าว่าชาวอินเดียในปัจจุบันนั้นเป็นผลผลิตจากการผสมกันของบรรพบุรุษชาวอินเดียเหนือและบรรพบุรุษชาวอินเดียใต้กล่าวว่า “จีโนมของบรรพบุรุษชาวอินเดียเหนือนั้นมีความเชื่อมโยงกับชาวยุโรป, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลางและแถบเทือกเขาคอเคซัส ในขณะที่จีโนมของบรรพบุรุษชาวอินเดียใต้นั้นไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มประชากรใดในปัจจุบันที่อยู่นอกอินเดียเลย และแม้ว่าทั้งบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือและชาวอินเดียใต้จะแตกต่างกันมาก แต่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นแล้วว่าชาวอินเดียในปัจจุบันทุกคนคือส่วนผสมของอดีต ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นกลุ่มใดก็ตามในอินเดียไม่อาจเรียกได้ว่าตนเป็นอินเดียแท้ๆ”

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

– นักวิจัยค้นพบร่องรอยของการอพยพโดยชาวอารยันจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และวัฒนธรรมที่แพร่กระจาย ซึ่งไม่ใช่แค่ในอินเดียเท่านั้น แต่ยังมีชาวอารยันบางส่วนที่ไม่ได้อพยพลงใต้แต่เลือกที่จะไปทางตะวันตกและเข้าสู่ยุโรปด้วยเช่นกัน

– นอกจากนั้นยังพบจีโนมของชาวอารยันในกลุ่มพราหมณ์มากเป็นพิเศษ สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าชาวอารยันเป็นผู้ให้กำเนิดคัมภีร์พระเวทและกำหนดบทบาททางสังคมในอินเดียด้วยชั้นวรรณะ

– การค้นพบครั้งนี้ทำให้ทฤษฎีที่ว่าชาวอารยันคือชนพื้นเมืองเดิมของอินเดีย ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในแง่ของพันธุกรรม

– ในอดีตประชากรส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสินธุได้อพยพไปยังภูมิภาคตูรัน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิหร่านด้วย นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว กระบวนการตรวจสอบจีโนมของผู้คนในยุคโบราณจากภูมิภาคดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีส่วนผสมของจีโนมประชากรนักล่าสัตว์จากเอเชียใต้เช่นกัน แม้จะมีสัดส่วนน้อยนิดก็ตาม

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

และอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อชาติเพิ่มเติม

สีผิวที่แตกต่าง

 

แหล่งข้อมูล

อารยธรรมอินเดียโบราณ

Who was here first? A new study explains the origins of ancient Indians

The Long Walk: Did the Aryans migrate into India? New genetics study adds to debate

Who are Indians’ ancestors? A new study on Aryan migration provides some answers

อารยันรุกรานอินเดียจริงหรือ

ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ “รามายณะ”

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.